โลกยุคปัจจุบันนี่นับวันจะยิ่ง “ไม่มีอะไรที่ไกลตัวคนไทย” ดูอย่างโรคระบาด “โควิด-19” ที่เกิดขึ้นในจีน ไม่ทันไรคนไทยก็ติดโรคนี้กันมากมาย-ตายไปก็เยอะ!! หรืออย่าง “สงครามรัสเซีย VS ยูเครน” ที่รบกันอยู่ตั้งไกล แต่ผลกระทบก็ยังมาถึงไทยด้วย ซึ่งคำว่า “ไม่ไกลตัวคนไทย” นั้น กับ “เรื่องอวกาศ” นี่ก็น่าคิด?? อาจ “ใกล้ตัวคนไทยกว่าที่คิด”

“ศึกษาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ” ไทยก็มีทำ

รวมถึงส่วนที่เป็น “ชีวการแพทย์-เวชศาสตร์อวกาศ”

ทั้งนี้ กับสถาบันอุดมศึกษาในไทย ก็มีการส่งเสริมการศึกษาด้าน “เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ” ซึ่งจากชุดข้อมูลเกี่ยวกับ “เทคโนโลยีอวกาศ” หรือ “สเปซเทคโนโลยี (Space Technology)” ที่เผยแพร่ผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” โดยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ระบุว่า… “เทคโนโลยีอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป หากแต่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ต การศึกษาออนไลน์ การแพทย์ทางไกล การเกษตรยุคใหม่ การจัดการภัยพิบัติ เช่น ไฟป่า”

ทาง รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ระบุถึงเรื่องเกี่ยวกับ “อวกาศ” ไว้อีกว่า… จนถึงวันนี้ มีบริการเดินทางท่องเที่ยวอวกาศและขนส่งทางอวกาศกันแล้ว และเป้าหมายของมนุษย์ในอนาคตคือการตั้งถิ่นฐานในดาวเคราะห์อื่น ๆ ซึ่งกับเป้าหมายนี้ มนุษย์จึงมีภารกิจต้องทำงานในอวกาศมากขึ้น ขณะที่สถานีอวกาศมีข้อจำกัด ทำให้นักบินอวกาศสามารถอยู่บนอวกาศได้ในระยะเวลาที่จำกัด เพราะเสี่ยงต่อการได้รับ “รังสีอวกาศ (Cosmic Rays)” ซึ่งเป็น อนุภาคพลังงานสูงที่เคลื่อนที่ผ่านอวกาศด้วยความเร็วเท่าความเร็วแสง โดยผลวิจัยหลายประเทศระบุว่ารังสีอวกาศจะส่งผลโดยตรงต่อผิวหนัง…

รังสีอวกาศสามารถ “ทำลายเยื่อหุ้มเซลล์-ดีเอ็นเอ”

และผลร้ายสำคัญคือทำให้เสี่ยงต่อการ “เกิดมะเร็ง”

จากประเด็นที่นักวิชาการท่านนี้ระบุไว้ แม้เรื่องการเป็นนักบินอวกาศ หรือการขึ้นไปปฏิบัติงานบนอวกาศ จะยังไม่ใกล้ตัวคนไทยมาก แต่การ “ศึกษาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ” ในประเด็นนี้ ถึงวันนี้ก็ “ไม่ไกลตัวคนไทยใกล้ตัวคนไทย” อีกระดับหนึ่งแล้ว โดย 12 นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ในชื่อ “ทีมมิเนอร์วา (MINERVA)” ที่ประกอบด้วย… สุเมธ กล่อมจิตเจริญ, ธัญชนก ตั้งวัฒนศิริกุล, ชอน กัลอัพ, พิสิฐชัย เตชะวิเศษ, จิน ตั้งกิจงามวงศ์, เบญจมาศ จิระปัญญาเลิศ, สิริพักตร์ ฉัตรธนุปกรณ์, ปีติมน อรุณวิริยะกิจ, ณพริน เสมอวงษ์, พิชามญชุ์ พัฒนาอนุกูล, วิศรุต รุ่งพงศ์วาณิช, นรวิศว์ หนังสือ โดยมี รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์, ผศ.ดร.ปฐมพล วงศ์ตระกูลเกตุ, รศ.ดร.ไกร มีมล, ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ต้นแบบ “ดาวเทียม MINERVA” เพื่อ ทดลองวิจัยการลดความเสียหายของดีเอ็นเอ (DNA) ในสิ่งมีชีวิตจากรังสีอวกาศ” ใน “หนอน ซี. เอเลแกนส์  (C. elegans)” เพื่อพัฒนาต่อยอดการ ต้านทานรังสีฯ” ในมนุษย์

…นี่คือสิ่งที่มีการศึกษาโดยทีมมิเนอร์วา ที่มีตั้งแต่นักศึกษาปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก โดยได้มีการพัฒนาต้นแบบดาวเทียมและแผนการทดลอง เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ของการเดินทางในอวกาศอย่างปลอดภัยในอนาคต ซึ่ง คว้ารางวัลนานาชาติในการแข่งขัน The 7th Mission Idea Contest ประเทศญี่ปุ่น ที่จัดโดย UNISEC-Global องค์กรนานาชาติด้านอวกาศเพื่อสันติ  สำหรับ “ดาวเทียม MINERVA” นั้นเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก ทำด้วยอะลูมิเนียม ประกอบด้วย… คิวบ์ 6 อันต่อกัน สูง 30 ซม. กว้าง 20 ซม. น้ำหนักประมาณ 10-12 กก. ส่วน “หนอน C. elegans” มีขนาดราว 1 มม. ดัดแปลงพันธุกรรมสำหรับเป็นโมเดลในการทดลอง ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีโครโมโซมใกล้เคียงมนุษย์ถึง 83%

การศึกษาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ-การทดลองดังกล่าวนี้ จะ ใช้ โปรตีน Dsup (Damage Suppressor Protein)” โปรตีนเฉพาะที่มีอยู่ใน หมีน้ำ (Water Bears)” หรือ ทาร์ดิเกรด” สัตว์ขนาดจิ๋วที่นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีความทนทานมากที่สุดในโลก โดยโปรตีน Dsup นี้ช่วยลดความเสียหายของ DNA ที่เกิดจากการโดนรังสี ทำให้หมีน้ำทนทานต่อรังสีได้มากกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ถึง 1,000 เท่า จึงมีการนำมาทดลองในหนอน C. elegans เพื่อให้ทนต่อรังสีอวกาศได้มากขึ้น ซึ่ง หากหนอนทดลองสามารถทนรังสีอวกาศได้มากขึ้นจริง นี่จะเป็นก้าวสำคัญทาง เทคโนโลยีเวชศาสตร์อวกาศ” ในการ พัฒนายา” สำหรับยุคอนาคต สำหรับการใช้ชีวิตของมนุษย์ในอวกาศได้อย่างปลอดภัย

ขณะที่ดาวเทียม MINERVA นั้น มีความพิเศษตรงที่สามารถทำการทดลองกับสัตว์ที่มีชีวิตในดาวเทียมขนาดเล็ก โดยทางทีมมิเนอร์วาก็มุ่งหวังว่า แพลตฟอร์ม CubeSat จะเป็นประโยชน์ต่อภารกิจในอนาคตทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตในอวกาศ ซึ่งสามารถที่จะทำการทดลองในดาวเทียมขนาดเล็กภายใต้สภาพแวดล้อมของอวกาศได้ ทั้งนี้ ก็นับว่าน่าจับตาดาวเทียมฝีมือคนรุ่นใหม่ของประเทศไทยเกี่ยวกับการช่วย ยกระดับองค์ความรู้ และพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเวชศาสตร์อวกาศ และวิศวกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศ ในรูปแบบต่าง ๆ

“อวกาศ” เรื่องนี้ก็ ใกล้ตัวคนไทยยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ”

“ศึกษาทดลองเกี่ยวกับอวกาศ” จึง น่าส่งเสริม”

นี่มิใช่เรื่องเพ้อฝัน..แต่คือการ รองรับอนาคต” .