“จะถือว่าเราเป็นยูทูบเบอร์รุ่นบุกเบิกก็ได้ค่ะ เพราะเปิดช่องครูนกเล็กในยูทูบมา 10 กว่าปีแล้ว ที่ทำช่องนี้ขึ้นก็เพราะอยากให้เด็ก ๆ เข้าใจบทเรียนที่สอนได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจของเราที่คิดทำสื่อการสอนออนไลน์นี้ขึ้นมา” เป็นที่มาของสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ ที่ “ครูนกเล็ก-จีรภัทร์ สุกางโฮง” บอกเล่าไว้ ถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอลุกขึ้นมาทำช่องยูทูบ โดยช่องของเธอได้ก่อตั้งขึ้นในยุคแรก ๆ ที่ในไทยเริ่มมีการใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ดังกล่าว และนอกเหนือจากแรงบันดาลใจที่มีหัวใจสำคัญคือ “เพื่อเด็ก” แล้ว ด้วยลีลาน้ำเสียง รวมถึงวิธีการนำเสนอที่แสนโดดเด่น จึงทำให้เธอกลายเป็น “ขวัญใจเด็กนักเรียน และชาวโซเชียล” ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักกับ “คุณครูตัวตึง” ท่านนี้กัน…
ปัจจุบันนี้ “ครูนกเล็ก-จีรภัทร์” อายุ 39 ปี เป็นคุณครูสอนหนังสืออยู่ที่ โรงเรียนบางมด (ตันเปาว์วิทยาคาร) เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ โดยเธอเล่าว่า เป็นคนเพชรบูรณ์ เรียนจบจากคณะครุศาสตร์ เอกดนตรีศึกษา สาขาดนตรีไทย จากสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งหน้าที่ปัจจุบันเธอรับผิดชอบเป็นครูประจำชั้น ป.1 และสอนวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ส่วนด้านชีวิตครอบครัว ปัจจุบันเธอแต่งงานแล้ว กับ สามี-วัชรชัย มกรพันธุ์ ซึ่งมีอาชีพเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ โดยมีโซ่ทองคล้องใจเป็นลูกสาว 1 คน ชื่อ “น้องถูกใจ” ที่ขณะนี้กำลังเรียนอยู่ชั้น ม.1 ที่โรงเรียนดรุณสิกขาลัย
ครูนกเล็กเล่าว่า ที่ตัดสินใจเลือกเรียนสาขาดนตรีไทย เพราะตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมเธอได้เป็นนักเรียนทุนของชมรมดนตรีไทย จึงได้เรียนดนตรีไทยมาตั้งแต่ชั้น ม.1- ม.6 จนเมื่อใกล้จะเรียนจบชั้น ม.ปลาย คุณครูที่ดูแลเธออยู่ได้พาไปสมัครเรียนต่อที่สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สาขาวิชาดนตรีไทย เนื่องจากเธอใฝ่ฝันอยากที่จะเป็นคุณครูสอนดนตรีไทยมาก
“ตอน ม.1 เราเห็นรุ่นพี่ในชมรมดนตรีไทยบรรเลงดนตรีไทยในงานต่าง ๆ ก็รู้สึกว่าเพราะดี ทำให้เราอยากเล่นเป็นบ้าง ก็เลยเลือกชมรมดนตรีไทยตั้งแต่นั้น โดยเน้นเอกเครื่องสาย และจะมีเครื่องดนตรีที่ชอบและเล่นประจำคือ ซออู้ ส่วนที่ฝันอยากเป็นครูสอนดนตรีไทยนั้น มาจากความประทับใจคุณครูของเราเองนี่แหละ เพราะท่านดูแลเอาใจใส่เราดีมาก ๆ เหมือนคนในครอบครัว เราก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราเดินตามรอยท่าน ด้วยการได้เป็นครู เราก็จะได้ให้โอกาสทางการศึกษากับเด็กคนอื่น ๆ เหมือนที่เราเคยได้รับ แล้วเราก็ได้เรียนหนังสือ แล้วสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้” คุณครูคนดังเล่าให้ฟัง
เบื้องหลังการทำคลิปการสอนสนุก ๆ
ทั้งนี้ ครูนกเล็ก บอกกับเราต่อไปว่า ตอนเด็ก ๆ เคยมองว่าอาชีพครูเป็นงานสบาย เพราะแค่แต่งตัวสวย ๆ มาสอนหนังสือ และคอยเล่นกับเด็ก ๆ แต่พอได้มาใช้ชีวิตในฐานะ “ครูอาชีพตัวจริง” แล้ว ก็พบว่าเป็นคนละเรื่องกับที่เคยวาดภาพไว้ตอนเด็ก ๆ เลย เพราะครูมีหน้าที่หลายอย่างที่ต้องดูแลและรับผิดชอบ แถมต้องหมั่นพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ รวมถึงต้องเป็นนักค้นคว้าความรู้ เพื่อที่จะช่วยหาคำตอบให้กับเด็ก ๆ ที่มักจะมีคำถามมาถามครูอยู่เสมออีกด้วย
ส่วน “จุดเริ่มต้น” การเป็น “คุณครูตัวตึงในโลกออนไลน์” หลังจากตัดสินใจทำช่องยูทูบเพื่อใช้เป็น “สื่อการเรียนการสอน” นั้น เธอเล่าว่า ต้องย้อนกลับไปเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นต้องผลิตสื่อการสอนในชั้นเรียน เพราะได้รับมอบหมายให้สอนวิชาที่เธอไม่ได้จบมาและไม่ถนัดด้วย นั่นก็คือ วิชาวิทยาศาสตร์ ทำให้เธอต้องมองหาวิธีที่จะทำให้สามารถถ่ายทอดความรู้ในวิชานี้ให้กับเด็ก ๆ จึงตัดสินใจไปคุยกับคุณครูวิทยาศาสตร์เพื่อขอข้อมูลกับแนวทางในการสอนวิชานี้ แล้วก็ค้นพบว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ทำให้เธอเริ่มอยากที่จะสอนวิชานี้ แต่ก็กลับมาคิดว่า จะทำอย่างไรให้เด็ก ๆ ที่เรียนกับเธอสนุก ไม่เบื่อที่ต้องเรียนวิชานี้ จึงตัดสินใจผลิตสื่อการสอนออนไลน์ขึ้นมาเป็น “คลิปวิดีโอสั้น”
“ตอนที่ทำก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าเด็กจะชอบหรือเปล่า ปรากฏพอเอามาฉายให้เด็ก ๆ ดู เด็ก ๆ สนุกมาก ซึ่งยุคเริ่มแรกนั้น เราจะถ่ายคลิปอัดลงบนซีดี แล้วก็เอามาเปิดให้เด็ก ๆ ดูที่ห้องเรียน ช่วงก่อนที่จะเข้าสู่บทเรียน จนต่อมาเมื่อยูทูบเข้ามาเมืองไทย เราก็มองว่า แพลตฟอร์มนี้น่าจะเป็นช่องทางที่นำมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนได้ ก็เลยทำช่องครูนกเล็กขึ้นมา เพื่อให้เป็นสื่อการสอนออนไลน์ โดยมีหลักสำคัญในแต่ละคลิปที่ทำขึ้นคือ ต้องสนุก เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน” ครูนกเล็กเล่าไว้
และ “คุณครูตัวตึง” ท่านเดิมยังบอกกับเราอีกว่า หลังจากที่อัปโหลดคลิปการสอนออนไลน์ลงยูทูบ ปรากฏว่าไม่เพียงเด็ก ๆ จะชอบใจ แต่คนทั่วไปที่เข้ามาดูคลิปของเธอต่างก็สนุกไม่แพ้เด็ก ๆ โดยส่วนใหญ่จะบอกว่าเธอสอนสนุก แถมมีลูกเล่นแพรวพราว ทำให้ดูไม่น่าเบื่อ และยิ่งเธอมีการตัดต่อคลิปนำไปลงในติ๊กต็อกกับเฟซบุ๊ก คนก็ยิ่งรู้จักเธอมากขึ้น จนตอนนี้ในช่องยูทูบของเธอมีแฟนคลับติดตามมากกว่า 9.8 ล้านคน ส่วนในติ๊กต็อกและเฟซบุ๊กนั้นก็มียอดผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน
แต่งชุดแฟนซีวรรณคดีสอนเด็ก ๆ
“เราก็พัฒนาปรับปรุงมาเรื่อย ๆ จากซีดี เป็นดีวีดี จนมาอยู่บนออนไลน์ ซึ่งส่วนตัวมองว่าพอมีออนไลน์ก็ยิ่งทำให้การทำงานของเราสะดวกมากขึ้นกว่าในอดีตเยอะ เพราะพอทำเสร็จเราก็อัปโหลดขึ้นไปเก็บไว้ได้เลย เวลาจะเปิดให้เด็กดูก็เชื่อมต่อกับเครื่องฉาย ซึ่งแพลตฟอร์มนี้มีประโยชน์ที่เราเห็นได้ชัดเจนมากที่สุดก็คือ ช่วงที่เมืองไทยต้องล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 ตอนนั้นแม้โรงเรียนจะปิด แต่เราก็ยังคงสอนเด็ก ๆ ได้ผ่านทางช่องทางเหล่านี้ จนทำให้เราได้แฟนคลับเพิ่มเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็ก ๆ ที่มานั่งเฝ้าลูกเรียนผ่านคลิปออนไลน์”
คุณครูคนเดิมบอกเล่าเรื่องนี้พร้อมรอยยิ้มที่มีความสุข ก่อนจะเล่าให้ฟังเพิ่มว่า ช่วงโควิด-19 ทำให้เด็ก ๆ ต้องเรียนออนไลน์อยู่กับบ้าน ซึ่งอาจทำให้เด็ก ๆ รู้สึกเบื่อ เธอจึงต้อง “เพิ่มลูกเล่นลงในคลิปการสอน” เพื่อให้เด็กรู้สึกสนุก และอยากที่จะเรียนมากขึ้น พร้อมกับสอดแทรกวิธีการนำความรู้ต่าง ๆ ไปให้กับเด็ก ๆ ที่ดูคลิปของเธอ
“ทีมวิถีชีวิต” สอบถามเกี่ยวกับวิธีการแบ่งเวลามาทำคลิป โดย ครูนกเล็ก บอกว่า เวลาสอนปกติเธอก็สอนเต็มที่ พอตอนเย็น หรือวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ เธอจะแบ่งเวลาของครอบครัวมาทำการถ่ายคลิปเก็บเอาไว้ โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นการถ่ายคลิปตามแผนการเรียนการสอนที่วางไว้ ซึ่งยุคนี้เธอมองว่าทำงานได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีต เพราะมีเครื่องมือ มีเทคโนโลยีให้ใช้มากขึ้น รวมถึงการติดต่อเพื่อขอข้อมูลกับคุณครูท่านอื่น ๆ ก็สะดวกกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน จึงสะดวกขึ้นในการทำคลิปการสอน
กับสามีและลูกสาว
เราถามต่อไปว่า หากให้เปรียบเทียบระหว่าง “ครูยุคอดีต-ครูยุคนี้” มีความแตกต่างกันหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ครูนกเล็กสะท้อนว่า มีความแตกต่างพอสมควรเลย ยกตัวอย่าง คนที่เป็นครูสมัยก่อนจะดูแลเอาใจใส่เด็กมาก คือจะดูแลเด็ก ๆ เหมือนลูกหลาน เหมือนคนในครอบครัว เรียกว่าดูแลถึงชีวิตเลย ส่วนครูปัจจุบันก็จะเป็นอีกแบบ ซึ่งอาจจะไม่ได้เหมือนกับครูในอดีต แต่ครูยุคนี้ก็มีความสามารถ เก่งกันทุกคน ซึ่งที่ต่างจากครูสมัยก่อนก็เป็นเพราะบริบทโลกบริบทสังคมเปลี่ยนไป
“ส่วนตัวคิดว่า ในอดีตครูอาจจะสอนเฉพาะวิชาในห้องเรียน สอนท่องจำอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะความรู้นอกห้องเรียนมีเยอะมาก ซึ่งนักเรียนสามารถเรียนตามความสนใจของเขาเองได้ ทำให้ครูยุคนี้ต้องรู้รอบด้านกว่าครูในอดีต ซึ่งเอาจริง ๆ ครูเองก็คงไม่สามารถที่จะเก่งไปทุกเรื่องได้หรอก แต่หลักสำคัญคือ ครูจะต้องชี้แนะแนวทางให้กับเด็ก ๆ ได้ว่า เด็กสามารถไปหาความรู้จากที่ไหนได้เพิ่มเติมบ้าง” เป็น “มุมสะท้อนที่น่าสนใจ”
นอกจากเปรียบเทียบถึงความแตกต่างระหว่างครูในยุคอดีตกับครูรุ่นใหม่ ๆ แล้ว ครูนกเล็ก ยังได้สะท้อนความรู้สึกและสิ่งที่เธอคิดอยู่ในหัวให้เราฟังอีกว่า ส่วนตัวแล้วเธอไม่ได้วัดความภูมิใจที่ตัวเอง แต่ภูมิใจที่เด็กมาบอกว่าเรียนแล้วมีความสุข เพราะเป็นสิ่งที่เธอตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่แรกว่าอยากให้เด็กมีความรู้สึกแบบนี้เมื่อมาเรียนกับเธอ และยิ่งรู้สึกภูมิใจมากขึ้นไปอีก เมื่อลูกศิษย์ที่เรียนจบออกไปกลับมาหา และขอบคุณเธอที่ช่วยให้การเรียนของพวกเขาและเธอไม่น่าเบื่อ ทำให้เด็ก ๆ ตัดสินใจที่จะเรียนหนังสือต่อ ไม่ทิ้งการเรียนจนกลายเป็นเด็กที่หลุดระบบการศึกษา
“แม้จะบอกไม่คาดหวัง แต่ลึก ๆ ก็มีความคาดหวังเล็กน้อยอยู่เช่นกัน โดยเราคาดหวังกับเด็ก ๆ แค่ 3 สิ่ง คือ อ่านออก เขียนได้ และคิดเป็น” คุณครูคนเดิมคนนี้ระบุไว้
“ทีมวิถีชีวิต” ได้ถามคำถามสุดท้ายก่อนจบบทสนทนากับ “ครูนกเล็ก-จีรภัทร์” คุณครูโรงเรียนบางมด (ตันเปาว์วิทยาคาร) ว่า ยังมีความฝันหรือสิ่งที่ตั้งใจจะทำในอนาคตหรือไม่ ซึ่งเธอตอบว่า ตอนนี้ อยากพัฒนาสกิลภาษาอังกฤษ ของตัวเองให้มากขึ้น เพื่อที่เธอจะได้สามารถนำไปถ่ายทอดให้กับเด็ก ๆ ได้มากขึ้นอีก และอีกอย่างหนึ่งคือ อยากพัฒนาเทคนิคการสอน ที่เชื่อมโยงกับเด็กทุก ๆ คนได้ เพราะการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน… “คลิปที่คิดขึ้น ก็จะเกิดจากการแก้บัญหาทั้งนั้น ซึ่งเราโชคดีที่ได้สามีกับลูกสาว และเพื่อน ๆ ร่วมงานของเรา มาช่วยกันคิด ช่วยกันครีเอทคลิป หรือบางครั้งไอเดียที่เจ๋ง ๆ เราก็ได้จากการที่คุยกับเด็ก ๆ จนเราย้อนคิดว่า…บางครั้งเด็กก็คือครูของเราด้วย”.
‘โลกเปลี่ยน’ ทำให้ ‘ครูก็ต้องเปลี่ยน’
ด้วยความที่เป็นคุณครู “นักพัฒนา-นักปรับตัว” อยู่เสมอ ทาง “ทีมวิถีชีวิต” จึงขอให้ “ครูนกเล็ก-จีรภัทร์ สุกางโฮง” ช่วยบอกเล่าแนวทางการสอนเด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่นับวันก็จะยิ่งแตกต่างจากรุ่นก่อน ๆ โดยคุณครูท่านนี้บอกว่า เด็กแต่ละยุคสมัยก็จะมีความแตกต่างกัน อย่างเด็กสมัยนี้ พวกเขาจะมีความชัดเจนมากกว่าเด็กในสมัยก่อน และมักจะรู้ตัวเองว่าชอบอะไร สนใจอะไร และเด็กสมัยนี้เรียนรู้ได้ไวกว่าเด็กยุคก่อน ยกตัวอย่างเช่น อย่างในสมัยของเธอ อายุ 10-11 ขวบ ยังเล่นกระโดดยางอยู่เลย แต่เด็กยุคนี้ถึงขั้นคิดจะออกแบบเกมออนไลน์กันแล้ว โดยเรื่องพวกนี้ครูก็จะต้องรู้ให้ทันและเข้าใจเด็ก ซึ่งด้วยลักษณะของเด็กที่ต่างกันเช่นนี้เอง ทำให้ครูจะใช้วิธีเดิม ๆ สอนเด็กไม่ได้อีกแล้ว… “เพราะโลกเปลี่ยนไปทุกวัน ทำให้ครูก็ต้องเปลี่ยนตาม เพื่อให้ทันโลก ทันเทคโนโลยี” และที่สำคัญ ไม่ใช่แค่ครูที่โรงเรียนเท่านั้น แต่กับพ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ควรที่จะต้องหมั่นพัฒนาตัวเองและปรับตัวให้ทันกับโลกของเด็ก ๆ โลกของลูก ๆ ด้วย เช่นเดียวกันกับครู.
เชาวลี ชุมขำ : รายงาน