ถูกจับตามองและติดตามใกล้ชิดทุกครั้ง สำหรับความเคลื่อนไหวของดาวเคราะห์น้อยที่โคจรเข้าใกล้โลก ไม่เว้นแม้แต่ในภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ อวกาศที่สื่อภาพภัยร้าย หากโลกต้องถูกดาวเคราะห์น้อย ดาวหางขนาดใหญ่มหึมาพุ่งชน!?!….

ท่ามกลางความเสี่ยงที่โลกจะถูกพุ่งชนจากวัตถุที่ล่องลอยในอวกาศ โดยเฉพาะกับ “ดาวเคราะห์น้อย” ที่นักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ให้ความสำคัญเฝ้าระวัง ล่าสุดองค์การนาซา ส่งยาน DART (Double Asteroid Redirection Test) ยานลำแรกที่มีภารกิจทดสอบเทคโนโลยีการป้องกันดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกทะยานขึ้นสู่อวกาศแล้วเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นการศึกษาทดลอง เป็นกุญแจสู่การปกป้องพิทักษ์โลก

ภารกิจทดสอบครั้งนี้จากรายงานข่าวยังเป็นครั้งประวัติศาสตร์ของวงการอวกาศโลกที่จะทดสอบเทคโนโลยีเบี่ยงเบนวิถีวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย เพื่อศึกษาแนวทางป้องกันการพุ่งของวัตถุจากภายนอกโลก โดยภารกิจ DART มีเป้าหมายพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย ไดมอร์ฟอส (Dimorphos) ซึ่งไม่มีความเสี่ยงเป็นอันตรายต่อโลก เพื่อประเมินวิถีการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยที่เปลี่ยนแปลงไปหลังถูกยานพุ่งชน วัดความเปลี่ยนแปลงจากกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดิน และนำผลลัพธ์ที่ได้มาศึกษา ขยายผล เตรียมความพร้อม สำหรับการป้องกันโลกจากวัตถุในห้วงอวกาศ ที่มีความเสี่ยงต่อการพุ่งชนโลกต่อไปในอนาคต

สิทธิพร เดือนตะคุ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความรู้เล่าเรื่องน่ารู้ดาวเคราะห์น้อย เล่าถึงการปกป้องโลกจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย

การป้องกันโลกของเรามีหลายวิธี ภารกิจเปลี่ยนเส้นทางวงโคจรดาวเคราะห์น้อยจากที่ดาวเคราะห์น้อยโคจรอยู่ครั้งนี้ วิธีที่จะเบี่ยงเบนได้ก็จะต้องมีอะไรไปพุ่งชนซึ่งยาน DART เป็นหนึ่งในตัวทดสอบ จะมีความเป็นไปได้มากน้อยอย่างไร จะเป็นไปตามทฤษฎีหรือไม่ ในภารกิจครั้งนี้จะมีข้อมูล เป็นเรื่องที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

ย้อนกลับไปหากถามถึงความสำคัญของดาวเคราะห์น้อย น่าสนใจอย่างไร ทำไมชาวโลกจึงต้องจับตาเฝ้าติดตาม? เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สิทธิพร อธิบายว่า ดาวเคราะห์น้อยโคจรรอบดวงอาทิตย์เช่นเดียวกับโลกของเรา มีอยู่จำนวนมากมายและก็อาจเป็นไปได้ที่จะตัดกับวงโคจรของโลก จึงต้องมีการติดตามเฝ้าระวังใกล้ชิด

วัตถุที่โคจรในระบบสุริยะจะไม่ได้ลอยไปอย่างนิ่ง ๆ แต่จะมีความเร็วสูงมาก ดังนั้นหากพุ่งชนโลกก็จะเกิดพลังทำลายสูงมาก อย่างเช่นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งในที่นี้เกิดขึ้นเป็นเวลายาวนานมากแล้วและในปัจจุบันโลกของเราก็ไม่ได้อยู่ในยุคที่ระบบสุริยะวุ่นวายดังเช่นนั้นแล้ว

ดาวเคราะห์น้อยดวงใหญ่ ๆ ที่จะทำให้เกิดภัยพิบัติ มีอำนาจทำลายล้างโลกคงเป็นเรื่องยาก โดยหากเปรียบเทียบโอกาสการพุ่งชน เปรียบกับภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ อวกาศ โอกาสมีคงน้อยมาก ๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังคงให้ความสนใจ ศึกษา จับตา และสำรวจติดตาม ไม่ตัดโอกาสการเข้ามาวุ่นวายของดาวเคราะห์น้อย ทั้งนี้การสำรวจจะทำให้พบเจอล่วงหน้า เมื่อมีเวลาพบล่วงหน้าก็จะมีเวลาเตรียมตัว หาวิธีป้องกันได้มากขึ้น”

การส่งยาน หรือการเฝ้าติดตามสำรวจดาวเคราะห์น้อย นอกจากมิติการป้องกันในเรื่องของความอันตราย สิทธิพร ขยายความเล่าเพิ่มความน่าสนใจของดาวเคราะห์น้อยอีกว่า ยังมี มิติทรัพยากรใหม่ ๆ สำหรับการออกไปสำรวจอวกาศ ทั้งนี้อาจนำทรัพยากร แร่ธาตุต่าง ๆ นำมาใช้ประโยชน์ต่อไป

การติดตามดาวเคราะห์น้อยจึงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม ทั้งในด้านความปลอดภัยต่อโลกและในมิติดังกล่าว แต่อย่างไรแล้วจากที่กล่าวดาวเคราะห์น้อยมีจำนวนมาก กระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งระบบสุริยะ และมีขนาดแตกต่างกันนับแต่ขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายไปจนถึงขนาดใหญ่มหึมา โดยที่พุ่งเข้ามาในวงโคจรก็มีแต่เป็นเศษเล็กมาก ๆ เล็กกระทั่งเป็นฝุ่นตกหล่นลงมา หรือบางลูกตกลงมาถึงพื้นดินกลายเป็นอุกกาบาตซึ่งในภารกิจเหล่านี้มีหน่วยงานที่คอยเฝ้าจับตาดูและรวบรวมไว้ในฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ

ดาวเคราะห์น้อยที่ถูกค้นพบถ้านับตามจำนวนมีนับล้าน โดยจำนวนที่มากมายเหล่านี้ถูกจัดแบ่งโดยกลุ่มที่มีโอกาสเข้ามาใกล้โลกจะเรียกว่า วัตถุที่มีวงโคจรเข้าใกล้โลก (Near Earth Objects) ซึ่งการเข้าใกล้ก็ไม่ได้หมายถึงการชนแต่อยู่ในรัศมี แต่ถึงอย่างไรแล้วถือว่ายังอยู่ไกลมาก ๆ ซึ่งในจำนวนนี้มีหลายพันดวงและก็สำรวจพบขึ้นเรื่อย ๆ

ขณะที่อีกกลุ่มเป็น กลุ่มที่มีศักยภาพ มีความอันตราย โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องพุ่งชนโลก แต่ต้องจับตามากขึ้นเป็นพิเศษ โดยภารกิจส่งยานไปครั้งนี้จึงมีความพิเศษ มีความสำคัญต่อการศึกษาและการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ”

การปกป้องโลกจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย จากหนังสือชื่อเดียวกัน โดย สดร. ให้ความรู้เพิ่ม ทั้งเล่าถึง วัตถุที่มีวงโคจรเข้าใกล้โลก ที่น่าสนใจอย่างเช่น ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟีส (99942 Apophis) ซึ่งพบครั้งแรกในปี พ.ศ.2547 เป็นดาวเคราะห์น้อยที่ได้รับความสนใจมาก เพราะมีความเสี่ยงเข้ามาชนโลก กลายเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับวิถีการโคจร และความเสี่ยงของวัตถุที่จะพุ่งชนโลก

“ดาวเคราะห์น้อยมีหลายลักษณะ ทั้งที่เป็นการรวมตัวกันของก้อนหินขนาดเล็กหลาย ๆ ก้อน หรือวัตถุก้อนเดียวขนาดยักษ์ที่มีลักษณะเป็นหินหรือโลหะเหล็ก นิกเกิล หากมีการพบว่าก้อนใดก้อนหนึ่งพุ่งมายังโลก สิ่งที่จะทำเพื่อป้องกันภัยพิบัติอาจไม่ได้มีคำตอบเดียว และด้วยที่ไม่มีประสบการณ์จัดการกันมาก่อน จึงมีการนำเสนอแนวทางต่าง ๆ จากการเฝ้าติดตามศึกษาข้อมูลและแนวโน้มการพัฒนาด้านเทคโนโลยีป้องกันภัยจากการชนของวัตถุที่มีวงโคจรเข้าใกล้โลกขนาดใหญ่ แทบไม่มีความเป็นไปได้ที่จะทำลายให้สิ้น ทำได้คือการเบี่ยงเบนจากวิถีโคจรเดิม ซึ่งก็มีหลายวิธี โดยจำแนกเป็นสองแนวทางคือ กระแทกแรง ๆ ให้หลุดจากวงโคจร และการค่อย ๆ ผลักออกไปจากวงโคจรเดิม”

การทำลายโดยระเบิดนิวเคลียร์ ส่งอาวุธไปถล่มดาวหางให้แหลกเป็นผุยผงดั่งภาพยนตร์ ในชีวิตจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น โดยส่วนนี้ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการสิทธิพร ขยายความเพิ่มว่า ชิ้นส่วนที่เหลือจากการระเบิดที่แตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ จะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ความเร็วของดาวเคราะห์น้อย ดาวหางที่ไม่ได้ลดลง หากพุ่งชนโลกจะพุ่งชนด้วยความเร็วและจำนวนที่มาก แม้ความเสียหายอาจไม่ทำให้โลกต้องแตกดับไป แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจำกัดวงไม่ได้ การอพยพผู้คนก็จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เป็นต้น แต่แม้จะมีความเสี่ยงก็ยังเป็นทางเลือกที่พูดกัน

การใช้แผ่นสะท้อนแสงอาทิตย์ เป็นอีกวิธีที่มีการพูดถึง จากองค์ความรู้ในหนังสือกล่าวถึงวิธีการนี้ซึ่งเป็นแนวคิดในช่วงแรก ๆ สำหรับการเบี่ยงเบนวิถีวงโคจรดาวเคราะห์น้อย ด้วยแรงดันที่เกิดจากรังสีของดวงอาทิตย์ที่มาตกกระทบพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อย และฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและสามารถตรวจพบได้ เป็นต้น

การศึกษา ทดสอบด้วยวิธีใหม่ ๆ เทคโนโลยีที่มีความสามารถเพื่อเตรียมความพร้อมจึงมีความสำคัญ เช่นเดียวกับภารกิจยาน DART ที่ต้องติดตาม ภารกิจแรกทดลองเบี่ยงเบนวิถีวงโคจร ไขคำตอบการปกป้องโลก…

พ้นภัยจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย.