นอกจาก “คดี” ที่สังคมไทยเฝ้าติดตามแล้ว กรณีการ “เสียชีวิตมีเงื่อนงำ” ของ “ดาราสาวชื่อดัง” คนหนึ่งนั้น กับเหตุการณ์น่าเศร้าเหตุการณ์นี้ยังทำให้สังคมเกิด “ปุจฉาอื้ออึง??” ในหลายมิติ รวมถึงมิติ “เพื่อน” ทั้งประเด็น “การดูแลกัน??” รวมถึงประเด็นที่ทำให้หลายคนรู้สึกอึ้ง กับบางคำพูดของ “เพื่อนของดาราสาว” บางคน ที่เกี่ยวกับเรื่อง “เงิน??” ดังที่ทราบ ๆ กัน ดังที่เกิดเป็น “ดราม่าร้อน” เกี่ยวกับ “วัตถุประสงค์การคบเพื่อน??” …ซึ่งกับเหตุการณ์ดังกล่าว…ก็ว่ากันไป

แต่หากจะโฟกัสประเด็น “มูลค่าการคบเพื่อน??”…

ประเด็นนี้ “ในทางวิชาการก็ได้มีการศึกษาจริงจัง!!”

มี “แง่มุมทางวิชาการ” ให้ได้ “ลองพินิจพิจารณา”…

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยเป็นข้อมูลจากบทความ “เรามีเพื่อนได้มากที่สุดกี่คน?” ที่เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์ setthasat.com ซึ่งโดยสังเขปนั้น มีการสะท้อนไว้ว่า… ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นได้มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของ “มูลค่าและจำนวนของเพื่อน” ด้วยการนำหลักทฤษฎีที่มีชื่อว่า “Dunbar‘s Number” มาใช้อธิบายปรากฏการณ์เรื่องนี้ โดยทฤษฎีดังกล่าวนี้เป็นวิธีการ คำนวณจำนวนของเพื่อนที่สมองส่วนหน้าของมนุษย์จะสามารถจำรายละเอียดได้ ซึ่งพบว่า… มนุษย์ 1 คน จะมีเพื่อนได้มากสุด 150 คน โดยวิเคราะห์จากผลที่ได้และต้นทุนการรวมกลุ่ม

ในบทความดังกล่าวยังได้ระบุถึง ความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relationships) หรือ “การคบเพื่อน” ไว้ว่า… เป็นหัวข้อที่มีการศึกษามาเป็นเวลานาน เนื่องจาก ความสัมพันธ์เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนและการเกี่ยวข้องกันทางสังคม (Social Exchange and Affiliation) ของมนุษย์ โดยหนึ่งในประเด็นที่มีการศึกษากันมากก็คือ “ขนาดของกลุ่ม (Group Size)” ที่มีการศึกษาว่า จำนวนคนที่มาอยู่รวมกลุ่มกันนั้น ถูกกำหนดจากปัจจัยอะไรบ้าง?

กับ “ขนาดของกลุ่มเพื่อน” ในมุมมานุษยวิทยานั้น ในบทความอธิบายไว้ว่า… ขนาดของกลุ่มเพื่อนจะใหญ่หรือเล็ก (มีคนในกลุ่มมากหรือน้อย) ขึ้นกับความสมดุลของประโยชน์ที่จะได้รับ กับต้นทุนของการรวมกลุ่ม (Cost-Benefit of Group Living) อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับการช่วยลดความเสี่ยงในชีวิต และเพิ่มโอกาสการมีชีวิตรอดจากการได้รับการปกป้องจากกลุ่มเพื่อน อย่างไรก็ตาม ขนาดกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น ก็ยิ่งส่งผลทำให้มีต้นทุนจากการแข่งขันกันของคนในกลุ่มเพิ่มขึ้น

นี่เป็น “แง่มุมในทางวิชาการ” กับ “กรณีเพื่อน”

นอกจากนี้ ก็ยังได้มีการหยิบยกนำเอาการศึกษาวิเคราะห์ของ Robin Dunbar นักมานุษยวิทยาและจิตวิทยา มาประกอบการอธิบายเรื่องนี้ กล่าวคือ…  สมองของมนุษย์มีขีดจำกัดในการจำรายละเอียด จึงทำให้  จำนวนเพื่อนจะมากหรือน้อย จึงขึ้นอยู่กับ “ข้อจำกัดของสมองส่วนหน้า” โดยผลการศึกษาพบว่า… มนุษย์มีเพื่อนได้มากที่สุด 150 คน

หรือที่เรียกชื่อตัวเลขเหล่านี้ว่า…“Dunbar’s Number” 

ในการศึกษาเรื่องนี้ยังได้มีการจำลอง วงของการเข้าถึง (Circle of Acquaintanceship) เพื่อที่จะคำนวณหา “จำนวนวงของกลุ่มเพื่อน” ซึ่งจากการศึกษาได้พบว่า… มนุษย์ 1 คน จะมีจำนวนวงของกลุ่มเพื่อนได้หลายวง โดย วงแรกจะเป็นวงเพื่อนที่สนิทที่สุด ที่จะมีอยู่ประมาณ 5 คน จากนั้นก็ จะมีจำนวนของเพื่อนที่ขยายออกไปในอัตราส่วนประมาณ 3 เท่าของจำนวนเพื่อนสนิทในวงแรก กล่าวคือ 15, 50, 150 ตามลำดับ หรือที่เรียกว่า… ‘ว 5-15-50-150′

และนอกเหนือจากจำนวนของวงเพื่อนแล้ว กับ จำนวนครั้งในการติดต่อกันของเพื่อน (Contact per day) ก็มีการศึกษาเช่นกัน โดยพบว่า… เพื่อนที่สนิทที่สุด 5 คนแรก จะมีอัตราการติดต่อกันอยู่ที่ประมาณ 0.37 ครั้งต่อคนต่อวัน ส่วน คนที่อยู่ในวงเพื่อนลำดับถัดไป ในวงที่ 50-150 จะมีการติดต่อกันน้อยมาก และ คนที่อยู่ในวงสุดท้ายคือ 150-500 นั้นแทบจะไม่มีการติดต่อกันเลย …นี่เป็นวิชาการกรณีจำนวนครั้งของการติดต่อกันของ “เพื่อน” วงต่าง ๆ

ขณะที่การวิเคราะห์เกี่ยวกับ “ต้นทุน” ใน “การคบหากันของกลุ่มเพื่อน” นั้น ก็มีผลการศึกษาพบว่า… กลุ่มเพื่อนจะมี 2 แบบคือ “เพื่อนที่เข้าใจอารมณ์กันและกัน (Emotional Support)” กับ “เพื่อนที่ทำงานร่วมกันเฉย ๆ (Alliances)” โดยกลุ่มของเพื่อนที่เข้าใจอารมณ์ซึ่งกันและกันนั้นจะใช้ต้นทุนมากกว่า เพราะก่อนที่จะเป็นเพื่อนที่เข้าใจอารมณ์ของกันและกันได้นั้นจำเป็นจะต้องอาศัยแรง เวลา และพลังงานมาก ในการทำความเข้าใจ มากกว่ากลุ่มเพื่อนที่ทำงานร่วมกันเฉย ๆ

ในช่วงท้ายบทความ “เรามีเพื่อนได้มากที่สุดกี่คน?” ที่เผยแพร่ใน setthasat.com บางช่วงบางตอนระบุไว้ว่า… Dunbar’s Number บอกให้รู้ว่า…เราสามารถมีเพื่อนอย่างมีประสิทธิภาพได้มากที่สุดประมาณ 150 คน อันเนื่องจากข้อจำกัดทางด้านความจำของสมองในการจำรายละเอียดของเพื่อน และ…เวลาที่ต้องใช้ในการสร้างมิตรภาพก่อให้เกิดการได้อย่างเสียอย่างของคุณภาพและจำนวนเพื่อน (Trade-offs between Quality and Quantity of Friends) อย่างชัดเจน… เมื่อพิจารณาต้นทุนและผลได้ร่วมกัน จะเห็นว่า เพื่อนที่เข้าใจอารมณ์ซึ่งกันและกันจะมีได้จำนวนน้อย ขณะที่เพื่อนที่ทำงานร่วมกันเฉย ๆ มีได้จำนวนมาก …ทั้งนี้ แง่มุมต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่อง “เพื่อนในทางวิชาการ” ที่เป็นคนละเรื่องกับเหตุการณ์น่าเศร้า

“ราคามูลค่าของเพื่อน”…จริง ๆ มีในทางวิชาการ”

แต่กระนั้นก็ เป็นคนละกรณีกับนิสัยการคบหา”

มิใช่กรณี…คบเพื่อนเพียงเพื่อผลประโยชน์??” .