หลังจากเกือบตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องผจญกับมรสุมเรื่องราวสารพัด โดยเฉพาะวิกฤติโควิด-19 ที่ยังกลายเป็นปัญหาลากยาวข้ามปี ในโอกาสช่วงเริ่มต้นปีใหม่ 2565 ปีเสือ (ขาล) เพื่อความเป็นสิริมงคลกับตัวเองและครอบครัว   ในช่วงต้นปีใหม่ หลายท่านคงถือโอกาสแวะเข้าวัดทำบุญตามวัดใกล้บ้านหรือในพื้นที่จังหวัดภูมิลำเนาตัวเอง

ขณะเดียวกันใครอยู่ในกรุงเทพมหานคร ช่วงนี้ทาง กรมศิลปากร ได้จัดกิจกรรมมงคล อัญเชิญ พระพุทธปฏิมาโบราณ 10 องค์ ที่เก็บสงวนรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร โดยมี พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประจำพระราชวังบวรสถานมงคลวังหน้า มาประดิษฐานเป็นองค์ประธาน อยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินอกจากนี้ยังคัดสรร พระพุทธรูปมงคลโบราณ  10 องค์ ซึ่งมีตำนานการสร้างและนามอันเป็นสิริมงคลเชื่อว่าจะช่วยด้านสุขภาพและเสริมมงคลรับปีใหม่ ให้ประชาชนได้สักการบูชา เนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2565

กรมศิลปากรจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 12

นายยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เปิดเผยกับทีมข่าว 1/4 Special Report ว่า เป็นปีที่ 12 แล้วที่ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญออกมาให้ประชาชนได้สักการะช่วงปีใหม่ เดิมความมุ่งหมายของการสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นรูปเคารพ แต่เมื่อมาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ความมุ่งหมายเหล่านั้นก็เปลี่ยนไป ดังนั้นเราจึงอัญเชิญพระพุทธรูปที่มีออกมาให้คนทั่วไปได้เคารพเพื่อรื้อฟื้นความหมายดั้งเดิมของผู้สร้าง โดยปีนี้จะจัดพิเศษอัญเชิญพระพุทธรูปที่จะเกี่ยวกับการรักษาโรคซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดอยู่ตอนนี้ เช่น พระพุทธรูปฉันสมอ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบจีน องค์ที่นำออกมาคาดว่า ด้วยพระหัตถ์ที่ยื่นออกมา เดิมน่าจะมีการนำ “ผลสมอ” มาวางไว้บริเวณพระหัตถ์ขององค์พระพุทธรูป

พระพุทธสิหิงค์

นายยุทธนาวรากร กล่าวต่อว่า พระพุทธรูปโบราณทรงคุณค่าที่อัญเชิญออกมา ประกอบด้วย 1.พระพุทธสิหิงค์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ 1) ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อ พุทธศักราช 2338 ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประจําพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ตามตํานานพระพุทธสิหิงค์ ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นสิริยังพระนครหลวงโบราณหลายแห่ง นับแต่กรุงสุโขทัย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ตราบจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์

พระพุทธรูปประทานพร

2.พระพุทธรูปประทานพร ศิลปะอินเดีย สมัยราชวงศ์ปาละ พุทธศตวรรษที่ 14 พระพุทธรูปทรงยืนตรง พระหัตถ์ขวาอยู่ในกิริยาประทานพร โดยการแบฝีพระหัตถ์ขวาห้อยออกไปข้างหน้า ปางประทานพร ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “วรทมุทรา” ในศิลปะอินเดียไม่ได้เจาะจงใช้สําหรับพุทธประวัติตอนใดตอนหนึ่ง ต่อมาในศิลปะอินเดียแบบคุปตะและปาละ จึงเริ่มใช้เฉพาะกับพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ โดยจะต้องสลักรูปพระอินทร์ และพระพรหมประกอบเป็นบริวารทั้ง 2 ข้างพระองค์

ขอช่วยคุ้มครองรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

พระไภษัชยคุรุ

3.พระไภษัชยคุรุ ศิลปะลพบุรีพุทธศตวรรษที่ 18 กรมศิลปากร จัดซื้อมาเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2479 โดยลักษณะพระพุทธรูปทรงเครื่องอาภรณ์ ประทับขัดสมาธิราบบนขนดนาคซ้อน 3 ชั้น เศียรนาคทั้ง 7 แผ่พังพานปกอยู่เบื้องหลังพระเศียร พระหัตถ์แสดงปางสมาธิ มีหม้อน้ำอมฤต หรือตลับยาวางอยู่ในพระหัตถ์อันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าแพทย์ เชื่อกันว่าผู้บูชาพระไภษัชยคุรุ อาจหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วยการสวดบูชาออกพระนาม

พระพุทธรูปปางห้ามญาติ

4.พระพุทธรูปปางห้ามญาติ (ปางประทานอภัย) ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 20 เป็นสมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พระพุทธปฏิมาทรงยกพระหัตถ์ขวา พระหัตถ์ซ้ายทอดลงข้างพระวรกาย ตามคติเดิมของการสร้างพระแต่เดิมของอินเดีย พระพุทธรูปที่แสดงพระหัตถ์ในท่านี้เรียกตามภาษาสันสกฤตว่า “อภยมุทรา” ภาษาไทยนํามาใช้ว่า “ปางประทานอภัย” เพื่อสื่อความหมายถึงความไม่มีภัยทั้งปวงหรือไม่หวั่นเกรงภัยใด ๆ อันมีความหมายถึงการปกป้องอันตราย

พระอมิตายุส

5.พระอมิตายุส ศิลปะล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ 21 กรมพระราชพิธี ส่งมาจากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2474 พระพุทธเจ้าผู้มีอายุยืนนานไม่สิ้นสุด ภาคหนึ่งของพระธยานิพุทธอมิตาภะ ทรงเครื่องอาภรณ์อย่างกษัตริย์ อุณหิศ (กระบังหน้า) ประดับแผ่นกระจังขนาดใหญ่ มีแถบผ้าสี่ชาย ทรงกุณฑล รูปกลมขนาดใหญ่ ทรงกรองศอ สังวาล พาหุรัด ประทับขัดสมาธิเพชรบนฐานที่ประดับกลีบบัวคว่ำบัวหงาย แสดงปางสมาธิ ในพระหัตถ์มีหม้อยา หรือหม้ออาหารทิพย์

พระหายโศก

6.พระหายโศก ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 กรมพระราชพิธีส่งมาจากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2474 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิเพชรอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ส่วนที่บริเวณฐานด้านหลังมีจารึกอักษรภาษาไทย ความว่า “พระหายโศก มาถึงกรุงเทพฯ วัน 1+11 5 ค่ำ (วันอาทิตย์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 5) ปิ์มเสงยังเป็นอัฐศก ศักราช 1218” ซึ่งตรงกับวันที่ 5 เม.ย. 2399 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย

7.พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย (ปางห้ามสมุทร) ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 22 เป็นสมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยยกพระหัตถ์ทั้งสองตั้งขึ้นเสมอพระอุระและหันฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองออกด้านนอก แสดงปางห้ามสมุทร พุทธประวัติตอนแสดงอิทธิฤทธิ์ห้ามมิให้แม่น้ำเนรัญชราท่วมหลากมาถึงบริเวณที่พระองค์ประทับได้ เป็นเหตุให้อุรุเวลกัสสปหัวหน้าเหล่าชฎิลทั้ง 500 ยอมฟังพระธรรมเทศนา จนสิ้นทิฐิมานะ เลิกวิถีปฏิบัติเดิม และขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา

พระชัยเมืองนครราชสีมา

8.พระชัยเมืองนครราชสีมา ศิลปะอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 ย้ายมาจากห้องกลางกระทรวงมหาดไทย พระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งสมาธิราบบนฐานเตี้ย มีจารึกอักษรขอม ภาษาบาลีที่องค์พระ บนผ้าสังฆาฏิด้านหลัง จารึกอักขระ 5 ตัว คือ นะ โม พุท ธา ยะ คาถาย่อนามพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ที่ทรงอุบัติในภัททกัป หรือกัปปัจจุบันนี้ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคดม และพระศรีอาริยเมตไตรย ที่เรียกว่าพระชัย เพราะมีความหมายว่า ชัยชนะ เนื่องด้วยแต่เดิมมีความมุ่งหมายเพื่ออัญเชิญไปในกองทัพยามออกศึกสงครามเพื่อชัยชนะ

ขจัดอุปสรรคป้องกันภยันตรายสิ่งชั่วร้าย

พระพุทธรูปปางฉันสมอ

9.พระพุทธรูปฉันสมอ ศิลปะรัตนโกสินทร์พุทธศตวรรษที่ 24 เป็นของอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ มาแต่เดิม พระฉันสมอประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรแบบพุทธศิลป์จีน คล้ายคลึงกับพระฉันสมอที่วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร กรุงเทพมหานคร ในพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎกกล่าวถึงผลสมอและมะขามป้อม ที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้เป็นเครื่องยาสําหรับพระภิกษุอาพาธ พระพุทธรูปปางฉันสมอจึงนิยมบูชาเพื่อให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และ

พระชัย

10.พระชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 สมบัติเดิมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ตามพระราชประเพณีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินจะทรงสร้างพระชัย หรือพระชัยวัฒน์ ประจํารัชกาล สําหรับบูชาในหอพระ รวมทั้งอัญเชิญไปในการศึกสงคราม การเสด็จประพาส และตั้งในการพระราชพิธีต่าง ๆ เพื่ออํานวยสวัสดิมงคล ขจัดอุปสรรคป้องกันภยันตรายจากสิ่งชั่วร้ายอัปมงคลต่าง ๆ ทั้งนี้พระชัยมีลักษณะพิเศษคือจะต้องประทับขัดสมาธิเพชร คือ นั่งไขว่พระชงฆ์ หงายฝ่าพระบาททั้งสองข้างแสดงปางมารวิชัย พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชงฆ์ พระหัตถ์ซ้ายจะอยู่ในท่ากําด้ามพัดที่พระเพลา มีตาลปัตรหรือพัดยศบังพระพักตร์

ด้าน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ในทุกปีกรมศิลปากรจะได้นำพระพุทธรูปที่ทรงคุณค่า ออกมาให้ประชาชนได้เคารพสักการะอยู่เป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้ในสถานการณ์ที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปที่มีความเชื่อเรื่องการช่วยเหลือด้านสุขภาพและให้หายเจ็บป่วยจากโรคภัยต่าง ๆ มาประดิษฐานให้ได้สักการะขอพร ไปจนถึงวันที่ 9 ม.ค. 65 (เวลา 09.00-16.00 น.) ไม่เว้นวันหยุดราชการ แต่ช่วงนี้เจ้าหน้าที่จะเข้มงวดในการลงทะเบียน และจำกัดจำนวนประชาชนที่จะเข้าไปภายใน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ.