กำลังจะครบ 2 เดือน หลังจากเปิดประเทศมาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64 อีกปัญหาที่ติดตามมาด้วยหนีไม่พ้นเรื่องของ แรงงานต่างด้าว ที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามแนวตะเข็บชายแดน เส้นทางธรรมชาติ นอกจากจะถูกจับกุมแทบจะรายวันแล้ว พบว่าบางส่วนยังไปโยงใยกับ วงจรขบวนการค้ามนุษย์ มีเส้นทางตั้งแต่ภาคเหนือไปจนถึงพื้นที่ภาคใต้
สัปดาห์ก่อน ตำรวจยังเดินหน้าลุยสนธิกำลังร่วมกับทหาร และฝ่ายปกครอง ลงพื้นที่ภาคใต้หลายจุด ไล่ตั้งแต่ จ.ชุมพร ระนอง ปิดล้อมตรวจค้น “เครือข่ายโกโส” นายทุนเมียนมา หัวโจกลักลอบขนแรงงานต่างด้าวทั้งเข้าประเทศไทย และส่งต่อไปยังต่างประเทศก็มี เนื่องจากช่วงวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบให้ขาดแคลนแรงงาน พอเปิดประเทศ ทำให้ขบวนการลักลอบขนแรงงาน เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง
ขบวนการใหญ่โยงทั้งใน-นอกประเทศ
ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้เกาะติดความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับช่องโหว่ปัญหานี้มาตั้งแต่ช่วงเปิดประเทศ พบว่า ปัจจุบันแรงงานต่างชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยมี 2 ส่วน คือ แรงงานถูกกฎหมาย มีนายจ้างเป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ เข้ามาตามขั้นตอนถูกต้อง และอีกส่วนเป็น แรงงานผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่มาจากเมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว ที่สำคัญช่วงหลังทำเป็น ขบวนการ เพราะแรงงานต่างด้าวจะลักลอบเข้ามาเองคงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ จากเส้นทางชายแดนจะเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคใต้ เพื่อไปเป็นแรงงานตามโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง เกษตร ประมง และทำงานตามบ้าน ฯลฯ ใช่ว่าจะทำกันเองได้ถ้าไม่มีเครือข่ายติดต่อทำกันเป็นขบวนการ
แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า การลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ยังคงเป็นเครือข่ายระหว่างประเทศ ซึ่งจะมี เอเย่นต์ อยู่ในประเทศต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว เพื่อจัดหาแรงงานส่งต่อเข้ามาในประเทศไทย หรือส่งต่อไปมาเลเซีย เครือข่าย จะมีอยู่ตามพื้นที่จังหวัดใหญ่ ๆ ใกล้ตะเข็บแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ตะวันตก ตะวันออก อาทิ จ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง นอกจากเป็นเส้นทางของแรงงานเถื่อนแล้ว บางจังหวัดยังเป็นเส้นทางของ เรือมนุษย์ ชาวโรฮีนจา ช่วงคลื่นลมทะเลอันดามันสงบ (ม.ค.- พ.ค.) จะมีเรือมนุษย์ลักลอบนำชาวโรฮีนจาแอบขึ้นฝั่งในประเทศไทยผ่านทางสตูล สงขลา เพื่อหาช่องทางข้ามไปยังประเทศมาเลเซีย
เครือข่ายจะมีการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มนำพา กลุ่มนายหน้า และ ขบวนการค้ามนุษย์ เพื่อนำแรงงานข้ามชาติส่งต่อไปให้เอเย่นต์ปลายทาง กระจายส่งต่อไปตามจังหวัดต่าง ๆ ที่ต้องการใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ ยังมีเอเย่นต์ลักลอบส่งแรงงาน กลุ่มโรฮีนจา ไปยังประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่วิกฤติโควิดเริ่มคลี่คลาย ก็มีความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับไทย โดยเฉพาะในสวนปาล์ม และโรงงานอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน เพราะมาเลเซียเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันปาล์ม เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจาก อินโดนีเซีย
ไฟเขียวยกระดับแก้ปัญหาทุกมิติ
การลักลอบนำชาวโรฮีนจาไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ถือเป็น ขบวนการค้ามนุษย์ ก่อนหน้านี้เคยเป็นข่าวอื้อฉาวใหญ่ เมื่อปี 2558 หลังพบชาวโรฮีนจาจำนวนมากถูกลักลอบนำมากักตัวไว้ที่ค่ายกินอยู่อย่างอด ๆอยาก ๆ ในป่าใกล้ ๆ ชายแดนไทย-มาเลเซีย พื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา หลังเจ้าหน้าที่บุกเข้าไปช่วยเหลือออกมาได้แล้ว สอบสวนขยายผลไปถึงเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์ จนมีการจับกุมครั้งประวัติศาสตร์ มีทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ ไล่ตั้งแต่ ผญบ., กำนัน, นายกเทศมนตรี, นายก อบจ., ตำรวจ, ทหาร และข้าราชการระดับ “พล.ท.” ตกเป็นผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีถ้วนหน้า
สำหรับราคาลักลอบนำเข้าแรงงานเถื่อน จากชายแดนประเทศเพื่อนบ้านโดยมีปลายทางอยู่จังหวัดภาคกลาง คิดเป็นรายหัว ตั้งแต่ 15,000-20,000 บาท แต่ถ้าไปส่งถึงภาคใต้ หัวละ 35,000-40,000 บาท ส่วนชาวโรฮีนจา ลอบข้ามไปยังมาเลเซีย รายหัว 45,000-50,000 บาท จะมีเอเย่นต์ชาวมาเลเซีย มารอรับช่วงต่อ 3 จุดใหญ่ กลันตัน, เปอร์ลิส, เคดาห์
ปัจจุบันรายงาน สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2564 สหรัฐอเมริกายังคงจัดให้ประเทศไทย อยู่ใน กลุ่ม Tier 2 Watch List (บัญชีเฝ้าระวัง) ถือว่าถูกลดระดับลงมาจากเทียร์ 2 ทำให้การประชุม คณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน ได้สั่งการกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติภารกิจด้านการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการมอบนโยบายผวจ.ทั่วประเทศ บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และกลไกในระดับพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ให้ร่วมเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ตรวจตรา เพื่อป้องกันและแก้ไขการค้ามนุษย์ในทุกพื้นที่อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง
สนธิกำลังปฏิบัติการตัดวงจรภาคใต้
ในช่วงใกล้จะสิ้นปี เมื่อสัญญาณเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ หลังจากมีการจับกุมแรงงานเถื่อนเมียนมาได้บ่อยครั้ง ทำให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. และรอง ผอ.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ (ศพดส.) ซึ่งตามเกาะติดปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ได้เปิดปฏิบัติการสนธิกำลังกันหลายหน่วยและหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือ-ใต้ ทำให้จับกุมตัวกลุ่มผู้กระทำความผิดได้ใน 4 พื้นที่ ไล่ตั้งแต่ อ.แม่สอด จ.ตาก, อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี, อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต และอ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส รวม 4 คดี ผู้ต้องหา 14 คน 24 หมายจับ
ผลการสืบสวนขยายผลยังพบด้วยว่า ทั้ง 3 คดีมีความเกี่ยวข้องกัน มีผู้ร่วมกระทำผิดเป็นกระบวนการ มีความสัมพันธ์กันเป็น องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และฟอกเงิน มีการกระทำผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำเริ่มจากจัดหาคนจากประเทศเมียนมาส่งเข้ามาในประเทศไทยช่องทางธรรมชาติ ที่บริเวณ อ.แม่สอด แล้วจะมีกลุ่มคนที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว รับตัวเดินทางมาพักตามจุดต่าง ๆ ในประเทศไทย ที่กลุ่มผู้กระทำผิดได้เตรียมไว้ เช่น จ.ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา นราธิวาส จนถึงประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้พบว่าบางรายถูกกลุ่มผู้กระทำผิด กักขัง ขู่เข็ญ เพื่อเรียกเงินจากเหยื่อ และญาติ ให้ได้ตามจำนวนที่ต้องการด้วย
ในส่วนของทหารที่ดูแลรับผิดชอบตามแนวตะเข็บชายแดนนั้น พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ให้สัมภาษณ์ว่า ขบวนการค้ามนุษย์ถือเป็นภัยแทรกซ้อน ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีแผนในการปฏิบัติการปราบปรามอย่างเข้มงวด มีการจัดหน่วยทหารลาดตระเวนร่วมกับกำลังของ ตชด. และฝ่ายปกครอง ในจังหวัดที่มีแนวชายแดนติดกัน เรามีทั้งมาตรการป้องกันและจับกุมทั้งผู้ที่ลักลอบเดินทางไปขายแรงในมาเลเซีย รวมถึงชาวโรฮีนจาลักลอบเข้าเมือง ซึ่งในส่วนนี้นอกจากเป็นการหลบหนีเข้าเมืองแล้ว ยังอาจจะเป็นการนำโควิด-19 เข้ามาระบาดในประเทศด้วย กองกำลังของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงดำเนินการวางแผนตรวจเข้มและจับกุมมาต่อเนื่อง
ขณะที่ พล.ต.ท.นันทเดช ย้อยนวล ผบช.ภ.9 กล่าวถึงการป้องกันและปราบปรามแรงงานเถื่อนในพื้นที่รับผิดชอบตามเส้นทาง
ชายแดนช่วงนี้ว่า มีการสั่งการให้ ผบก.ภ.จว.ทุกจังหวัด จัดชุดป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยให้ป้องกันปราบปรามอย่างเข้มงวด ทั้งในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่ซึ่งมีการประกอบอาชีพประมงพาณิชย์ รวมถึงตามแนวพื้นที่จังหวัดชายแดน ที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จ.สงขลา สตูล และ นราธิวาส ซึ่งมีตะเข็บชายแดนติดกับประเทศมาเลเซีย และเป็นเส้นทางลักลอบส่งออกของขบวนการค้านมุษย์.