ออกกำลังเป็นกิจวัตร จึงวางใจว่าจะไร้ปัญหา
พุธนี้มีกรณีศึกษาผู้ป่วยชายวัย 65 ปีท่านหนึ่งซึ่งมีความชื่นชอบการสูบบุหรี่ตั้งแต่มีอายุราว 14-15 ปี หากนับระยะเวลาที่อยู่ในทำเนียบ “สิงห์อมควัน” ก็ถือว่านานกว่า 50 ปีทีเดียว และที่เจ้าตัวมีความชื่นชอบอีกอย่างได้แก่การออกกำลังกายที่ได้ประพฤติปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอโดยไม่มีปัญหาสุขภาพมาสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจแต่อย่างใด และเมื่อตอนที่คิดว่าวัยของตนเองก็เกินกว่า 60 ปีแล้วจึงไปเข้ารับการตรวจสุขภาพที่ “โรงพยาบาลสุขุมวิท” แต่ไม่พบว่ามีสิ่งใดผิดปกติ จนเวลาผ่านไปอีก 2 ปีก็ยังไม่รู้สึกว่าสุขภาพของตนเองมีอะไรผิดปกติหรือไม่ แต่เพื่อความไม่ประมาทท่านชายรายนี้จึงไปรับการตรวจอีกรอบและเผอิญว่า “โรงพยาบาลสุขุมวิท” ได้จัดเตรียม “โปรแกรมตรวจคัดกรองมะเร็งปอด” หรือLow Dose CT Scan ไว้พอดี จึงช่วยให้คุณผู้ชายท่านนี้ (ขอสงวนนาม) ได้ทราบความผิดปกติที่เกิดขึ้น…โดยเจ้าตัวได้เผยให้ทีมงาน “อุ่นใจ…ใกล้หมอ” ทราบดังนี้…
“…ผมไปรับการตรวจทั้ง ๆ ที่ไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด และยังคงออกกำลังกายตามปกติเรื่อยมา แต่ด้วยความที่เราอายุเกิน 60 แล้วก็เลยสงสัยว่าจุดบางจุดที่มันล่อแหลม เช่น ลำไส้นะครับ เอ่อ…มันมีปัญหาอะไรไหม เราก็เริ่มจากลำไส้ก่อน แต่บังเอิญที่ลำไส้ไม่มีปัญหา แต่กลับไปเจอว่าปอดไม่ค่อยดี ซึ่งพอเจอปุ๊บก็ขอให้คุณหมอขยายผลเลยว่ามีอะไรที่ควรต้องดูแล…ก็เลยเป็นที่มาของขั้นตอนในการผ่าตัดกลีบปอดด้านซ้ายออกไปครับ… จริง ๆ แล้วไม่เคยคิดว่าจะมีปัญหาอะไร แม้ว่าจะสูบบุหรี่มานานแล้วแต่เพราะเหตุที่เรายังออกกำลังกายได้ปกติ คืออายุอย่างผมนี่ออกกำลังกายครั้งละ 1 ชั่วโมง 40 นาที ถ้าว่างก็จะออกเช้าเย็นเลย จึงคิดว่าไม่น่ามีปัญหา แต่ที่จริงแล้วไม่สามารถบอกได้จนกว่าจะได้รับการตรวจแล้วถึงจะทราบว่ามันเข้าขั้นที่ไม่ค่อยดีแล้ว และจำเป็นต้องมาดูแลปอดมากขึ้น… จึงขอฝากมายังท่านที่สูบบุหรี่ที่อายุอาจจะยังไม่ถึง 50 หรือเกินกว่า 50 ปีแล้ว ควรไปรับการตรวจเพื่อจะได้รู้ว่าร่างกายเรายังปกติดีหรือจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับส่วนไหนหรือไม่นะครับ…”
“หมอจอแก้ว”ขอนำเนื้อหา รวมทั้งคำแนะนำจากท่านผู้ป่วยรายนี้ มาฝากถึงท่านผู้อ่านเพื่อสกัดกั้นป้องกันรักษาอายุการใช้งาน “ปอด” อย่างทะนุถนอมต่อไปนะครับ…
ตรวจวินิจฉัยได้ละเอียด ด้วยอุปกรณ์ไฮ-เทค
คราวนี้จะพาท่านไปติดตามรายละเอียดขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดย “ทีมแพทย์โรงพยาบาลสุขุมวิท” โดยเริ่มจาก “พญ.ญาดา หลุยเจริญ” อายุรกรรมโรคปอดและทางเดินหายใจ เป็นท่านแรก ซึ่งคุณหมอได้อธิบายสรุปว่า…
“…ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลเพราะต้องการตรวจเช็กสุขภาพประจำปี โดยที่ผู้ป่วยรายนี้ได้มาตรวจเช็กสุขภาพตามโปรแกรมเช็กสุขภาพของโรงพยาบาลเป็นระยะ ๆ โดยจะมีการตรวจเอกซเรย์แบบคัดกรองนะคะ ซึ่งหลังจากตรวจแล้วพบว่ามีจุดผิดปกติที่ปอด คือมีฝ้าขาว ซึ่งลักษณะเป็นจุดที่ปอด ดูแล้วผิดปกติจึงได้แนะนำให้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยละเอียดขึ้นด้วยการตรวจ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ปริมาณรังสีต่ำ ซึ่งภาพเอกซเรย์ที่ได้จะมีลักษณะเป็น 3 มิติที่สามารถบอกรายละเอียดของความผิดปกติได้ชัดเจนขึ้น ช่วยให้รู้ชัดถึงขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของจุดหรือเนื้องอกตรงนี้ และรู้ด้วยว่าจุดที่เกิดขึ้นในปอดไม่ได้ไปกดเบียดอวัยวะบริเวณอื่นใด แต่อยู่ตรงบริเวณกลีบปอดด้านซ้ายส่วนล่าง จึงได้แนะนำให้เขารักษาด้วยการตัดกลีบปอดเฉพาะในส่วนนี้ โดยไม่จำเป็นต้องตัดกลีบปอดออกทั้งหมดแม้ว่าตอนที่เจาะชิ้นเนื้อขนาดเล็กไปตรวจแล้วพบว่าเป็นมะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกก็ตามค่ะ… หลังจากตรวจพบแล้วจึงจะวางแผนการผ่าตัดรักษา โดยมีคุณหมอเฉพาะทางด้านผ่าตัดศัลยกรรมทรวงอกโดยตรง โดยใช้อุปกรณ์การผ่าตัดที่ถึงพร้อมด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัด เพื่อรองรับโดยเฉพาะค่ะ…”
จากนั้น “คุณหมอญาดา” ได้ให้ความรู้เสริมเกี่ยวกับอุปกรณ์การตรวจ-วินิจฉัย ที่ “โรงพยาบาลสุขุมวิท” ได้จัดเตรียมความพร้อมสำหรับการดูแลทั้งผู้มีสุขภาพดีตลอดไปถึงผู้ป่วยทุกราย ซึ่งไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีอาการใด ๆ ก็แนะให้ตรวจสุขภาพเพื่อความมั่นใจ เนื่องจาก “โรงพยาบาลสุขุมวิท” ได้จัดเตรียมเครื่องมือและโปรแกรมการตรวจคัดกรอง-ส่งเสริมสุขภาพให้เลือกอย่างหลากหลายไว้รองรับโดยเฉพาะ ดังที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้คือ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ ใช้ปริมาณรังสีต่ำ หรือ “Low Dose CT Scan” ซึ่งนอกจากผู้ป่วย/ผู้เข้ารับการตรวจจะปลอดภัยจากรังสีมากขึ้นแล้ว ผลการตรวจวินิจฉัยที่ได้รับจะมีความแม่นยำและเป็นประโยชน์ในขั้นตอนการรักษาต่อไปอีกด้วย
เทคโนฯการแพทย์ช่วยลดขนาดแผล แม้ผ่าตัดที่ปอด
ขั้นตอนที่เหลือก็คือ “การผ่าตัดรักษา” หลังจากพบและยืนยันว่าผู้ป่วยมี “มะเร็งปอด” แน่นอนแล้ว คุณหมอผู้รับหน้าที่ผ่าตัดให้ผู้ป่วยชายรายนี้คือ “นพ.ชนาพงษ์ กิตยารักษ์” ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมทรวงอก ประจำ “ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลสุขุมวิท” ซึ่งหลังจากผ่านพ้นภารกิจสำคัญครั้งนี้แล้วได้อธิบายให้ข้อมูลสรุปได้ว่า…
“…จริง ๆ แล้วผู้ป่วยชายวัย 65 ปีท่านนี้ไม่ได้มีอาการใด ๆ แต่ได้มาเข้าโปรแกรมการตรวจสุขภาพเบื้องต้น ซึ่งมีโรคประจำตัวคือ เบาหวาน ไขมัน ความดัน มีประวัติดื่มสุราและสูบบุหรี่มาอย่างโชกโชน ซึ่งหลังจากตรวจสุขภาพช่องท้องด้วยการส่องกล้องแล้วไม่พบความผิดปกติ แต่หลังจากได้ตรวจเอกซเรย์ปอดแล้วเราพบจุดน่าสงสัยที่ปอดกลีบซ้ายล่างครับ ก็เลยส่งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อยืนยันว่าอาจมีโอกาสเป็นมะเร็ง คือเป็นจุดที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ที่ปอดกลีบซ้ายล่าง ซึ่งแม้จะยังไม่สามารถยืนยันมะเร็งได้ก็ไม่ควรปล่อยก้อนขนาดนี้เอาไว้ จึงได้พูดคุยให้เข้าใจถึงข้อดีข้อเสียรวมทั้งทางเลือกในการรักษา ซึ่งถ้าเราพิจารณาระยะของโรคแล้วเห็นว่ายังอยู่ในระยะต้นแล้วการผ่าตัดสามารถทำได้ หมอก็จะแนะนำผ่าตัดทุกรายเพราะเป็นหนทางดีที่สุดที่สามารถทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดและมีชีวิตยืนยาว และผู้ป่วยก็เลือกเข้ารับการผ่าตัดครับ…
ปัจจุบันนี้การผ่าตัดมะเร็งปอดกว่า 90% สามารถผ่าได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็กจากเดิมที่ขนาดของแผลผ่าตัดนั้นขึ้นอยู่กับขนาดตัวของคนไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่ 8 หรือ 10 ไปจนถึง12 เซนติเมตร แต่ทุกวันนี้การผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีส่องกล้องแผลเล็กจะเกิดแผลขนาดประมาณ 4 เซนติเมตร ช่วยลดการบาดเจ็บให้เหลือน้อยลง ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวได้ไวขึ้นและสามารถคืนสู่การใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติในเวลาที่รวดเร็วขึ้น… การผ่าตัดรักษามะเร็งปอดที่เป็นมาตรฐานนั้นจะต้องตัดปอดออกทั้งกลีบไม่ว่าก้อนจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่เพียงใด อย่างเช่นผู้ป่วยรายนี้มีก้อนที่ปอดกลีบซ้ายล่าง เราก็สามารถรักษาด้วยการตัดปอดออกเฉพาะทั้งกลีบซ้ายล่าง ซึ่งร่างกายเรามีความมหัศจรรย์คือปอดกลีบซ้ายบนจะสามารถขยายตัวมาทำงานชดเชยได้ ซึ่งคงต้องใช้เวลาโดยที่ผู้ป่วยเองก็จะต้องเข้าสู่กลไกการฟื้นฟูสมรรถภาพด้วย แต่ในระยะยาวถ้าผู้ป่วยมีคุณภาพปอดที่ดีอยู่แล้วการตัดปอดออกเพียง 1 กลีบเขาก็ยังสามารถคืนสู่การใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนปกติเต็มที่นะครับ…”
“คุณหมอชนาพงษ์” ได้ฝากข้อคิดมายังท่านผู้อ่าน ประชาชนคนทั่วไปที่คิดว่าตัวเองมีความเสี่ยง ควรมีการตรวจคัดกรองเบื้องต้น โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการสูบบุหรี่จัด สูบมาตั้งแต่อายุยังน้อย สูบวันละหลาย ๆ ซอง หลาย ๆ มวน หรือมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอดก็จะยิ่งมีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปอดสูงขึ้นอีก ก็ยิ่งต้องคิดถึงการตรวจคัดกรองเบื้องต้นให้มาก โดยสามารถติดต่อตามสถานพยาบาลใกล้บ้านหรือที่ท่านสะดวก และหากตรวจพบหรือสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งก็ขอแนะนำให้เข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างเร็วที่สุด… จะได้มีโอกาสพ้นภัย “มะเร็งปอด” ได้อย่างมั่นใจครับ…
หมอจอแก้ว