ทั้งนี้ 7.5 หมื่นล้านบาท!!นี่คือมูลค่าตลาดมหาศาล มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในไทย ที่ทาง ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) ได้ประเมินไว้ แถมมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่กรณี“Pet Humanization – เลี้ยงสัตว์ทดแทนลูก”พฤติกรรมดังกล่าวนี้ก็ถูกนำมาวิเคราะห์เจาะลึกไว้ ที่วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล…

ในแง่ “ปรากฏการณ์ทางสังคม” นั้น

กรณีนี้ “ฉายภาพปฏิกิริยาอารมณ์คน”

รศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน

เกี่ยวกับการ “เลี้ยงสัตว์ทดแทนการมีลูก” ที่มีศัพท์เรียกรูปแบบความสัมพันธ์ลักษณะนี้ว่า “Pet Humanization” นั้น ทาง รศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน นักวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการสะท้อนกรณีนี้ไว้ใน วารสารประชากรและการพัฒนา ปีที่ 45 ฉบับที่ 1 ต.ค.-พ.ย. 2567 โดยสังเขปมีว่า… เมื่อประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มการ อยู่เป็นโสด หรือ แต่งงานแล้วไม่ต้องการมีบุตร เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมี ผู้อยู่ในวัยเกษียณที่ต้องอาศัยอยู่คนเดียวเพียงลำพัง เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยตกอยู่ในสภาวะ “อ้างว้างโดดเดี่ยว” หรือ “ซึมเศร้าจากความเหงา”

ทำให้หลายคน“หาวิธีชดเชยความรู้สึก”

สัตว์เลี้ยง”เป็นคำตอบที่“ช่วยเติมเต็ม”

ทางนักวิจัยท่านดังกล่าวสะท้อนไว้อีกว่า… ขณะนี้ในสังคมไทยมีคนจำนวนมากที่มีแนวโน้มจะต้องอยู่ลำพังคนเดียว ทำให้หลายคน กลัวที่จะต้อง “ป่วยทางจิต” หรือ “มีปัญหาสุขภาพจิต” อันเกิดขึ้นจากความเหงา ความรู้สึกไร้ค่า ซึ่งความกังวลและความกลัวว่าตนเองจะเกิดปัญหาสุขภาพจิต ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะ “เลี้ยงสัตว์” โดยในช่วงแรก ๆ นั้นบางคนอาจจะเลี้ยงสัตว์เอาไว้แค่เพียงเพื่อให้หายเหงาเท่านั้น แต่พอระยะเวลาผ่านไปก็อาจ “รู้สึกผูกพัน” มากขึ้นเรื่อย ๆ…

สัตว์เลี้ยงกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต”

เป็น “ส่วนสำคัญของชีวิตครอบครัว”

และจากการที่คนยุคนี้จำนวนมากต้องอยู่ภายใต้ “สังคมเหงา” เช่นนี้ นี่ก็เลยยิ่งง่ายมากขึ้นที่จะทำให้มุมมองที่มีต่อสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต ที่จากเดิมอาจเลี้ยงไว้เป็นเพื่อน แต่สมัยนี้บางคนมองว่า “สัตว์เลี้ยงคือสมาชิกสำคั

ของครอบครัว” ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หลาย ๆ คนนั้นจะ เลี้ยงสัตว์ในลักษณะใกล้เคียงกับการเลี้ยงลูก จึงเกิดคำว่า Pet Humanization”ขึ้นมา เพื่อใช้อธิบายถึงทัศนคติและมุมมองที่เปลี่ยนไปของคน …รศ.ดร.ศุทธิดา วิเคราะห์ไว้ถึงพฤติกรรมนี้

ที่เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่พบได้มากในยุคนี้

นอกจากนั้น ทางนักวิจัยท่านเดิมยังได้สะท้อน “ปรากฏการณ์” นี้เอาไว้ต่อไปว่า… ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ได้ส่งผลต่อ ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์และสัตว์ ที่ปัจจุบันนี้สัตว์เลี้ยงกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตผู้คน สังเกตได้จาก “สรรพนามที่ใช้เรียก” แทนตนเองและสัตว์ที่เลี้ยงดู และนอกจากนี้ หลายคนก็ยัง พร้อมที่จะ “ทุ่มเทการดูแลให้สัตว์ที่เลี้ยง” แบบไม่มีข้อจำกัด ทั้งเวลาที่มอบให้สัตว์เลี้ยง รวมถึงเงินทองที่ยอมจ่ายเพื่อแลกกับคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงที่ดีขึ้น

นอกจากเหงาแล้ว ก็มาจากค่านิยมการมีบุตรเปลี่ยนไป โดยคู่แต่งงานหลายคู่ไม่อยากมีลูก เพราะกังวลกับค่าใช้จ่ายที่มีต้นทุนสูงขึ้น และอาจเกิดจากค่านิยมคนรุ่นใหม่ที่รักอิสระ ทำให้ไม่อยากแต่งงาน แต่อยากอยู่เป็นโสด เพราะต้องการหาประสบการณ์ชีวิต ต้องการก้าวหน้าในหน้าที่การงาน” …เป็นการวิเคราะห์ “ปัจจัยกระตุ้น” เรื่องนี้

ทั้งนี้ ทางนักวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ได้ระบุถึงเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า… เคยมีผลสำรวจเกี่ยวกับจำนวนคนที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงแบบ Pet Humanization” นี้ โดยเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลของ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้เก็บข้อมูลจากคนไทย 1,046 คน ที่มีอายุระหว่าง 24-41 ปี โดยพบว่า… กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 49% ยอมรับว่าเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นลูก และกว่า 39% ตอบว่า…พร้อมยอมจ่ายเพื่อเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงของตนเอง โดยระดับค่าใช้จ่ายจะผกผันไปตามมุมมองที่มีต่อสัตว์เลี้ยงของผู้เลี้ยง กล่าวคือ หากมองสัตว์เลี้ยงเป็นลูก ค่าใช้จ่ายก็จะยิ่งสูงเพิ่มขึ้นซึ่งหลายคนนั้น…

พร้อมที่จะทุ่มเททั้งเงินทองและเวลาที่มี…

เพื่อการ“ดูแลสัตว์เลี้ยงให้ดีมากที่สุด”

และทาง รศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน ยังได้วิเคราะห์ถึง “ปรากฏการณ์ Pet Humanization นี้ไว้ว่า… ในมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ “สัตว์เลี้ยง” นั้นช่วย เติมเต็มอารมณ์ความรู้สึกที่เว้าแหว่งของคนยุคนี้ ได้มาก ทำให้หลายคนมีชีวิตชีวามากขึ้น หรือทำให้มีเป้าหมายชีวิต อยากที่จะมีชีวิตยืนยาวต่อไป แต่…หากมองในแง่มุมประชากรแล้วปรากฏการณ์นี้ก็อาจจะทำให้มีปัญหาโครงสร้างประชากร เนื่องจากการเลือกที่จะเลี้ยงสัตว์ทดแทนการมีบุตรส่งผลให้อัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง จนมีผลกระทบกับจำนวนประชากรวัยทำงานของไทย ที่มีน้อยลงตามไปด้วย …นี่เป็นภาพสะท้อนอีกหนึ่งปรากฏการณ์สังคมยุคนี้

ยุคที่ “ความรู้สึกเว้าแหว่ง” เกิดขึ้นมาก

จน “เกิดพฤติกรรม Pet Humanization

ไม่มีลูก…แต่ “เลี้ยงสัตว์ทดแทนลูก”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์