สินค้าเกษตรส่วนใหญ่ทุกคนมองราคาเป็นเกณฑ์ แต่ที่จริงแล้วการทำธุรกิจสินค้าเกษตรจะอยู่รอดหรือไม่รอดอยู่ที่ต้นทุน ยิ่งบริหารจัดการต้นทุนได้ดีเท่าไรโอกาสรอดก็ยิ่งมากขึ้น” เป็น “เคล็ดลับธุรกิจ” ที่ผู้ประกอบการ “ธุรกิจไก่ไข่” พื้นที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา แนะนำไว้เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้ธุรกิจ ที่วันนี้คอลัมน์นี้มีข้อมูลนำมาฝากกัน…

สุพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์ ผู้ประกอบการ “ฟาร์มไก่ไข่ระพีพัฒน์” ที่เป็นหนึ่งในเอสเอ็มอีที่ทาง ชมรมบัวหลวง SME และ ธนาคารกรุงเทพ ได้ให้การสนับสนุน ได้เล่าถึงที่มาที่ไปของธุรกิจนี้ให้ฟังว่า ฟาร์มไก่ไข่แห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยเป็นฟาร์มไก่ไข่ที่เปิดกิจการมานานกว่า 47 ปีแล้ว โดยเริ่มต้นจากฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ แต่ต่อมาตลาดมีการแข่งขันสูงขึ้น ทำให้ฟาร์มขนาดเล็กสู้ด้วยยาก เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาทำฟาร์มไก่ไข่ เนื่องจากเมื่อ 40 กว่าปีก่อนนั้น ฟาร์มขนาดใหญ่ยังไม่มีรายได้สนใจตลาดตรงนี้มากนัก แต่สุดท้ายฟาร์มใหญ่ ๆ ก็หันมาเล่นตลาดนี้ เขาจึงตัดสินใจว่าจะต้องหาวิธีการหรือกลยุทธ์มาใช้สู้กับคู่แข่งเพื่อความอยู่รอด โดยมองไปที่การ “บริหารจัดการต้นทุน” จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนฟาร์มไก่ไข่เดิมให้สามารถผลิตสินค้าได้ครบวงจร พร้อมกับบอกเพิ่มเติมว่า ด้วยความที่เคยเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์มาก่อน จึงมองว่าสินค้าเกษตรมีวัฏจักรเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และราคาก็มีขึ้นลงตลอดเวลา ดังนั้น ถ้าจะอยู่รอดก็จะต้องรู้วิธีทำให้ต้นทุนลดลง เพราะถ้าต้นทุนต่ำ เวลาขาดทุนก็จะขาดทุนน้อย

ผู้ประกอบการคนเดิมยังระบุเพิ่มอีกว่า ที่ฟาร์มระพีพัฒน์จะเน้นเรื่องของการลดต้นทุนเป็นหลัก โดยพัฒนาจากโรงเรือนเปิดมาเป็นโรงเรือนปิดเพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้คงที่ เพื่อไก่อยู่สบาย และเป็นการป้องกันโรค กับทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ต่อจากนั้นก็ขยับมาทำเป็นฟาร์มไก่ไข่แบบครบวงจรโดยเลี้ยงไก่ไข่และซื้อลูกไก่มาเพาะเลี้ยงให้เป็นไก่สาว รวมถึงผลิตอาหารสัตว์ เอง ซึ่งการทำฟาร์มครบวงจรแบบนี้ ทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ หลังปรับแนวคิดธุรกิจแล้ว ทำให้ลดต้นทุนลงไปได้ประมาณ 25 สตางค์ ต่อไข่ไก่ 1 ฟอง และด้วยความที่เทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเมกะเทรนด์ของโลกธุรกิจยุคใหม่ ฟาร์มจึงต้องปรับเปลี่ยนมาเน้นการเป็น “ฟาร์มสีเขียว” ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้ไม่มีของเสียออกไปจากฟาร์ม โดยมูลของไก่ในฟาร์ม 40 ตันต่อวัน จะถูกนำไปจัดการให้เป็น Zero Waste ด้วยการนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงไบโอแก๊ส เพื่อใช้เป็นพลังงานผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในฟาร์มได้แบบ 100% ทำให้ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าลงไปได้ แถมยังเป็นการทำธุรกิจที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนอีกด้วย และนี่เป็นกรณีศึกษาจาก “เอสเอ็มอีเกษตร” ซึ่งมีแนวคิดในการปรับตัวที่น่าสนใจ และน่าที่ผู้ประกอบการอื่น ๆ สามารถนำไปศึกษาปรับใช้ได้.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ [email protected]