ทั้งนี้ “ภัยน้ำท่วม” ในประเทศไทยปีนี้ก็หนักหนาสาหัสมาก ๆ ก็สร้างความสูญเสียให้กับคนไทยจำนวนมากมาย ความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้นก็มีทั้งที่เป็นทรัพย์สิน ชีวิต ร่างกาย และจิตใจ ซึ่ง “ผู้ประสบภัยน้ำท่วม” ก็มีรายที่เคราะห์ร้ายถึงขั้นสูญเสียชีวิต หรือสูญเสียชีวิตคนใกล้ชิดไปกับภัยที่เกิดขึ้น ขณะที่ “ผู้ประสบภัยที่สูญเสียและต้องเผชิญชีวิตต่อไป” ก็จำเป็น “ต้องได้รับการช่วยเหลือฟื้นฟู”…

“ช่วยเหลือฟื้นฟูจิตใจ” นี่ ก็สำคัญ”

ถือเป็น “ภารกิจ” ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ภาคส่วนอื่น ๆ “พอช่วยได้ก็น่าช่วย“

เกี่ยวกับการ “ช่วยเหลือฟื้นฟูดูแลจิตใจเหยื่อประสบภัย” จริง ๆ ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้เคยสะท้อนต่อข้อมูลไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม จาก “ภัยน้ำท่วมรุนแรงวิกฤติ” ที่เกิดขึ้นอีกกับคนไทยจำนวนมากนั้น ณ ที่นี้ในวันนี้ก็ขอสะท้อนย้ำข้อมูลเรื่องนี้ไว้อีก ซึ่งมิใช่เพื่อกระตุ้นเตือนภาครัฐที่เกี่ยวข้อง…เพราะก็ย่อมมีการดำเนินการตามภารกิจอยู่แล้ว หากแต่การสะท้อนย้ำข้อมูลเรื่องนี้ก็ด้วยมุ่งหวังร่วมถ่ายทอดความเข้าใจ ทั้งกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ประสบภัย และกับภาคส่วนอื่น ๆ

ทั้งนี้ การช่วยเหลือฟื้นฟูดูแลจิตใจผู้ประสบภัย เรื่องนี้มีชุดข้อมูลที่จัดทำโดย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในชื่อ “คู่มือการปฏิบัติงานทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติ (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT)” เพื่อใช้สำหรับเป็นแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยวิกฤติ ซึ่งข้อมูลนี้บุคคลทั่วไป เจ้าหน้าที่ที่มิได้เกี่ยวข้องโดยตรง เข้าใจกันไว้ด้วยก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยผู้ประสบภัย

“เจอภัยน้ำท่วม” นั้น จิตใจก็กระทบ”

โดย “การดูแลจิตใจแบ่งเป็น 4 ระยะ”

ในคู่มือดังกล่าวระบุถึง 4 ระยะที่ว่านี้ไว้ว่า… เป็น ช่วงเวลาที่ตอบสนองต่อสถานการณ์หรือเหตุการณ์วิกฤติที่ได้เผชิญ ซึ่งมีการชี้ไว้ว่า… ช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่ ผู้ประสบภัยต้องการความช่วยเหลือ” ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ” เนื่องจาก… หลังเผชิญเหตุการณ์ร้าย ๆ เหยื่อย่อมจะมีความเครียด วิตกกังวล หรือหวาดผวา หรือซึมเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวังโดยจะแสดงออกมาผ่าน “ปฏิกิริยาทางร่างกายกับจิตใจ” แตกต่างกันแต่ละช่วงเวลา ที่สามารถใช้เป็น “หลักสังเกตสัญญาณเตือน” เพื่อให้ดูแลอย่างเท่าทัน เพื่อจะไม่ให้เกิดเรื่องเศร้าไม่พึงประสงค์

ช่วงเวลาตอบสนองต่อเหตุการณ์ของ “เหยื่อภาวะวิกฤติ-เหยื่อภัย” นั้นมี “4 ระยะที่ต้องเฝ้าระวัง” ซึ่งในคู่มือโดยกรมสุขภาพจิตระบุถึงการแบ่งระยะไว้ดังนี้คือ… 1.ระยะเตรียมการ, 2.ระยะวิกฤติและฉุกเฉิน, 3.ระยะหลังเกิดเหตุการณ์, 4.ระยะฟื้นฟู โดยแต่ละระยะก็มีแนวทางช่วยเหลือต่างกัน รวมถึงแต่ละช่วงเวลาก็มีการแยกย่อยลงไปอีก โดยเฉพาะ ระยะที่ 2 ระยะวิกฤติและฉุกเฉิน ที่จะ ยิ่งต้องมีการเฝ้าระวังสภาพจิตใจของเหยื่ออย่างใกล้ชิด ซึ่งข้อมูลโดยสังเขป มีดังนี้…

ระยะที่ 2 ระยะวิกฤติและฉุกเฉิน แบ่งเป็น “ระยะวิกฤติ” หรือ ตั้งแต่เกิดเหตุ ต่อเนื่องไป 72 ชั่วโมง โดยผู้ประสบภัยจะตื่นตัว
ทางสรีระและพฤติกรรม จากการใช้พลังไปมากเพื่อให้รอด จากนั้นจะค่อย ๆ เกิดความเครียด หวาดผวา หวาดกลัว ช็อก วิตกกังวล สับสน ซึ่งการช่วยเหลือให้มุ่งช่วยเหลือเฉพาะหน้า เน้นช่วยตามสภาพความเป็นจริง โดยต้องช่วยให้ตรงตามความต้องการเป็นหลักซึ่งช่วงนี้ “ด้านจิตใจถือเป็นระยะสำคัญ” ที่..”จะต้องปฐมพยาบาลจิตใจแก่เหยื่อ” ด้วย

และอีกช่วงของระยะที่ 2 คือ “ระยะฉุกเฉิน” หรือ ช่วง 72 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ ต่อเนื่องไป 2 สัปดาห์ โดยช่วงนี้ เหยื่อหรือผู้ประสบภัย ผู้สูญเสีย หรือผู้รอดชีวิต จะมองโลกในแง่ดีได้ก็จากการช่วยเหลือที่มีเข้ามามาก และจากการที่สังคมให้ความสนใจ ก็จะส่งผลทำให้เกิดกำลังใจว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ ซึ่งกับช่วงนี้เป็นช่วงที่สามารถสำรวจข้อมูล สถานการณ์ ความต้องการของผู้ประสบภัย ได้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลวางแผนให้ความช่วยเหลือเหยื่ออย่างตรงจุด

ถัดมา ระยะที่ 3 ระยะหลังเกิดเหตุการณ์และได้รับผลกระทบ เป็นช่วงตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือน นับตั้งแต่เกิดเหตุ ที่ผู้ประสบภัยเริ่มเผชิญความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่งแม้มีความหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือ แต่อาจ เริ่มรู้สึกไม่แน่ใจเรื่องการช่วยเหลือ จากการที่การช่วยเหลือเริ่มน้อยลง ก็จะเครียด วิตกกังวล ท้อแท้ ซึมเศร้า เพราะไม่แน่ใจในอนาคต

ทั้งนี้ เมื่อผ่านระยะ 3 ได้ก็เข้าสู่ ระยะที่ 4 ระยะฟื้นฟู ช่วง หลังเกิดเหตุ 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งผู้ประสบภัยก็ยังควรได้รับการดูแล โดยเน้นส่งเสริม บำบัด ฟื้นฟูสุขภาพจิต ป้องกัน “ความพิการทางจิตใจ (Early Detection and Early Intervention)” ตามสภาพปัญหา ซึ่งการดูแลโดยเจ้าหน้าที่ เช่น ให้คำปรึกษา ให้ยา บำบัดจิตใจเพื่อปรับพฤติกรรม สอนทักษะคลายเครียด

…เหล่านี้เป็น “4 ช่วงระยะเวลาที่เหยื่อมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อภัยวิกฤติ” ที่เกิดขึ้น ที่รวมถึง “ภัยน้ำท่วมวิกฤติ” ที่ก็ “ต้องเฝ้าระวัง-ต้องช่วยให้ถูกจุด” เพื่อ “สกัดปัญหาสุขภาพจิตเรื้อรังเจ็บป่วยทางจิต” ที่ “ก็น่าร่วมด้วยช่วยกันสกัด”

“เผชิญภัยน้ำท่วม” ก็ อาจจะจิตป่วย”

“ช่วยฟื้นใจ” นี่ ช่วยได้ช่วยกันด้วย”

ช่วยกัน “สกัดเรื่องเศร้า…คิดสั้น!!”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์