ภาพยนตร์“วิมานหนาม”ที่กำลังเป็นกระแสเล่าเรื่องถึงความไม่เท่าเทียมในสังคมไทยหลากหลายแง่มุม เป็นที่น่ายินดีว่าคนพิการทางการมองเห็นสามารถเสพความบันเทิงของหนังได้ผ่านแอปพลิเคชันพรรณนา (Pannana)
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัท กล่องดินสอ จำกัด มูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการ แถลงผลการดำเนินงานของแอปพลิเคชันพรรณนา (Pannana) และภาคเอกชน SF Cinema – GDH ร่วมจัดฉายภาพยนตร์วิมานหนามรอบพิเศษ สำหรับคนพิการทางการเห็น ภายใต้โครงการดูหนังด้วยกัน (Movie2gether) พร้อมมอบรางวัล Friends of Pannana ให้กับองค์กรต่าง ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการเข้าถึงบริการเสียงบรรยาย ภาพในสื่อภาพเคลื่อนไหวของคนพิการทางการเห็น
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส กล่าวว่า สสส. สนับสนุนมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการ ภายใต้โครงดูหนังด้วยกัน (Movie2gether) พัฒนาแอปพลิเคชั่นพรรณนา (Pannana) ตั้งแต่ปี 2560 สร้างการมีส่วนร่วม และขยายเครือข่ายโดยเฉพาะคนตาบอดที่มีจำนวน 1.9 แสนคนได้เป็นผู้ใช้งาน ขับเคลื่อนงานร่วมกับค่าย GDH เกิดกิจกรรมดูหนังพร้อมกันในโรงภาพยนตร์เป็นครั้งแรกระหว่างคนพิการทางการเห็น และคนอื่น ๆ ในสังคม และได้รับความร่วมมือจากโรงภาพยนตร์ในเครือ SF ให้ส่วนลดสำหรับคนพิการทางการเห็นและการได้ยิน โดยเปิดให้มีบัตรสมาชิกสำหรับคนพิการทุกประเภท และปีนี้ สสส. ภาคีเครือข่าย ยกระดับการเข้าถึงบริการเสียงบรรยายภาพให้ครอบคลุมสื่อทุกประเภท ด้วยความร่วมมือหลายภาคส่วน เช่น Thai PBS, MONO Max, Transformation Films, Be On Cloud, VIU, ช่อง YouTube “The Gaijin trips แบกเป้เที่ยวคนเดียว” ที่ทำเสียงบรรยายภาพลงแอปฯ พรรณนา พร้อมพัฒนางานทำเสียงอย่างต่อเนื่องกับคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้การชมภาพยนตร์ของคนพิการมีอรรถรส และเท่าเทียมกัน
“สสส. ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แอปฯ พรรณนาเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ช่วยให้คนพิการทางการเห็น มีกิจกรรมร่วมกับเพื่อนหรือครอบครัว นอกเหนือจากคนพิการได้ออกจากบ้าน ได้เข้าร่วมกิจกรรมทั่วไปแล้ว ยังทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และสร้างการเรียนรู้ การเข้าใจ และการยอมรับจากคนในสังคม ไม่แปลกแยก ทุกคนเกิดความเคยชิน ไม่เห็นความแตกต่าง สถานที่สาธารณะถูกปรับปรุงให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงได้ ทำให้คนพิการได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม” นางภรณี กล่าว
นายฉัตรชัย อภิบาลพูนพล ประธานมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม กล่าวว่า ที่ผ่านมา ภาพยนตร์ที่มีเสียงบรรยายสำหรับคนพิการทางการเห็น ส่วนใหญ่จะเปิดลักษณะการเปิดรอบพิเศษ ดังนั้นจึงหารือร่วมกับหลายหน่วยงานจนเกิดความร่วมมือเป็นแอปฯ พรรณนานวัตกรรมความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการเสียงบรรยายภาพของคนพิการทางการเห็นให้ใช้งานสะดวก สามารถพกพาไปทุกที่ ใช้หูฟังข้างหนึ่งฟังเสียงบรรยายภาพจากแอปฯ พรรณา ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม
ปัจจุบันมียอดดาว์นโหลด 10,880 ครั้ง มีค่ายภาพยนตร์ 7 แห่ง ร่วมสนับสนุนการทำเสียงบรรยายภาพใช้แอปฯ พรรณนา โดยมี ภาพยนตร์ 57 เรื่อง ซีรีส์ 10 เรื่อง รวม 97 ตอน และจัดกิจกรรม Roadshow กว่า 20 ครั้งในหลายจังหวัด เป็นการสร้างความ inclusive คือคนพิการไม่ถูกแบ่งแยกจากคนอื่น ๆ ในสังคม ทำให้คนพิการทางการเห็นมีทางเลือกในการรับชมสื่อภาพเคลื่อนไหว แบบมีบริการเสียงบรรยายภาพเพิ่มมากขึ้น คนพิการทางการเห็น สามารถดาวน์โหลดแอปฯ พรรณนา (PANNANA) ได้ที่ Google Play หรือ App Store และสามารถเข้าชมภาพยนตร์เรื่อง วิมานหนาม ได้ในโรงภาพยนตร์แล้ววันนี้