“อลวน-อลเวง” กรณี “พูดจริง?-พูดปด?“ในสังคมไทยยุคนี้มีกระแสครึกโครมต่อเนื่องในแวดวง-ในเรื่องต่าง ๆ โดยเรื่องหนึ่งที่ก็มีกระแสใหญ่เรื่อย ๆ คือ “ถูกหวยจริง?-ถูกหวยทิพย์?” ที่ล่าสุด “ถูกหวย 90 ล้าน??” ก็อื้ออึง…ก็ว่ากันไป อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมทั่ว ๆ ไป กับกรณี “โกหก“ นั้น เมื่อเกิด “กระแสโป๊ะแตกอื้ออึง” ก็มักตามมาด้วย “กระแสปุจฉาเซ็งแซ่”…

ประมาณว่า ทำไมคน ๆ นั้นโกหก?“
และ “มีเทคนิคอะไรที่จะใช้จับโกหก?“

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “ปุจฉา” นี้…ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลน่าสนใจ จากที่ทาง ผศ.ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา อาจารย์ แขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายไว้ผ่านรายการวิทยุ “จิตวิทยาเพื่อคุณ” คลื่นวิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz โดยระบุไว้ถึง “เคล็ดลับจับโกหก” โดยสังเขปมีว่า… ในต่างประเทศมีนักจิตวิทยาร่วมกันตั้งคำถามถึง “การโกหก” ว่า… คิดว่าการโกหกเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน? และเพื่อค้นหาคำตอบเรื่องนี้จึงมีการศึกษาวิจัยโดยให้ผู้เข้าร่วมวิจัยจดบันทึกประจำวันอย่างละเอียด ซึ่งมีผลวิเคราะห์ที่พบว่า… คนทั่ว ๆ ไปมักพูดโกหกเฉลี่ยวันละ 1-2 ครั้งสะท้อนว่าทุกวันคนเรามีโอกาสจะเจอคำโกหกทั้งจากผู้อื่น รวมถึงตัวเองที่พูดโกหก

แล้ว ทำไมต้องพูดโกหก? สำหรับคำถามนี้ ผศ.ดร.ทิพย์นภา อธิบายไว้ว่า… เหตุผลของการโกหก” มีตั้งแต่การทำ เพื่อผลประโยชน์ เพื่อความสะดวกสบายของตัวเองหรือ เพื่อปกปิดการกระทำ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ เช่น การกระทำที่ผิดศีลธรรม ผิดจริยธรรม อย่างไรก็ตาม แต่ก็ยังพบความน่าสนใจด้วยว่า…บ่อยครั้งการโกหกที่เกิดขึ้นมีเป้าหมาย เพื่อปกป้องจิตใจ ทั้งของตนเอง และผู้อื่น จากความเจ็บปวด หรือจากความขัดแย้ง ความไม่ลงรอยกัน ทั้งนี้ บางคนก็อาจเล่าเรื่องโกหกที่ทำให้ตนดูดีในสายตาคนอื่น เพื่อให้ดูโก้หรู ดูเก่งกว่าความจริง เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดีกับตนเองได้ชั่วคราว

อาจารย์แขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุไว้อีกว่า… การโกหกเป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในคนที่ทำความผิดร้ายแรง ที่โกหกเพื่อจะเอาตัวรอดจากการสืบสวนสอบสวน แต่ การโกหกเกิดขึ้นได้รอบตัวเรา เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันจากปากคนรอบข้างที่เราสนทนาด้วย ดังนั้น บางครั้งก็จำเป็น ก็ควรรู้ “วิธีจับโกหก“ เอาไว้บ้าง เพื่อที่จะนำมาใช้จับสัญญาณ หรือใช้เพื่อสังเกตเบาะแส เมื่อสงสัยคู่สนทนา หรือสงสัยว่า…

คนที่กำลังพูดอยู่กำลังโกหกหรือไม่??

วิธีคือ…“จับโกหกจากสัญญาณพฤติกรรม“ เช่น สัญญาณด้านอารมณ์ความรู้สึก เมื่อคนเราพูดโกหก มักจะรู้สึกกลัวการถูกจับได้ หรือละอายใจที่พูดโกหก ทำให้การแสดงอารมณ์ความรู้สึกจะไม่ตรงกับอารมณ์ความรู้สึกจริง จึงมักจะ มีร่องรอยอารมณ์ที่ซ่อนอยู่รั่วไหลออกมา ผ่านสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง ซึ่งเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติที่ยากจะควบคุมให้แนบเนียนได้ โดยสังเกตดูจาก… พูดด้วยน้ำเสียงสูงกว่าปกติ พูดเร็วและดังกว่าปกติ พูดติดขัดหรือพูดผิดบ่อย และสัญญาณดังกล่าวจะยิ่งชัดเจนขึ้น หากเป็นเรื่องเสี่ยง และผู้พูดรู้สึกว่าถูกจับตามองอยู่ …นี่เป็น “สัญญาณโกหก“ที่ “กลัวถูกจับได้”

ทั้งนี้ กรณีคนโกหกที่ “รู้สึกละอายใจ” ทาง ผศ.ดร.ทิพย์นภา ระบุไว้ว่า… สัญญาณต่าง ๆ มักจะแสดงออกมาผ่านการ พูดด้วยน้ำเสียงต่ำกว่าปกติ พูดช้า สีหน้าเศร้า ชอบเหลือบตามองลงต่ำบ่อย ๆ ส่วนกรณีที่เป็นการโกหกเพื่อ “ซ่อนความรู้สึกที่แท้จริง” เอาไว้นั้น สัญญาณมักจะแสดงออกมาให้เห็นในเฉพาะช่วงแรกเท่านั้น ซึ่งเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติเมื่อต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างการแสดงอารมณ์ความรู้สึก 2 อย่าง ซึ่งหากสังเกตพบว่า… คู่สนทนา มีสีหน้าแวบแรกขัดแย้งกับสีหน้าและคำพูดที่แสดงต่อมา นั่นอาจเป็นสัญญาณว่า…คน ๆ นั้นกำลังโกหก หรือกำลังปิดบังความรู้สึกที่แท้จริง

วิธีถัดมา… “จับโกหกจากสัญญาณกระบวนการทางปัญญา“ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือการจับโกหกจากสัญญาณที่บ่งบอกว่า…ผู้พูดต้อง ใช้ความคิดมากกว่าปกติ หรือมากกว่าที่จำเป็น ที่ต้องใช้ในเวลาที่พูดความจริง สะท้อนว่า…การพูดเรื่องโกหกต้องใช้ความพยายามทางปัญญามากกว่าการพูดความจริง เนื่องจากเป็นการพูดสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง จึงต้องใช้ความคิดอย่างมากในการสร้างเรื่องราวขึ้นมา นอกจากนั้น ผู้พูดโกหกต้องพยายามควบคุมสีหน้าท่าทางให้ดูสมจริงเป็นธรรมชาติที่สุด เพื่อให้ไม่มีพิรุธ จึงมัก มีกิริยาท่าทางที่แสดงถึงการใช้ความพยายามมากกว่าปกติ เช่น ตอบคำถามช้าผิดปกติ ลังเลในการพูดหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย มีการใช้มือไม้ประกอบการพูดน้อยลงกว่าปกติ เป็นต้น …นี่ก็เป็น “หลักจับโกหก“

นอกจากนั้น ผศ.ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา ยังได้ให้ข้อมูลไว้ผ่านรายการ “จิตวิทยาเพื่อคุณ” คลื่นวิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz ถึง “วิธีจับโกหก“ อีกวิธีคือ… ยังสามารถที่จะ “จับโกหกจากลักษณะของเรื่องราวและคำพูด“ ได้ด้วย กล่าวคือเรื่องราวที่เป็นเรื่องโกหก หากผู้พูดไม่มีโอกาสเตรียมตัวซักซ้อมมาก่อน เรื่องราวที่เล่าจะไม่ค่อยราบรื่น เนื้อเรื่องมีแต่ข้อมูลพื้น ๆ ไม่มีรายละเอียด ให้ข้อมูลคลุมเครือ เช่น ไม่บอกเวลา-สถานที่ที่แน่ชัด ซึ่งการที่เป็นเช่นนี้ เหตุผลก็คือ…เป็นเพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง หรือไม่ได้เกิดจากประสบการณ์จริง จึงไม่สามารถนึกถึงรายละเอียดที่จำเพาะเจาะจงได้ ขณะที่ถ้าบางทีผู้พูดโกหกเตรียมตัวมาดีเกินไป เรื่องที่เล่าก็จะเหมือนซ้อมมา เหมือนท่องมา หรือ เล่าเรื่องราบรื่นเกินไป จนไม่น่าเชื่อ

นี่คือข้อมูลความรู้โดยสังเขป…โกหก“
และ เคล็ดลับจับโกหก“ ที่ น่าสนใจ“
ที่ น่ารู้ไว้…ยุคคอนเทนต์ทิพย์ ๆ อื้อ“.