อุปกรณ์“ เพื่อการ “ฟื้นฟูสุขภาพสมรรถภาพ“ และ “ฟื้นฟูพัฒนาการ“ ก็สำคัญสำหรับดูแลรักษาฟื้นฟู “ผู้ป่วย” รวมถึง “ผู้พิการ” ทั้งที่เป็น “ผู้ใหญ่” และ “เด็ก” แต่หลายคนก็ “มีปัญหาการเข้าถึง“ อย่างไรก็ดี ก็นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ในไทยก็มีฝ่ายต่าง ๆ ร่วมมือร่วมกัน “แก้ปัญหาให้ประชาชน“ดังตัวอย่างหนึ่งที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะนำเสนอในวันนี้…

มี กรณีตัวอย่าง“ จาก พื้นที่สุโขทัย“
ที่มี หลายฝ่ายร่วมกันช่วยประชาชน“

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้ร่วมคณะ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จากส่วนกลาง และ สปสช.เขต 2 พิษณุโลก นำโดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงาน โรงพยาบาลศรีสังวรสุโขทัย จ.สุโขทัย เกี่ยวกับกิจกรรมกายภาพบำบัด ส่งเสริมพัฒนาการเด็กในชุมชน ให้บริการเครื่องช่วยความพิการ : นวัตกรรมเพิ่มคุณภาพชีวิตเด็ก-คนพิการ ภายใต้กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจ.สุโขทัย โดยมี นพ.เธียรชัย กิจสนาโยธิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ และ นายมนู พุกประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย นำคณะเยี่ยมชม

นพ.เธียรชัย กิจสนาโยธิน ระบุว่า… ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีภาวะทุพพลภาพ มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้านหรือในชุมชน แต่อุปกรณ์ที่ต้องการบางชนิดนั้นโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอ หรือมีข้อจำกัดการให้บริการ ส่งผลให้บางรายไม่ได้ใช้อุปกรณ์ตามที่จำเป็น โดยผู้มีภาวะเหล่านี้อาจมีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการ มีปัญหาในการดำรงชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ไม่สามารถมาโรงพยาบาลได้บ่อยครั้ง เนื่องจากอยู่ในชุมชนที่ห่างไกล ไม่มียานพาหนะเป็นของตนเอง ทางกลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลศรีสังวรฯ จึงจัดทำ “โครงการธนาคารกายอุปกรณ์และเครื่องช่วยความพิการเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพในชุมชน และโครงการห้องสมุดของเล่นฟื้นฟูพัฒนาการเด็กพิการ“ โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ จ.สุโขทัย ซึ่ง อบจ. สุโขทัย อนุมัติจัดทำโครงการในปี 2566

สำหรับโครงการธนาคารกายอุปกรณ์และเครื่องช่วยความพิการเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพในชุมชนนั้น ได้รับการสนับสนุนงบประมาณกองทุนฟื้นฟูฯ วงเงิน 348,883 บาท มีการจัดซื้อ รถนั่งคนพิการชนิดพับได้ จำนวน 15 คัน เครื่องช่วยเดิน 4 ขา แบบมีล้อ (wheel walker) จำนวน 12 ชิ้น เฟาว์เลอร์ ชนิดมือหมุนแบบ 3 ไก จำนวน 10 เตียงทางญาติ ผู้ดูแล ผู้ป่วยและผู้พิการในชุมชน ได้ติดต่อยืมกายอุปกรณ์และเครื่องช่วยความพิการอย่างต่อเนื่องส่วนโครงการห้องสมุดของเล่นฟื้นฟูพัฒนาการเด็กพิการ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณกองทุนฟื้นฟูฯ วงเงิน 38,657 บาท ใช้จัดซื้อของเล่นฟื้นฟูพัฒนาการเด็กพิการเพื่อให้
ผู้ปกครองได้ยืมไปฝึกพัฒนาการบุตรหลานตามโปรแกรมการฝึกที่บ้าน โดยไม่ต้องลำบากในการจัดซื้อจัดหา โดยเฉพาะเด็กพิการที่ขึ้นทะเบียน ท 74 จำนวน 15 ราย เป็นสมองพิการ 9 ราย ดาวน์ซินโดรม 3 ราย และออทิสติก 3 ราย

“ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ร้อยละ 93.33 และยังขยายการใช้ของเล่นนี้ในเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการกลุ่มอื่น ๆ นอกเหนือจากเด็กพิการด้วย“ …ผอ. รพ.ศรีสังวรฯ ระบุ

ขณะที่ นายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ. สุโขทัย ระบุว่า… ปีงบประมาณ 2566 กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ จ.สุโขทัย มีงบประมาณ 9.7 ล้านบาท ปัจจุบันใช้งบประมาณไปแล้วราว 9.4 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็น… สนับสนุนการจัดสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัย  3,450,000 บาท สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ยืมคืนกายอุปกรณ์  3,346,050 บาท การจัดบริการและอุปกรณ์ของหน่วยบริการ 975,040 บาท การซ่อมดัดแปลงเปลี่ยนชิ้นส่วนกายอุปกรณ์ 300,000 บาท สนับสนุนการพัฒนารูปแบบการดูแล ช่วยเหลือ และฟื้นฟู ในระดับชุมชน 238,975 บาท และผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 93,451 บาท

“ขอบคุณ สปสช. ที่มีกองทุนฯ นี้ขึ้นมา ทำให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาจากที่ได้ลงพื้นที่จะพบเห็นบ่อยครั้งว่ายังมีประชาชนจำนวนมากเข้าไม่ถึงการใช้กายอุปกรณ์ เช่น เตียง รถเข็นวีลแชร์ เป็นต้น ซึ่งงบกองทุนฯ ที่ สปสช.จัดสรรให้ รวมทั้ง อบจ. สมทบส่วนหนึ่ง จะใช้เข้าช่วยดูแล…นายก อบจ.สุโขทัย ระบุ

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ระบุว่า… ภาพรวม “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ“ ปี 2567 มีกองทุนฯ จำนวน 70 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 92.1 มีการ สนับสนุนโครงการสำหรับศูนย์ยืม-คืนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ศูนย์ซ่อมกายอุปกรณ์ และการจัดสภาพแวดล้อมหรือบริการขั้นพื้นฐาน เพื่อการดูแลประชาชนตามสิทธิ สำหรับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด พื้นที่เขต 2พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ตาก อุตรดิตถ์ และสุโขทัย มีการใช้จ่ายงบฯ ที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยปีงบประมาณ 2563-2566 เงินคงเหลือลดลง จากร้อยละ 91.61, 80.14, 52.73, 38.74 ตามลำดับ และสำหรับในปีงบ ประมาณ 2566 นั้น พื้นที่เขต 2 มีเงินคงเหลือน้อยอันดับ 2 ของประเทศ ส่วนอันดับ 1 นครราชสีมา คงเหลือร้อยละ 21.71

ทพ.อรรถพร ระบุด้วยว่า… การเบิกจ่ายงบฯ ที่มีการจ่ายมาก 2 อันดับแรก ได้แก่ สนับสนุนการให้ยืมกายอุปกรณ์ ร้อยละ 44.98 และการจัดสภาพแวดล้อม ร้อยละ 35.64 “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ จ.สุโขทัย ถือว่า อบจ. มีการบริหารจัดการที่ดี ส่งผลให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณได้มากและเป็นไปตามเป้าหมายโดยให้ความสำคัญกับการดำเนินการกองทุนฯ ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด“…รองเลขาฯ สปสช. ระบุ ซึ่งนี่ก็ถือเป็น “กรณีศึกษา“ อีกมิติ

มิติการ ดูแล-ฟื้นฟู-พัฒนาสุขภาพ“
ให้ ประชาชนได้รับบริการถ้วนทั่ว“.