เปิดเทอมล่าสุดไม่ทันจะครบเดือนก็มีกรณี ’น่าเศร้าน่าสลดใจ“ เกิดกับ “เด็กนักเรียน” อีก!! โดยเกิด “อุบัติเหตุรถโรงเรียนพลิกคว่ำ” ในพื้นที่ จ.ลำปาง มีเด็ก “เสียชีวิต” 1 ราย และ “บาดเจ็บ” นับสิบราย… นี่เป็น ’เหตุการณ์ร้าย“ รับการเปิดภาคเรียนใหม่ประจำปี 2567 นี้ และก็เป็นอีกรูปแบบภัย เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ปัญหา ’ภัยรถโรงเรียน“ ถูกหยิบยกนำกลับมาตั้งคำถามถึง “มาตรฐานรถรับส่งนักเรียน” ที่ก่อนหน้านี้ก็ได้มีหน่วยงานต่าง ๆ ออกมาเน้นย้ำถึง “ความปลอดภัยของรถโรงเรียน” รวมถึงได้มีการเสนอให้นำเอา “นวัตกรรม+เทคโนโลยี” มาใช้งานด้วย โดยมีเป้าหมายสำคัญ นั่นก็คือ…

จะ ’สร้างมาตรฐานรถโรงเรียน“…
เพื่อ ’กันอุบัติเหตุ-กันเหตุร้าย ๆ“
ให้รถโรงเรียน ’ปลอดภัยเพิ่มขึ้น“

ทั้งนี้ ว่าด้วยเรื่อง “มาตรฐานรถโรงเรียน” นั้น…ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้เคยร่วมสะท้อนย้ำเตือนการ “เฝ้าระวัง” และกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกัน “ล้อมคอกสกัดกั้นปัญหา” หลังจากพบว่า ในไทยมีเหตุร้าย ๆ เกี่ยวกับ “รถรับส่งนักเรียน” เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยมีทั้งกรณี ’อุบัติเหตุรถโรงเรียน“จนถึงกรณี ’ลืมเด็กไว้ในรถโรงเรียน“ ซึ่งเป็นเหตุการณ์เศร้าที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น…แต่ก็เคยเกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก!! จนสังคมไทยตั้ง “ปุจฉา” กับปัญหานี้กันอื้ออึง ซึ่งก็ตามมาด้วยทีท่าขึงขังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ค่อย ๆ แผ่ว…ค่อย ๆ เงียบไป…เหมือนทุกอย่างโอเคดีแล้ว…

แต่แล้วก็’เกิดกรณีน่าเศร้าขึ้นซ้ำ ๆ“

อนึ่ง สำหรับเรื่อง “มาตรฐานรถรับส่งนักเรียน” นั้น ได้เคยมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เกี่ยวกับ ’ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.. 2562“ซึ่งได้กำหนด การรักษาความปลอดภัยของรถยนต์ที่ใช้ในการรับจ้างรับส่งนักเรียน ไว้ว่า… จะต้องมีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้คือ… ต้องมีเครื่องหมายเป็นแผ่นป้ายพื้นสีส้มสะท้อนแสง ขนาดกว้างอย่างน้อย 35 เซนติเมตร และยาวอย่างน้อย 85 เซนติเมตร โดย มีตัวอักษรสีดำข้อความว่า “รถโรงเรียน” ความสูงไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร ติดอยู่ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวรถให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดไว้อีกว่า… กระจกรถจะต้องมีลักษณะโปร่งใส สามารถมองเห็นสภาพภายในรถ และมองเห็นสภาพการจราจรภายนอกรถได้อย่างชัดเจน หรือถ้าหากมีการติดฟิล์มกรองแสง เมื่อวัดการผ่านของแสงแล้วระดับของแสงจะต้องผ่านได้ไม่น้อยกว่าระดับที่ กรมการขนส่งทางบก กำหนด …นี่เป็น “มาตรฐาน” ที่มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้

เพื่อจะให้รถโรงเรียนมีความปลอดภัย

อีกทั้งยังมีการกำหนดอีกว่า… รถโรงเรียนต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับช่วยเหลือนักเรียนในยามที่มีอุบัติเหตุหรือมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น ได้แก่ เครื่องดับเพลิง, ค้อนทุบกระจกและเหล็กชะแลง ไม่น้อยกว่า 1 อัน และ ต้องมีแผ่นป้ายแสดงข้อความเตือนเรื่องความปลอดภัยในการโดยสาร ตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนดไว้อีกด้วย

ขณะที่ในส่วนของกรมการขนส่งทางบกนั้น ก็ได้ระบุถึง ’มาตรฐานความปลอดภัย“ตามเกณฑ์ เอาไว้ว่า… อนุญาตให้นำรถที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน ทั้งรถสองแถว และรถตู้ มาใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนได้ แต่ต้องมีการรับรองการใช้รถจากโรงเรียน และต้องได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดด้วย ส่วนที่นั่งผู้โดยสารก็จะต้องยึดอย่างแน่นหนาและต้องมั่นคงแข็งแรง รวมถึงจะต้องไม่มีการให้นักเรียนโดยสารโดยการยืน โดยในส่วนของรถสองแถวก็จะต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก ส่วนรถตู้ก็จะต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น

ส่วนแนวทางอื่น ๆ เพื่อความปลอดภัย ก็ยังมีข้อมูลโดย ศูนย์สุขภาวะ สสส. ที่จัดทำ ’คู่มือความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียน“เพื่อให้รถโรงเรียนปลอดภัย ไว้ 8 แนวทาง คือ… 1.ต้องมีผู้รับผิดชอบชัดเจน โดยมีบุคลากรเป็นผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน และควรถือเป็นนโยบายสำคัญของโรงเรียน 2.ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน โดยมีคณะทำงานร่วมกันบริหารจัดการ ที่ประกอบด้วยอาจารย์ผู้รับผิดชอบ กรรมการนักเรียน สมาคมผู้ปกครอง ชมรมคนขับรถรับส่งนักเรียน 3.ต้องมีฐานข้อมูลที่ครบถ้วน ทั้งข้อมูลคนขับรถ ประเภทรถ ทะเบียนรถ ภาพถ่ายรถ เส้นทางการเดินรถ กับรายชื่อนักเรียนที่ขึ้นรถแต่ละคัน

4.ต้องมีระบบติดตาม เพื่อคอยกำกับการให้บริการของคนขับรถรับส่งนักเรียน และการใช้บริการของนักเรียน 5.สนับสนุนให้มีการจัดตั้งชมรม เพื่อให้คำแนะนำกับคนขับรถ เพื่อให้เกิดระบบการบริหารจัดการระหว่างกันได้ 6.ควรมีการทำประกันภัย ทั้งให้รถรับส่งนักเรียนทำประกันภาคบังคับประเภทรับจ้าง และทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มเติม 7.ต้องมีมาตรการตรวจเช็กสภาพรถ เช็กสภาพความพร้อมรถให้เป็นระบบ และ 8.ควรขอความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ …นี่เป็น “แนวทาง” ที่ถูกเสนอไว้

ทั้งนี้ ทั้งกฎเกณฑ์ แนวทาง ก็มีพร้อม เพื่อที่จะสร้างความปลอดภัยให้เด็กที่ใช้รถโรงเรียน แต่เอาเข้าจริง ’ภัยรถโรงเรียน“ นั้นก็ ’ยังเกิดซ้ำ ๆ“ ทั้ง เพราะรถอื่น เพราะรถโรงเรียนเอง เพราะผู้ที่มีหน้าที่ต้องดูแลเด็กที่ใช้รถโรงเรียน

’ภัยรถโรงเรียน“ ล่าสุดเด็กเสียชีวิตอีก
ก็จึงมี ’ปุจฉาซ้ำ ๆ เกิดขึ้นอีกครั้ง?“…
’วังวนร้ายเช่นนี้…เมื่อไหร่จะหยุด?“.