ผู้ป่วยนึกไม่ถึงว่า ‘มัจจุราชเงียบ’ มาเล่นงาน

เจ้าตัวไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีภัยร้ายแรงซุกซ่อนอยู่ แต่ความที่ตั้งใจจะมาตรวจร่างกายอยู่แล้วจึงถือเป็นความโชคดีอย่างยิ่งที่คุณหมอตรวจพบความผิดปกติเข้าให้อย่างจัง ซึ่งหากเผลอไผลปล่อยไว้อีกไม่ช้าไม่นานก็จะมีโอกาสเจออันตรายขั้นรุนแรงจากภาวะ “หัวใจขาดเลือด” ได้มากทีเดียว เพราะสิ่งที่คุณหมอตรวจพบก็คือ… เส้นเลือดหัวใจของผู้สูงวัยรายนี้ตีบตันถึง 5 ตำแหน่ง ซึ่งแน่นอนว่าหนีไม่พ้นที่ต้องพึ่งพาการรักษาก่อนที่จะเกิดอันตรายตามมา ส่วนที่ว่าคุณหมอที่ “ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสุขุมวิท” ได้ดำเนินการอย่างไรบ้างนั้น… “อุ่นใจ…ใกล้หมอ มีรายละเอียดมาเล่าสู่กันในวันพุธนี้ โดยมีข้อมูลที่ผู้ป่วยท่านนี้เต็มใจมาสรุปเนื้อหาให้ทราบเป็นอันดับแรกครับ…

หลอดเลือดหัวใจตีบ

“…ผมมารักษาที่โรงพยาบาลสุขุมวิทมานานแล้ว จึงมีความรู้สึกผูกพัน รักษาโรคอะไรที่โรงพยาบาลนี้ก็หายทุกโรค ไม่มีไม่หาย ก็เลยไม่ไปรักษาที่อื่นเพราะวางใจที่นี่… ก่อนนี้ที่เคยมารับการผ่าตัดมีทั้งเรื่องตา กับกระดูกสันหลัง และล่าสุดได้มาผ่าตัดหัวใจ ซึ่งก่อนมาไม่ได้มีอาการอื่นใด…จะมีก็แค่อาการเหนื่อยอยู่บ้าง แต่พอมาถึงไทยแล้วคุณหมอทำการ X-ray และตรวจอย่างละเอียด จึงรู้ว่ามีอาการเส้นเลือดหัวใจบางเส้นตีบและบางเส้นอุดตัน แต่หลังจากนั้นได้กลับไปบ้านที่เมียนมาประมาณ 1 เดือนจึงเดินทางมาเมืองไทย เพราะคุณหมอบอกว่ามีความจำเป็นต้องผ่าตัด ผมก็ตัดสินใจมาตามที่คุณหมอแนะนำ หลังผ่าตัดผมได้พักฟื้นที่โรงพยาบาล 9 วันจึงย้ายไปอยู่โรงแรม หลังจากนั้นก็พบว่าอาการต่างกับก่อนหน้านี้มาก ๆ เวลาหายใจต่างกับตอนยังไม่ผ่าเลย คือก่อนหน้านี้เดินหรือขึ้นบันไดนิด ๆ หน่อย ๆ ก็เหนื่อยแล้ว เดินนานไม่ได้ แต่หลังผ่าตัดก็ไม่เหนื่อยแล้ว หายใจโล่งกว่าแต่ก่อน…คือกลับมาเป็นปกติเลย…”

คุณหมอตรวจพบ ‘รอยโรค’ อย่างชัดเจน

คุณหมอผู้เป็น “เจ้าของไข้” ผู้ป่วยชาวเมียนมารายนี้ ได้แก่ “พญ.ฑิตถา อริยปรีชากุล” อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด ประจำ “ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสุขุมวิท” โดยได้ทราบจากการซักประวัติและจับประเด็นได้ว่าก่อนมาเข้ารับการตรวจ-วินิจฉัยในครั้งล่าสุดนี้ผู้ป่วยรู้สึกได้ถึงกรณีที่ผิดจากเดิมบางอย่าง ซึ่งเป็นแนวทางให้ “คุณหมอฑิตถา” เดินหน้าไปสู่กระบวนการตรวจแต่ละขั้นตอนดังนี้…

Mr.Aie Sun

“…ช่วงหลัง ๆ มานี้คนไข้ขึ้นบันไดแล้วเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยเร็วขึ้น และรู้สึกได้ว่าเดินได้ช้าลงกว่าที่เคยเดินได้ปกติ จึงมาตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลสุขุมวิท จึงส่งให้เข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือที่เรียกว่า EKG และทำอัลตราซาวด์หัวใจ หรือที่เรียกว่า Echocardiogram พร้อมกับตรวจเลือด ซึ่งในเบื้องต้นพบว่ามีความผิดปกติจากการดูผลการทำอัลตราซาวด์หัวใจ จึงได้แนะนำให้เข้ารับการตรวจ CT Scan Calcium Score ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำหรับตรวจภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบเบื้องต้นโดยอาศัยการคำนวณแคลเซียมในเส้นเลือดหัวใจ ช่วยให้ทราบว่าแคลเซียมของคนไข้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงมาก คืออยู่ที่ประมาณ 3,000 กว่าเกือบ 4,000 กระจายอยู่เยอะในเส้นเลือดหัวใจทุกเส้น จึงคิดว่าจำเป็นที่เขาควรต้องได้รับการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจเพื่อยืนยันว่ามีการตีบจริง และมีผลระบุชัดว่า มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหลัก ๆ อยู่ 3 เส้น โดยบางเส้นได้อุดตันเกือบ 100% ส่วนเส้นที่เหลือก็มีการตีบ-อุดตันเกิน 50% แล้ว ส่วนเส้นเลือดแขนงเล็ก ๆ ก็พบด้วยว่ามีภาวะหินปูนอุดตันเกือบ 100% เช่นกัน ซึ่งไม่อาจรักษาด้วยการใส่บอลลูนหรือโครงขดลวดค้ำยันได้ เราจึงได้ปรึกษากับ คุณหมอชนาพงษ์ ซึ่งเป็นคุณหมอผ่าตัดผู้ชำนาญการเกี่ยวกับศัลยกรรมทรวงอก เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัดถึงความจำเป็นในการทำทางเบี่ยงเส้นเลือดหัวใจที่ตีบตันให้กับคนไข้รายนี้โดยเร็วที่สุด จากนั้นจึงได้นัดคนไข้ให้มาร่วมพิจารณากับคุณหมอชนาพงษ์ เพื่อให้เขามีข้อมูลที่ชัดเจนจากคุณหมอผ่าตัดว่าโอกาสประสบผลสำเร็จมีมากเพียงใด มีกระบวนการผ่าตัดอย่างไร และอาจมีภาวะแทรกซ้อนแบบใดที่สามารถเกิดขึ้นได้บ้าง… ซึ่งหลังจากคนไข้ได้รับฟังคำอธิบายจากทีมแพทย์แล้วรู้สึกสบายใจ จึงได้ตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจที่โรงพยาบาลสุขุมวิทในเวลาต่อมาค่ะ…”

พญ.ฑิตถา อริยปรีชากุล รพ.สุขุมวิท

รายละเอียดและผลที่ปรากฏจากการตรวจโดยอาศัยเทคโนโลยีการแพทย์แต่ละชนิด-แต่ละขั้นตอน ช่วยให้ “คุณหมอฑิตถา” ประจักษ์ถึง “รอยโรค” ซึ่งเพียงพอต่อการวินิจฉัยยืนยันให้ผู้ป่วยรับรู้และเข้าใจถึงภาวะที่น่าเป็นห่วงจากการตีบตันของเส้นเลือดหลักที่ป้อนเลือดไปเลี้ยงหัวใจ แถมยังมีปัญหาจากกรณีที่มีแคลเซียมหรือหินปูนมาสะสมอยู่ในเส้นเลือดแขนงจนแทบจะไม่เปิดช่องให้เลือดไหลผ่านได้อีกต่างหาก และล้วนเป็นประเด็นที่สร้างความยุ่งยากให้กับขั้นตอนการรักษา…ซึ่งหากจะว่าไปแล้วทางเลือกหลักไม่น่าจะมีมากไปกว่า“การรักษาแบบประคับประคอง” อย่างหนึ่ง หรือมิฉะนั้นก็ “ทำบอลลูน-ใส่โครงค้ำยัน” กับอีกอย่างคือ… “ผ่าตัดทำทางเบี่ยงให้หลอดเลือด” ซึ่งเป็นวิธีที่ คณะแพทย์มีความเห็นพ้องต้องกันถึงความจำเป็นที่ต้องเลือกสำหรับการรักษาผู้ป่วยรายนี้…!!!

‘เหตุผลสำคัญ’ ที่จำเป็นต้อง ‘ทำบายพาส’

ต้องบอกว่ากรณีการตีบตันในเส้นเลือดหัวใจของผู้ป่วยรายนี้ถือว่าเป็น “งานหิน” ทีเดียว จึงได้ยกมาเป็น “กรณีศึกษา” เพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่าน “อุ่นใจ…ใกล้หมอ” ในการนำไปเป็นข้อมูลให้กับผู้รู้จักคุ้นเคยที่เจอ ปัญหาการตีบตันของเส้นเลือดหัวที่เกิดการตีบตันในลักษณะเดียวกันนี้ จะได้นำข้อมูล-ข้อคิดเห็นจากคณะแพทย์ประจำ “โรงพยาบาลสุขุมวิท” ไปเป็นประโยชน์เพื่อพิจารณาถึงการรักษาที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนให้กับผู้ป่วยได้มากที่สุด โดยที่ “คุณหมอชนาพงษ์” หรือ “นพ.ชนาพงษ์ กิตยารักษ์” แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมทรวงอก ประจำ “ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลสุขุมวิท” ก็ได้ระบุแนวทางการพิจารณาไว้อย่างน่าสนใจ โดยกล่าวว่า…

นพ.ชนาพงษ์ กิตยารักษ์ รพ.สุขุมวิท

“…จากที่เราได้ศึกษาหารือกับคุณหมออายุรกรรมที่ดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น ทั้งในแง่ของอายุ โรคประจำตัว และผลการฉีดสีเส้นเลือดหัวใจว่ามีการตีบหรือตันมากน้อยเพียงใด รวมทั้งศึกษาการทำงานของหัวใจของเขาด้วย ก็ได้นำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลว่าวิธีการรักษาแบบใดน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยมากที่สุด…เมื่อเราพบว่าผู้ป่วยมีเส้นเลือดหัวใจที่ตีบตันใน 3 เส้นหลักนะครับ การรักษาเบื้องต้นคงจะต้องเป็นการปรับปรุงพฤติกรรมนะครับ แล้วก็ทานยา แต่เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้มีลักษณะของการตีบตันของเส้นเลือดที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งหลังจากได้หารือกับคุณหมออายุรกรรมมัณฑนากรหัวใจแล้วคิดว่าไม่สามารถจะใส่ขดลวดได้ เราจึงเสนอแนวทางรักษาผู้ป่วยด้วยการทำผ่าตัดบายพาสหัวใจ… แน่นอนครับว่าการผ่าตัดหัวใจถือเป็นเรื่องใหญ่ แต่จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยรายนี้มากเมื่อเทียบกับความเสี่ยงนะครับ ด้วยเหตุที่นอกจากจะพบว่าเขามีเส้นเลือดหัวใจตีบตัน 3 เส้นหลักแล้วยังมีที่แขนงที่มีขนาดใหญ่มีความสำคัญมาก ซึ่งในที่สุดแล้วเราได้ ทำบายพาสเส้นเลือดหัวใจไป 5 จุด เพื่อหวังผลให้มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ดีที่สุด…

การทำบายพาสหลอดเลือดหัวใจ

และจากกรณีที่ในปัจจุบันมีการศึกษาแล้วพบว่า การใช้เส้นเลือดแดงมากกว่า 1 เส้นไปเป็นทางเบี่ยงเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจนั้นจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตและมีชีวิตที่ยืนยาวกว่า ซึ่งในที่สุดแล้วเราได้เลือกใช้เส้นเลือดแดงในอก 1 เส้น…ที่แขนซ้าย 1 เส้น รวมเป็น 2 เส้นมาใช้เป็นทางเบี่ยงร่วมกับเส้นเลือดดำที่ขา รวมทั้งหมด 5 จุดครับ… ทั้งนี้ต้องขอเสริมว่าการผ่าตัดหัวใจนั้นเป็นการผ่าตัดใหญ่นะครับ เราจำเป็นต้องอาศัยทีมงานที่มีประสบการณ์ มีประสิทธิภาพ และรู้ใจ-รู้มือกันดี ซึ่งในการผ่าตัดครั้งนี้นอกจากคุณหมอผ่าตัดและผู้ช่วยผ่าตัดแล้ว เรายังมีคุณหมอดมยาสลบกับผู้ช่วย ตลอดทั้งมีคุณพยาบาลซึ่งมีความเชี่ยวชาญ ควบคู่ไปกับนักวิทยาการปอดและหัวใจมาร่วมทีม โดยในการผ่าตัดหัวใจแต่ละครั้งจำเป็นต้องมีบุคลากร 10 ถึง 15 คนในการมาร่วมดูแลผู้ป่วย 1 คนให้มีความปลอดภัยและได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพครับผม…”

มาถึงตรงนี้ “หมอจอแก้ว” ขอนำข้อมูลจาก “คุณหมอชนาพงษ์” มาถ่ายทอดแถมท้ายด้วยว่า…หลังจากได้เข้ารับการผ่าตัดเรียบร้อยแล้วได้มีการนัดผู้ป่วยชาวเมียนมาท่านนี้มาตรวจติดตามเพิ่มเติม และพบว่ามีอาการดีขึ้นโดยอาการเหนื่อย แน่น เจ็บอก เบาบางลง ซึ่งผู้ป่วยบอกไว้ระหว่างที่พักฟื้นว่าดีใจกับผลการรักษามากทีเดียว แต่ด้วยความที่เจ้าตัวมีประวัติการสูบบุหรี่จัด คุณหมอจึงได้กำชับให้งดบุหรี่เป็นอย่างแรก และแนะนำให้กินยาที่คุณหมอจ่ายไปด้วยอย่างสม่ำเสมอห้ามขาด รวมทั้งได้แนะนำให้เข้ารับการฟื้นฟู โดยสามารถใช้วิธีเดินเท่าที่ร่างกายจะอำนวยดูก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มไปเรื่อย ๆ  เพื่อเป็นโอกาสให้สามารถฟื้นคืนกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติได้เร็วที่สุดนั่นเอง.

หมอจอแก้ว