เรื่องนี้ได้มีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาศึกษา เพื่อจะนำสู่การผลักดันให้ “กีฬาวัวลาน” เป็น “เทศกาลท่องเที่ยว” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชมกีฬาพื้นบ้านชนิดนี้ ซึ่งหลังแนวคิดนี้ปรากฏเป็นข่าว ทางองค์กรที่ทำงานด้านป้องกันการทารุณสัตว์ได้ออกมาทักท้วง จนเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา และก็คงจะต้องติดตามดูกันต่อไปว่า…ที่สุดแล้วเรื่อง “วัวลานเฟสติวัล” นี่จะมีบทสรุปเช่นไร??

อย่างไรก็ตาม กรณี “วัวลาน-กีฬาวัวลาน” นี่ใน “มุมวิชาการ” ก็ได้มีการศึกษาไว้เช่นกัน ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลโดยสังเขป จากงานศึกษาในชื่อหัวข้อ ’วัวลาน : วิถีชีวิตลูกผู้ชายเมืองเพชร“ โดย ภาคภูมิ ลบถม ที่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชามานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2551 ซึ่งงานวิชาการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการละเล่นวัวลานของ จ.เพชรบุรี และหาคำตอบว่าทำไมกีฬาชนิดนี้จึงมีความสำคัญกับวิถีชีวิตผู้คน จนเกิดการรวมกลุ่มเล่นกีฬาวัวลานอย่างจริงจัง …นี่เป็นวัตถุประสงค์การศึกษา

กีฬาพื้นบ้าน ’วัวลาน“ พื้นที่เพชรบุรี

ที่ล่าสุดกลายเป็น ’อีกประเด็นโฟกัส“

หลังมี ’แนวคิดผลักดันเป็นเฟสติวัล“

ในงานศึกษาชิ้นดังกล่าว ทาง ภาคภูมิ ลบถม ผู้ศึกษา ได้ระบุถึง “กีฬาวัวลาน” ไว้ โดยสรุปมีว่า… การละเล่นชนิดนี้ ว่ากันว่าวิวัฒนาการมาจากการใช้งานวัวนวดข้าว โดยลักษณะของลานนวดข้าวจะเป็นวงกลม ซึ่งในการนวดข้าวแต่ละครั้งนั้นจำเป็นต้องใช้วัวจำนวนหลายตัวมาผูกเรียงกับเสาที่อยู่ตรงกลาง จากนั้นจึงให้วัวเดินเป็นวงกลมย่ำไปบนฟ่อนข้าว ซึ่งวัวแต่ละตัวจะมีระยะการเดินไม่เท่ากัน โดยวัวที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางหรืออยู่ใกล้เสาจะไม่ต้องใช้กำลังและฝีเท้ามาก เพราะอยู่ในช่วงหมุนรอบสั้น ขณะที่วัวที่อยู่นอกสุดต้องหมุนด้วยระยะทางมากกว่า จึงต้องใช้วัวที่มีฝีเท้าดี เพื่อให้การนวดข้าวทำได้ด้วยดี

การ นำ ’วัว“ มาใช้ ’นวดข้าว“ รูปแบบนี้ ในรายงานศึกษาข้างต้นยังได้มีการฉายภาพไว้ว่า… ปกติการนวดข้าวของชาวบ้านใน จ.เพชรบุรี จะทำกันในช่วงระหว่างเดือน ก.พ. ถึงเดือน มี.ค. แต่จากการที่มีข้าวจำนวนมาก ในขณะที่ชาวนาเมืองเพชรส่วนใหญ่มักจะ
มีวัวใช้งานเพียงครัวเรือนละคู่ หรือสองคู่ ทำให้การนวดข้าวอาจล่าช้า ซึ่งอาจเสร็จไม่ทันก่อนฝนลง ก็จะทำให้ข้าวเสียหาย จึงเกิดการ “ขอแรง” กันขึ้น โดยจะมีการ “ระดมวัวของเพื่อนบ้านมาร่วมนวดข้าว” หมุนเวียนกันไป…

ต่อมา.. เมื่อมิติแห่งเวลาได้เปลี่ยนแปลงไป “วัวลาน” ก็เกิดการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ไปจากเดิม โดย จากภาคเกษตรกรรมก็เปลี่ยนสู่ภาคความบันเทิง ซึ่งด้วยรูปแบบของการเล่นที่มีการเอาผล แพ้-ชนะ ก็จึงมีการวางเงิน เดิมพัน ในขณะเดียวกันกีฬาวัวลานยังได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นการละเล่นพื้นบ้าน ในฐานะเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งก็ทำให้การเล่นวัวลานอยู่ในสภาวะ ’ก้ำกึ่ง“ ระหว่างการเป็น’การละเล่นพื้นบ้าน“ กับการเป็น’ธุรกิจการพนัน??“

นอกจากนั้น ในงานศึกษายังได้อธิบาย “บทบาทหน้าที่ของคน” ในตำแหน่งต่าง ๆ “ในลานกีฬาวัวลาน” ไว้ว่า… การรวมกลุ่มของผู้ชายในลานวัว มีชื่อเรียกว่า “พวง” หรือทีมงาน ในขณะที่ผู้ชายที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ คือ เชี่ยวชาญการเล่นวัว มีเหลี่ยม มีชั้นเชิง มีใจในการเล่นวัวลาน จนเป็นที่ยอมรับนั้น จะถูกเรียกว่า “นักเลงวัว” ซึ่งต่อมามีการนำนิยามดังกล่าวนี้ไปยึดโยงกับเรื่อง “ความเป็นชาย” ด้วย ส่วน “สายพันธุ์วัว” ที่นิยมเลี้ยงไว้เป็น “วัวลาน” นั้น ในงานศึกษาก็ระบุไว้ว่า… ส่วนใหญ่เป็น สายพันธุ์พื้นเมือง BOS Indicus ซึ่งเป็นพันธุ์เดียวกับวัวอินเดีย หรือที่เรียกว่า “วัวแขก” หรือ “โคแขก”

ขณะที่วัวในลานแต่ละตัวก็จะมีความหมายแตกต่างกัน คือ ’วัวคาน“ หมายถึงวัวที่ในการแข่งแต่ละเปิดจะใช้จำนวน 18 ตัว, ’วัวหนุน“ หมายถึงวัวตัวที่ 1 ถึงตัวที่ 10 โดยวัวหนุนจะถูกเปลี่ยนออกเมื่อวิ่งครบ 2 เปิด, ’วัวปลาย“ หมายถึงวัวคานตัวที่ 11-18 ซึ่งจะเป็นวัวของอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นคนละเจ้ากับเจ้าของวัวหนุน,  ’วัวรอง“ หมายถึงวัวตัวที่ 18 ที่จะต้องแข่งกับวัวนอก ซึ่ง “วัวนอก” หมายถึงวัวตัวที่ 19 ซึ่งเป็นของพวงที่ 2 หรือ 3 ที่จะต้องสลับสับเปลี่ยนกันเป็นวัวนอกตลอดการแข่ง 12 เปิด

ทั้งนี้ “กว่าจะมาเป็นวัวลาน” นั้น ก็ได้มีการฉายภาพไว้ด้วยเช่นกันว่า… ก่อนที่วัวตัวหนึ่งจะถูกนำมาวิ่งลานก็จะต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี เพราะไม่ใช่วัวทุกตัวจะวิ่งลานได้เหมือนกันเสมอไป โดยการฝึกซ้อมนั้นสำคัญมาก เพราะนอกจากเป็นการ เตรียมความพร้อม แล้ว ยังทำให้วัว รู้ลู่ทางในการวิ่ง อีกทั้งช่วยให้เจ้าของวัว  รู้ระดับฝีเท้าวัว ในแต่ละตัวด้วย…

ส่วน ’การจัดวัวลาน“ ในงานศึกษาชิ้นดังกล่าวข้างต้นระบุไว้ว่า… นอกจากจัดตามความชอบของแต่ละบุคคลแล้ว ยังอาจจัดเป็นมหรสพในงานต่าง ๆ ด้วย เช่น งานปิดทองฝังลูกนิมิต, งานฉลองสลากภัต, งานกฐิน, งานลอยกระทง, งานบวช, งานขึ้นบ้านใหม่ หรืองานเลี้ยงต่าง ๆ โดยการจัดครั้งหนึ่ง มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 20,000-30,000 บาท แบ่งเป็น… ค่าโฆษก 1 คนตลอดคืนประมาณ 1,000 บาท, ค่าของรางวัล ประมาณ 8,000 บาท, ค่าเครื่องไฟ-ราวพักวัว  ประมาณ 3,000 บาท,ค่าจ้างวงดนตรี ประมาณ 2,000 บาท, ค่าจ้างหางเครื่อง ตกคนละประมาณ 500 บาท …เหล่านี้เป็นข้อมูลโดยสังเขป

’วัวลาน เพชรบุรี“ ที่ ’มีมาแต่อดีต“

จาก ’นวดข้าว“…สู่ ’กีฬาพื้นบ้าน“…

ต่อไป ’จะเป็นอีกเฟสติวัลโลก??“.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่