ใกล้ถึงวันพระใหญ่ วันวิสาขบูชาซึ่งหวนให้นึกถึงความหมายความนัยของบัว นอกจากความสวยงาม ชวนมองรอบด้านทั้งในมิติความหมายมงคล ประโยชน์ทางด้านอาหาร วัฒนธรรมประเพณี เศรษฐกิจ รวมถึงในด้านสิ่งแวดล้อม ในสถานการณ์โลกร้อนเดือด ฯลฯ นำเรื่องน่ารู้จาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูรินทร์ อัครกุลธร หัวหน้าฝ่ายพิพิธภัณฑ์บัว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยให้ความรู้ พารู้จักเรื่องน่ารู้จากบัว รวมถึงการต่อยอดพัฒนาการใช้ประโยชน์จากบัวว่า ใกล้เข้ามาสำหรับฤดูฝน โดยช่วงฤดูฝนจะได้เห็นความสวยงามของบัวมากขึ้น หรือเมื่อถึงวันพระใหญ่ก็ชวนให้นึกถึง บัว ไม้มงคลที่นิยมนำมาบูชาพระรัตนตรัย โดยมีความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนามายาวนาน

“ดอกไม้บูชาพระเลือกนำมาไหว้พระได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น มะลิ ดาวเรือง ดอกพุด ดอกกล้วยไม้ พิกุล และรวมถึง ดอกบัว โดยบัวเป็นไม้มงคล ดอกบัวที่นิยมนำมาไหว้พระคือ บัวหลวง โดยบัวหลวงดอกสีชมพู กลีบซ้อนจะเรียกว่า สัตตบงกช ส่วน บัวหลวงดอกสีขาว กลีบซ้อนเรียกว่า สัตตบุษย์ และอีกประเภทหนึ่ง ดอกมีสีขาวกลีบไม่ซ้อนเรียกว่า บุณฑริกและบัวหลวงปทุม ดอกสีชมพูกลีบไม่ซ้อนเรียก ปทุม โดยเหล่านี้มีความหมายเกี่ยวเนื่องกับศาสนา”

ในปีนี้สภาพอากาศร้อนค่อนข้างมาก บัวเจอกับความร้อนเยอะ แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนบัวจะมีความงามยิ่งขึ้น ทั้งนี้บัวเป็นพืชนํ้าต้องการความชื้น ฤดูฝนจึงเป็นช่วงเวลาของบัวแต่ทั้งนี้บัวจะมีความสวยงามได้นั้นต้องได้รับการดูแลที่ดีบวกรวมกับสภาพอากาศที่เหมาะสม บัวยิ่งมีความสวยสมบูรณ์

บัวที่ปลูกในประเทศไทยมีมากมายและใช่แค่ ดอกสีสันสวยงาม ใบ กลีบดอก เกสร ฯลฯ นั้นมีความสวยงามโดดเด่นเช่นกัน ปัจจุบันมีการพัฒนาพันธุ์ อย่างเช่น ทั้งเรื่องของ กลิ่น ใบด่าง ใบลาย เกสรสวยงาม และมีกลิ่นหอมฯลฯ ทั้งนี้หากพูดถึงความสวยงามของบัวจากประเทศไทยถือเป็นแถวหน้า มีความสุดยอดโดดเด่น ทั้งในด้านความเชี่ยวชาญเรื่องบัว ขณะที่การประกวดในระดับโลกได้รับรางวัลหลายประเภทต่อเนื่อง

“ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น บัวออกดอกได้ทั้งปี การปรับปรุงพันธุ์ ผสมพันธุ์จึงเกิดขึ้นได้ทั้งปีเช่นกัน ซึ่ง เป็นข้อได้เปรียบของประเทศเขตร้อน อีกทั้งประเทศในแถบเอเชียเริ่มมีการปลูกบัวมากขึ้น ปลูกเป็นไม้ประดับ ทั้งมีการจัดประกวด ทำให้เป็นช่องทางหนึ่งที่บัวจะเป็นไม้เศรษฐกิจ สร้างรายได้และส่งออกเพิ่มขึ้น”

ในความมหัศจรรย์ของบัว หากมองในมิติอาหาร บัวถือได้ว่ามีประโยชน์อยู่มาก โดยส่วนต่าง ๆ ของบัว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของ กลีบดอก เกสร เมล็ด หรือสายบัว อย่างเช่น สายบัว นอกจากปรุงอาหารได้หลายเมนู ทั้งนำไปแกง นำไปผัด หรือทานสดกับส้มตำ ที่ผ่านมาพัฒนาต่อยอดนำมาทำกิมจิ ฯลฯ เพิ่มมูลค่าให้กับบัวสาย

อีกทั้ง เกสร ดีบัว ยังมีสรรพคุณทางยา ในมิติการอนุรักษ์ การรักษา ผศ.ภูรินทร์ อธิบายเพิ่มว่า บัวไทยดั้งเดิมที่เคยเห็นกันมาควรค่าแก่อนุรักษ์ไว้ เพราะเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีความเป็นมาที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีไทย วัฒนธรรมประเพณี และด้วยบัวเป็นดอกไม้มงคล นำมาบูชาพระซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าในช่วงวันพระใหญ่ดอกบัวจะมีราคา และนอกจากดอกบัวหลวงที่นำมาบูชาพระ บัวผันก็สามารถนำมาจัดใส่แจกัน หรือนำบัวสายซึ่งมีทั้งที่บานกลางวันและกลางคืน และมีกลิ่นหอม นำไปบูชาพระได้เช่นกัน

มองต่อไปบัวสามารถนำมาต่อยอดนำเส้นใยมาทำสิ่งทอ นำมาสกัดสี โดยที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์บัวเข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เราศึกษาวิจัยบัวโดยรวบรวมปลูกรักษาทั้งในด้านการอนุรักษ์ ปรับปรุงพันธุ์ รวมถึงการใช้ประโยชน์โดยสีจากบัว ทำงานร่วมกับอาจารย์คณะศิลปกรรม วิจัยพัฒนา โดยนำบัวฉลองขวัญ แปรรูปสกัดสีซึ่งได้ผลลัพธ์ให้โทนสีธรรมชาติ เป็นเอกลักษณ์ ทั้งพัฒนาต่อยอดเพื่อให้มีสีสันเพิ่มขึ้น

รวมทั้งศึกษาวิจัยทำงานร่วมกับอีกหลายคณะของมหาวิทยาลัย อย่างเช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ออกแบบเครื่องนวดฝักบัวโดยสามารถแยกเมล็ดทั้งมีเครื่องแกะเมล็ด เครื่องแทงดีบัว ฯลฯ สร้างการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาหรือในมิติการปรับปรุงพันธุ์ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเกษตร เป็นต้น

“พิพิธภัณฑ์บัวที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ ส่งเสริมความรู้เรื่องบัว โดยรวบรวมพันธุ์ เก็บรักษาและมองถึงการใช้ประโยชน์ โดยมีงานวิจัย มีข้อมูลบัวชนิดพันธุ์ต่าง ๆ เป็นฐานข้อมูลเพื่อการค้นคว้า การต่อยอด โดยรวบรวมไว้กว่า 300 สายพันธุ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งมีข้อมูลการพัฒนาต่อยอด การปรับปรุงพันธุ์ให้สืบค้น โดยมีฐานข้อมูล ค้นคว้าเบื้องต้นได้ทางเว็บไซต์ อีกทั้งเตรียมจัดทำพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง ทั้งภายในอาคารและภายนอกอาคาร เพื่อการเข้าถึง เรียนรู้เรื่องบัวเพิ่มขึ้น”

บัวพืชไม้นํ้าที่มีความงามและมากด้วยประโยชน์ ผศ.ภูรินทร์ แนะนำให้รู้จักกับบัวเพิ่มขึ้นอีกว่า ในภาพกว้าง บัวที่มีอยู่ในโลกมีอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภทของบัวกลุ่มก้านแข็ง ปทุมชาติหรือกลุ่มบัวหลวง โดยบัวหลวง ในบ้านเราเป็นที่รู้จักกันมานาน บัวหลวงมีในเขตร้อนโดยมีสองสีคือ สีขาวและสีชมพู แดง มีกลีบดอกซ้อนและซ้อนน้อย ส่วนอีกประเภทบัวหลวงเขตหนาว โดยจะมีสีเหลือง

นอกจากนี้มี บัวก้านอ่อน อุบลชาติ อย่างเช่น กลุ่มบัวผัน บัวเผื่อน บัวสาย โดยในกลุ่มนี้แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ บานกลางวัน และบานกลางคืน โดยกลุ่มที่บานกลางวัน ได้แก่ บัวผัน บัวเผื่อนและกลุ่มบัวฝรั่ง ส่วนบานกลางคืนที่รู้จักกันดีคือ บัวสาย โดยมีความโดดเด่นมีสายยาว ดอกสวย บานตอนกลางคืนและตอนสาย

ในกลุ่มของบัวผัน จากที่กล่าวประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาพันธุ์ ทั้งในเรื่องของดอกสวยงาม พัฒนาพันธุ์เกสรสวยงาม ใบสวยงาม รวมถึงในเรื่องของกลิ่นหอม ซึ่งในส่วนนี้ส่งต่อไปในเรื่องความงามและสุขภาพ และสำหรับ บัวไทยดั้งเดิมที่ต้องอนุรักษ์ อย่าง บัวจงกลนี เป็นบัวที่มีชื่อกล่าวขานมายาวนาน เป็นดอกไม้ที่เกี่ยวเนื่องกับนางสงกรานต์ มีความสวยงามและหายาก

“บัวจงกลนีกลีบดอกจะซ้อนมากมีขนาดดอกใหญ่และเมื่อบานแล้วจะไม่หุบ เป็นบัวที่ไม่มีเกสร ขยายพันธุ์ด้วยหัวย่อย ๆที่ติดต้น และด้วยลักษณะนี้ข้อดีคือจะได้พันธุ์แท้ นอกจากนี้ยังมี นิลุบล บัวลินจง โดยบัวลินจง เป็นบัวสายบานกลางคืน เป็นบัวดั้งเดิม เป็นหนึ่งในพิกัดยา ทั้งนี้บัวแต่ละชนิดมีสารสำคัญในตัวเอง เป็นเรื่องที่น่าศึกษา ค้นคว้าเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอด”

อีกทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมบัวยังเป็นพืชช่วยบำบัด ดูดซับสารอินทรีย์ต่าง ๆ ช่วยให้นํ้าสะอาด เป็นอีกส่วนหนึ่งบอกเล่าเรื่องบัว ไม้นํ้าไม้ที่มากด้วยประโยชน์ ควรค่าแก่การอนุรักษ์ดูแล.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ