โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยเศรษฐกิจฝืดเคืองเข้ามาประกอบ ซึ่งก็อาจจะเป็น “จุดอ่อน-ช่องโหว่” ที่ทำให้บางคน…

“มีโอกาสจะตกหลุมพรางมิจฉาชีพ”

“เสี่ยง” ที่จะ “เป็นเหยื่อตุ๋นออนไลน์”

ทั้งนี้ ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ระบุเช่นนี้…ไม่เกินจริงเลย และเมื่อย้อนดู “สถิติรับแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” ที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รวบรวมไว้ช่วงวันที่ 1 มี.ค. 2565 ถึงวันที่ 20 ธ.ค. 2566 ก็มีการเปิดเผยออกมาว่า… มีการรับแจ้งความคดีออนไลน์สูงถึง 391,631 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 10,122,822,746 บาท ซึ่งเป็น…

“สถิติที่น่าตกใจ” และสะท้อนว่า…

ปีหนึ่ง ๆ “คนไทยตกเป็นเหยื่อไม่น้อย”

แม้หลัง ๆ จะมีการเตือนให้ระวังตัวก็ตาม

สำหรับ คดีออนไลน์ที่มีการรับแจ้งความมากที่สุด นั้น ประกอบด้วย อันดับ 1 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 160,819 คดี มูลค่าความเสียหาย 2,306,485,393 บาท อันดับ 2 หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 50,536 คดี มูลค่าความเสียหาย 6,344,692,277 บาท อันดับ 3 หลอกให้กู้เงิน จำนวน 43,193 คดี มูลค่าความเสียหาย 1,926,948,604 บาท อันดับ 4 คือ หลอกให้ลงทุน ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 32,501 คดี มูลค่าความเสียหาย 17,194,810,386 บาท และ อันดับ 5 เป็นการข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) 27,620 คดี มูลค่าความเสียหาย 6,156,163,198 บาท …นี่เป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนสถานการณ์นี้

สะท้อน “แนวโน้มเหยื่อตุ๋นออนไลน์”

ที่… “ปี 2567 อาจยิ่งมากแซงปี 2566”

ทั้งนี้ ถ้า “โฟกัสที่มูลค่าความเสียหาย” แล้ว ก็จะเห็นว่า…คดีที่ไม่ได้ติดอันดับ 1 อย่างการ “หลอกลงทุนออนไลน์” ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ แม้จะมีจำนวนคดีเป็นอันดับที่ 4 แต่กลับ “สร้างมูลค่าความเสียหายสูงลิ่ว” มากกว่าการหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่เรื่องนี้ก็น่าจะมีการวิเคราะห์ถึง “ปัจจัยกระตุ้น” ทำให้เกิดกรณีดังกล่าว โดยเรื่องนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้ขอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและการตลาด คือ ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA (Analyst MBA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ช่วยวิเคราะห์ โดยผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ได้มีการสะท้อนถึง “ปรากฏการณ์” นี้มาดังนี้…

ดร.ภูษิต ได้ระบุกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… ปัจจุบันมิจฉาชีพมีการใช้กลยุทธ์ “หลอกลวงหลากหลายรูปแบบ” โดยเฉพาะบน “แพลตฟอร์มฮิต” อย่าง “โซเชียลมีเดีย” ที่จะพบกรณีลักษณะนี้เกิดเพิ่มขึ้นเยอะมาก ๆ โดยมิจฉาชีพออนไลน์มักเลือกใช้ช่องทางนี้ในการออกอุบายให้คนหลงเชื่อ เพื่อชักชวนให้คนติดตามและร่วมลงทุน และปัญหาก็คือ…ถึงแม้ว่าจะมีการออกมาย้ำเตือนบ่อย ๆ เกี่ยวกับภัยแบบนี้ แต่สุดท้ายก็ยังมีผู้ที่หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากอยู่ดี…

แต่ละปี “ความเสียหายยิ่งเพิ่มขึ้น”

หลัง ๆ “สูงแตะหลักหมื่นล้านบาท!!”

ทาง ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ยังฉายภาพ “วิวัฒนาการ” กรณีปัญหา “หลอกลงทุน” ว่า… จริง ๆ ภัยลักษณะนี้ไม่ได้แปลกใหม่ในด้าน “จุดขาย” ที่ใช้หลอกลวง โดยจุดขายที่ใช้ก็ยังเป็น “ลงทุนน้อย-ผลตอบแทนสูง” ซึ่งอุบายแบบนี้มีมานานแล้ว เพียงแต่เปลี่ยน
เครื่องมือที่ใช้เข้าหาเหยื่อแตกต่างไป ยกตัวอย่างเช่น “กรณีคลาสสิก” ในไทยอย่าง “แชร์แม่ชม้อย” ในปี 2520-2528 ที่เป็นการ หลอกลงทุนรถขนน้ำมัน โดยใช้เล่ห์จูงใจด้วยการ สัญญาจะให้ผลตอบแทนสูงถึงปีละ 78%

และอีกคดีที่โด่งดังในไทยมากเช่นกัน ก็คือกรณี “แชร์บลิสเชอร์” ในปี 2534 ที่เป็นการ หลอกให้ลงทุนไทม์แชร์ริ่ง หรือสิทธิการเข้าพักโรงแรม โดยคนที่สนใจ-คนที่หลงเชื่อ ต้องจ่ายเงินค่าสมัครสมาชิกครั้งแรก 30,000 บาท และหลอกว่าถ้า ชวนคนอื่นให้มาลงทุนจะได้ผลตอบแทน 20% ซึ่งหลายคนคิดแค่ว่าหาคนมาสมัครเพิ่ม 5 คน ก็คุ้มทุนแล้ว และ…

มีคนถูกหลอกเป็นจำนวนมาก!!

ขณะที่กรณี “ยูฟันด์” ในปี 2558 ก็เป็นอีกเคสที่น่าสนใจ เพราะมีความสลับซับซ้อนในการหลอกคนลงทุน อีกทั้งมีการจัดฉากในต่างประเทศด้วย เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ เพื่อทำให้คนหลงเชื่อ โดยกรณีนี้เป็นการ หลอกลงทุนเป็นสมาชิกเพื่อซื้อเงินสกุลยูโทเคน ที่ตั้งขึ้นมาเองและไม่ได้มีอยู่จริง ส่วนอีกกรณีดังคือกรณี “Forex-3D” ที่เกิดขึ้นปี 2562 ซึ่งมีศิลปิน นักร้อง นักแสดง เข้าไปเกี่ยวข้อง-เข้าไปร่วมลงทุนจำนวนมาก โดยกรณีนี้เป็นการ หลอกให้ลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน เพื่อ แลกกับการได้รับอัตราผลตอบแทนที่สูงลิ่ว …เหล่านี้เป็นบางส่วนของกรณี “หลอกลวงลงทุน” ที่ผ่าน ๆ มา ที่…

คนไทย” ทั้ง “เป็นเหยื่อ” และ “คนตุ๋น”

“สังคมไทยน่าช่วยกันถอดรหัส” ภัยนี้

“ตุ๋นลงทุน” นั้น “ไฉนเป็นภัยอมตะ??”

ปัจจัยก่อภัยนี้ตอนหน้ามาดูต่อ