วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็จะชวนดู “พิษร้ายความเหงา” โดยมีรายงานของ WHO เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ระบุว่า… จากการวิเคราะห์บทบาทการเชื่อมโยงทางสังคมในการปรับปรุงสุขภาพสำหรับคนทุกวัยซึ่งดำเนินการมาเป็นเวลา 3 ปี พบว่า… ขณะนี้ทั่วโลกพบอัตราการโดดเดี่ยวทางสังคมสูงเพิ่มขึ้น โดย “ความเหงา” ที่ผู้คนเผชิญอยู่ “กำลังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ” รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งสำหรับคนที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่แน่นแฟ้นเพียงพอนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องเผชิญกับ “ความโดดเดี่ยว” ความเหงา…หากแต่ยัง “เสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพ”…

ไม่เพียง “โรคซึมเศร้า-การคิดสั้น”…

ยังมี “โรคหลอดเลือดฯ-สมองเสื่อม”

ทั้งนี้ ในรายงานของ WHO-องค์การอนามัยโลก ย้ำถึงปัญหาเรื่องนี้ไว้ว่า… ปัญหานี้มีความคล้ายคลึงกันในทุกภูมิภาคของโลก และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ซึ่ง ความเหงาเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่รุนแรงจนไม่อาจประเมินได้!! โดย “กลุ่มผู้สูงอายุ” ที่เกิดภาวะความเหงานั้น มีการศึกษาพบว่า… สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นถึง 50% ที่จะนำสู่ โรคสมองเสื่อม และ 30% ต่อการเกิด โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ โรคหลอดเลือดสมอง …นี่เป็นข้อมูลน่าตกใจจากรายงานขององค์การอนามัยโลก ถึง “พิษภัยความเหงา” ที่ก็ควรต้องเชื่อว่า… “ความเหงาร้ายกาจกว่าที่คิด!!”

และเกี่ยวกับ “ความเหงา” ที่ทางองค์การอนามัยโลกระบุเป็น “ผลกระทบด้านสุขภาพระดับโลก” นี้… “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เคยสะท้อนต่อข้อมูลไว้ และก็ขอชวนดูกันอีกว่า… สังคมไทยกำลังเผชิญการระบาดของความเหงา!! โดยเฉพาะหลังมีวิกฤติโควิด-19 ซึ่ง รศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เคยมีการสะท้อนไว้ว่า…“ความเหงา” เป็นอีกหนึ่งความรู้สึกที่พบได้ชัดเจนมากขึ้นจากการที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะที่ “นิยามความเหงา” นั้น ทางนักวิชาการท่านนี้ก็ได้อธิบายไว้ สรุปได้ว่า “ความเหงา” หมายถึง…ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อความสัมพันธ์ทางสังคมที่บุคคลหนึ่งมีในขณะนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าที่บุคคลนั้นต้องการ ซึ่งความเหงาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคน ๆหนึ่งรู้สึกว่าปฏิสัมพันธ์ที่ตนเองมีกับผู้อื่นยังน้อยเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคน คนนั้นนำความรู้สึกดังกล่าวเปรียบเทียบกับความต้องการของตนเอง …นี่เป็นนิยาม “ความเหงา” ที่นักวิชาการได้อธิบายไว้

กับ “ช่วงวัยที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะเกิดโรคเหงา” นั้น ทาง รศ.ดร.มนสิการ ระบุไว้ว่า… คือ “กลุ่มเยาวชน-กลุ่มวัยรุ่น” เนื่องจากคนหนุ่มคนสาวจะเป็น “กลุ่มที่มีความคาดหวังต่อความสัมพันธ์สูง” เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า ทำให้เยาวชน วัยรุ่น รู้สึกไม่เติมเต็มด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้มากกว่า ขณะที่การจัดแบ่ง “ระดับความเหงา” นั้น นักวิชาการท่านเดิมก็ระบุไว้ว่า…จำแนกได้เป็นหลายระดับ หลัก ๆ ก็มีตั้งแต่ ระดับเล็กน้อย, ระดับปานกลาง, ระดับรุนแรง

นอกจากนั้น กับภาวะ “ความเหงา” นี่ใน “มุมจิตวิทยาสังคม” ก็ให้ความสนใจด้วยเช่นกัน โดยสำหรับในมุมนี้ทาง คงพล แวววรวิทย์ นักจิตวิทยาประจำศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการสะท้อนข้อมูลผ่านทางบทความเรื่อง “ความเหงากำลังระบาด” ไว้ว่า… ในทางจิตวิทยาได้มีการแบ่งความเหงาไว้เป็น 3 ประเภท ดังนี้…

ความเหงาแบบชั่วคราว (Transient Loneliness) หรือความเหงาในชีวิตประจำวัน ที่เกิดชั่วครั้งชั่วคราว เป็นความเหงาที่พบได้บ่อยที่สุด แต่ก็อาจไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก, ความเหงาจากสถานการณ์ (Situational Loneliness) มักเกิดขึ้นหลังเผชิญเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อชีวิต เช่น สูญเสียคนที่รัก หย่าร้าง จบความสัมพันธ์กับใครสักคน, ความเหงาแบบเรื้อรัง (Chronic Loneliness) ประเภทนี้มักเกิดเมื่อเกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจในความสัมพันธ์ของตนกับผู้อื่นเป็นเวลานานติดต่อกัน และไม่สามารถจะพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นได้ ซึ่งความเหงาประเภทนี้มักจะเกิดขึ้นกับคนที่มีปัญหาในด้านการปรับตัว

ส่วน “สาเหตุของความเหงา” นั้น นักจิตวิทยาศูนย์สุขภาวะทางจิตให้ข้อมูลไว้ว่า… มีปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ได้แก่… ลักษณบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน, ค่านิยมและบรรทัดฐานทางสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน, สถานการณ์ทางสังคมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนั้น เช่น ความเครียดของคนว่างงาน ความไม่พอใจในการสมรส การสูญเสียคนรัก เป็นต้น

และสำหรับ “วิธีป้องกันและรับมือกับความเหงา” ก็มีการแนะนำไว้ ซึ่งน่าพิจารณากัน คือ… 1.ทบทวนความรู้สึกของตนเองทำความเข้าใจที่มาที่ไปความรู้สึกที่เกิดขึ้น, 2.ทบทวนความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เพื่อมองหาความสัมพันธ์ที่ตนเองต้องการหรือความสัมพันธ์ที่มีคุณค่า, 3.พัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพของตน, 4.เปิดโอกาสให้ตนเองได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ใหม่ ๆ รวมถึง 5.หากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำเพิ่มเติม เพื่อยืดเวลาการกลับมาอยู่กับตัวเอง และก็อาจจะไปถึงขั้น 6.พูดคุยปรึกษากับนักจิตวิทยา เพื่อหาวิธีรับมือกับความเหงาเพิ่มเติม

ทั้งนี้… เรา ๆ ท่าน ๆ เมื่อรู้ว่า “ความเหงาร้ายกว่าที่คิด” ก็น่าจะได้ตระหนัก-เท่าทันกันไว้ ซึ่งไม่ว่าจะวัยใด…ทั้งตนเองและคนใกล้ชิดรอบข้างก็น่าจะร่วมด้วยช่วยกัน “สกัดกั้นพิษภัยความเหงาเข้าครอบงำ” อย่างเช่นเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึง…

ทำดี ๆ เช่นไรจึงจะมีความสุขกันดี??

ทั้งกับตัวเองและคนในครอบครัว

“ไม่เหงา” และก็ “ไม่ทิ้งให้ใครเหงา”.