ทั้งนี้ “แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลจะพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด แต่ยังมีคนอีกหลาย ๆ กลุ่มที่คิดรวมกันแล้วมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั้งประเทศ ที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงและสัมผัสการมีอยู่ของโลกออนไลน์ จนส่งผลทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า…ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล”…

นี่ก็เป็น “อีกปัญหาที่เกิดขึ้นในไทย”

กับ “กลุ่มเปราะบาง…ผู้พิการ-สูงวัย”

รวมถึงกับ “ผู้ด้อยฐานะทางการเงิน”

ทั้งนี้ กรณีปัญหาดังกล่าวนี้…วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อ “ข้อมูลที่น่าพิจารณา” จากบทความโดย ศรุตา เบ็ญก็เต็ม ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งในปัจจุบัน ในยุคที่โลกออนไลน์ก็ขยายวงอย่างมากในประเทศไทย การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทยก็แพร่หลายทั่วไป หลาย ๆ คนอาจจะไม่เชื่อว่ากรณี “ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล” หรือ “Digital Divide” นี้จะเป็น “อีกกรณีปัญหาในประเทศไทย”

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ทาง ศรุตา นักวิชาการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้มีการสะท้อนไว้ โดยสังเขปมีว่า… ในประเทศไทยยังคง มีกลุ่มคนที่ขาดโอกาสเข้าถึงความก้าวหน้าของโลกออนไลน์ หรือเข้าถึงความก้าวหน้าของโลกออนไลน์ได้ไม่ดีและเกี่ยวกับการ “ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล” นั้นก็ “นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายใหญ่สำหรับประเทศไทย” เพราะในขณะที่มีเทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่แทบทุกวัน หากแต่กลับมีคนบางกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี หรือเข้าถึงได้ไม่ดี โดยในส่วนของ “ผู้พิการ” และ “ผู้สูงอายุ” นั้นก็ถือว่าเป็น “กลุ่มเปราะบางที่ต้องเผชิญปัญหา” กรณีนี้-เรื่องนี้…

ผลก็คือ “ทำให้เข้าไม่ถึงโอกาส”…

โอกาส “ที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

นักวิชาการหน่วยงานดังกล่าวข้างต้นระบุไว้ว่า… ข้อจำกัดต่าง ๆ” ที่ทำให้กลุ่มเปราะบางทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุเข้าไม่ถึง หรือเข้าถึง…แต่ไม่เต็มศักยภาพอย่างที่ควรจะเป็น เกี่ยวกับโลกออนไลน์ เกิดจาก “ปัจจัย” สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้คือ…

“ปัจจัยข้อจำกัดทางกายภาพ” จากความบกพร่องทางร่างกาย อาทิ บกพร่องการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว สติปัญญา การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ ซึ่งความบกพร่องหรือความพิการทางด้านร่างกายเหล่านี้ทำให้ถูกมองข้ามเรื่องของการสนับสนุนให้มีโอกาสพัฒนาความสามารถในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ จนเสมือนว่า “กลุ่มเปราะบาง” เหล่านี้ถูกกีดกัน…

จน “เข้าไม่ถึงโอกาสในโลกดิจิทัล”

ถูกมองข้ามจนไม่ได้รับการส่งเสริม

ปัจจัยต่อมาเป็น “ปัจจัยการศึกษาและทักษะทางภาษา” โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งปัญหาที่พบได้บ่อยก็คือ…ถึงแม้กลุ่มเปราะบางอาจได้รับการสนับสนุนในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ Smart Device แต่ส่วนใหญ่ยังมีอุปสรรคจากปัญหาทางด้านภาษาที่ต้องรู้เพื่อใช้งานโลกออนไลน์ ทำให้กลุ่มเปราะบางที่เกิดข้อจำกัดนี้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ในโลกออนไลน์ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงขาดโอกาสที่จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อให้เกิดกระบวนการสร้างงานสร้างอาชีพในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้น ถ้า ส่งเสริมให้กลุ่มเปราะบางเหล่านี้ได้พัฒนาทักษะ นี้ จะไม่เพียง…

เป็นการ “ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ”

ยัง “เพิ่มโอกาสที่จะพัฒนาชีวิตด้วย”

ทั้งนี้ อีกปัจจัยที่เป็นข้อจำกัด และไม่เพียงกับผู้พิการ-ผู้สูงวัย… “ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม” ซึ่งทาง ศรุตา ระบุไว้ว่า…ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อ “ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล” ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากเรื่องนี้สัมพันธ์โดยตรงกับฐานะการเงิน-รายได้ หรือแม้แต่ชุมชน พื้นที่อาศัย กลุ่มสังคมของแต่ละบุคคล ซึ่งแม้มีการนำ “กลไกการสนับสนุน” ผ่าน “เงินช่วยเหลือและระบบคูปอง” มาใช้ส่งเสริมกลุ่มเปราะบาง อาทิ คนพิการ ให้เข้าถึงการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัล แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดอยู่…

“แม้ภาครัฐจะพยายามพัฒนาปรับปรุงกลไกการสร้างโอกาสในการเข้าถึง แต่ความสามารถในการครอบครองอุปกรณ์ดิจิทัล และการมีค่าใช้จ่ายเสริม เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าไฟฟ้า ค่าสัญญาณโทรศัพท์ ก็เป็นข้อจำกัดที่ทำให้เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิทัล โดยคนบางกลุ่มก็ต้องเลือกใช้จ่ายเงินที่มีกับการใช้จ่ายประจำวัน” …นี่ก็เป็นอีก “ปัจจัยก่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล” …ซึ่งกับปัจจัยเรื่องนี้ ทางออกที่จะช่วยให้เข้าถึงโลกดิจิทัลได้ดีขึ้น ก็ต้องช่วยทำให้รายได้สมดุลกับค่าใช้จ่ายก่อน

ด้วยปัจจัยข้อจำกัดต่าง ๆ… ข้อมูลบทความดังกล่าวยังชี้ไว้ว่า… เป็นความท้าทายสำคัญของประเทศไทย ในการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล หรือ Digital Devide ให้ช่องว่างหดแคบลง ที่สำคัญ…การลดความเหลื่อมล้ำเรื่องนี้ควรทำในทุกกรอบ-ทุกมิติ ทั้งนี้ ควร ส่งเสริมความสามารถในการ “เข้าถึงโลกดิจิทัล” ได้อย่าง “เสมอภาค-เท่าเทียม” ไร้ข้อจำกัด

“ลดเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล” ก็ “สำคัญ”

สำคัญ “ไม่เพียงเข้าถึงดิจิทัลได้ดี”…

ยัง “ลดเหลื่อมล้ำเรื่องอื่นได้ด้วย”.