ทั้งนี้ ผู้สูงอายุไทยกำลังเผชิญสถานการณ์ปัญหานี้ที่น่าเป็นห่วง ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการเผย ผลสำรวจจากโครงการที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุทั่วประเทศ ปี 2566 ที่พบว่า…แม้จะมีการขยายตัวในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่เพียงพอ และกระจุกตัวอยู่แค่ในเมือง ที่สำคัญ ผู้สูงอายุที่ฐานะไม่ดีไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยปัจจุบันมีผู้สูงอายุราว 12.9 ล้านคน แต่มีแค่ 1% หรือ 1.3 แสนคน ที่เข้าถึงระบบบริการที่อยู่อาศัยได้ …นี่ก็กรณีปัญหา

“ไทยยุคสูงอายุ” จะ “ต้องเร่งปลดล็อก”

เพื่อจะ “สกัดปัญหาที่อยู่ของผู้สูงอายุ”

เกี่ยวกับกรณีปัญหาผู้สูงวัยในเรื่องนี้ ที่ก็ถือเป็นอีกความท้าทายของไทยที่จะ “ต้องปลดสลัก-ต้องถอดรหัส” ให้ได้ไว ๆ ก่อนที่ปัญหาดังกล่าวนี้จะลุกลามขยายวงมากขึ้นนั้น… กับแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ก็มีการวิเคราะห์ที่น่าสนใจในบทความชื่อ “ที่ที่ใช่สูงวัยในถิ่นที่อยู่ : ทบทวนแนวคิดและการดำเนินการด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุไทย” โดย ธีรนงค์ สกูลศรี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้สะท้อนมุมมองปัญหา และเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไว้ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ… เพื่อการ “จัดการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้ผู้สูงอายุไทยสามารถใช้ชีวิต” และ…

ให้ “สามารถดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี

ทั้งนี้ ในชุดข้อมูลที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนต่อวันนี้…มีการเกริ่นถึงสถานการณ์ปัญหาเรื่องนี้ไว้ประมาณว่า… ผู้สูงอายุไทยเป็นประชากรอีกกลุ่มที่ต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ยังคงต้องทำงาน เพราะรายได้ลดลงหรือมีรายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีวิต ซึ่งปัญหาหลักเรื่องนี้เกิดจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมวัยเกษียณ การพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่เหมาะสม ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า… “ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้ก็สามารถเข้าถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้” บนฐานคิดเรื่อง “ความเป็นธรรมในสังคม”

และจากฐานคิดเรื่อง “ความเป็นธรรมในสังคม” นี่เอง ทำให้ นโยบายในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ…จึงต้องไม่ใช่แค่การมีบ้านอยู่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังจะต้องเป็นการพัฒนาภายใต้บริบทความเป็น “ชุมชนแวดล้อมที่เกื้อกูล” อีกด้วย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยสำหรับเรื่องนี้ก็ ต้องใช้ความเข้าใจและความร่วมมือของทุก ๆ ภาคส่วนในการที่จะพัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้มีความทันสมัย ในยุคที่อะไร ๆ เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว…

เพื่อ “ให้เท่าทันกับสถานการณ์”…

ในชุดข้อมูลด้านประชากรดังกล่าวยังระบุไว้อีกว่าแม้รัฐบาลจะมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ตามมาด้วยภาระการเงินการคลัง ที่จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ นโยบายการจัดการที่อยู่อาศัย และนโยบายการดูแลผู้สูงอายุ ที่รวมถึงบริการทางสุขภาพ สังคม สวัสดิการ หรือบริการสาธารณะอื่น ๆ ไม่ควรแยกออกจากกัน แต่จำเป็นต้องออกแบบให้รองรับ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งเรื่องนี้…

“สำหรับไทย” นี่คือ “ความท้าทายใหญ่”

นอกจากนี้ ทาง ธีรนงค์ สกูลศรี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้สะท้อนถึง “นโยบายด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ” ไว้ว่า… พิจารณานโยบายและการดำเนินการเรื่องนี้ในอดีต จะพบว่า… มักให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อสร้างและปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย หรือเอื้อต่อการใช้ชีวิตภายในบ้านของผู้สูงอายุเป็นสำคัญ แต่ยังไม่ได้รวมเรื่องระบบบริการที่สนับสนุนการดำรงชีวิตตามความจำเป็นของผู้สูงอายุ โดยในความเป็นจริงแล้ว ผู้สูงอายุอาจต้องอาศัยอยู่เพียงลำพัง หรืออยู่กับผู้สูงอายุด้วยกันเอง ซึ่งเมื่อผู้สูงอายุมีความสามารถถดถอยลง ก็จึงไม่สามารถมั่นใจได้ว่า…ผู้สูงอายุจะสามารถอยู่บ้านนั้นได้ไปตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ ถึงแม้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่แล้ว “อยากอยู่ที่อยู่เดิม” แต่…

บางคนก็อาจจะ “ไม่สามารถที่จะอยู่ได้”

แล้ว “ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม” ควรเป็นเช่นไร? …เรื่องนี้ในบทความ “ที่ที่ใช่สูงวัยในถิ่นที่อยู่ฯ” ได้อ้างอิง “นิยาม” ของ ศูนย์การสูงวัยยุคใหม่ระดับโลก (GCMA) ไว้ว่า… ไม่ควรเน้นแค่ที่พักพิง แต่ต้องเน้นเรื่องความเป็นมนุษย์ ภายใต้กรอบสำคัญ 7 ประการ คือ… 1.เป็นที่ที่เลือก (Choice), 2.มีความปลอดภัย (Safety), 3.มีความสะดวกสบาย (Comfort), 4.เข้าถึงได้ (Access), 5.เป็นอิสระ (Independence), 6.สามารถติดต่อเชื่อมโยง (Connectness), 7.ต้องมีความสุข (Happiness) …นี่เป็น “ที่อยู่ผู้สูงอายุที่เหมาะสม” ตามนิยามองค์กรนี้…ที่ “บ้านผู้สูงวัย” นั้น “ไม่เป็นแค่ที่พักพิง…แต่อยู่แล้วมีความสุขด้วย”…

ทั้งนี้ ในแหล่งข้อมูลข้างต้นชี้ไว้ด้วยว่า… ปัญหาที่เกิดจากการที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นับว่าเป็นปัญหาเชิงบริบทของประเทศ ซึ่งทุกเรื่องภายใต้บริบทล้วนได้รับผลกระทบหมด ฉะนั้นการมองสถานการณ์นี้เป็นเรื่องผู้สูงอายุเท่านั้นไม่เพียงพอต่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงควรมีแนวทางการจัดการปัญหานี้ให้ครอบคลุมด้านกายภาพและสังคม…

รัฐบาลปัจจุบันก็ดูจะใส่ใจสนใจเรื่องนี้

ก็ “น่าตามดูอะไร ๆ ที่มิใช่แบบเดิม ๆ”

กรณี…“ที่อยู่ที่ใช่ที่ผู้สูงวัยไทยเข้าถึง”.