โดย “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลการวิเคราะห์แนวโน้มพฤติกรรมคนไทยรุ่นอายุดิจิทัลกับความตาย ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจจากบทความที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ เดอะประชากร.คอม บทความหัวข้อ “ตายตั้งตัว…เมื่อประชากรรุ่นอายุดิจิทัลเริ่มตั้งตัวกับความตาย” โดย พิชฌ์นิพัทธ์ วิชัยโน ที่ได้ศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมนี้…

คำว่า “ตายตั้งตัว” นี้ “เป็นอย่างไร??”

“เหตุใดเป็นปรากฏการณ์?” น่าสนใจ

ลองมาพินิจพิจารณากันโดยสังเขป

ทั้งนี้ ทาง พิชฌ์นิพัทธ์ ได้เกริ่นเกี่ยวกับรูปแบบ “ตายตั้งตัว” ที่เป็นคำศัพท์ใหม่ในกลุ่ม “ประชากรวัยดิจิทัล” ไว้ในบทความดังกล่าวว่า… ในสังคมยุคดิจิทัลนั้น ความตายไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปสำหรับประชากรในวัยนี้ จึงทำให้คนรุ่นใหม่สามารถพบเห็น
การตายที่หลากหลายรูปแบบได้มากขึ้น โดยเฉพาะการที่ประชากรรุ่นอายุดิจิทัลเหล่านี้ มีคุณลักษณะพิเศษในการเข้าถึงพื้นที่ออนไลน์ได้ดี ดังนั้นจึงสามารถ เชื่อมโยงรูปแบบความตาย ได้ดีมากกว่าประชากรรุ่นอื่น ๆ

สำหรับกลุ่ม “ประชากรรุ่นอายุดิจิทัล” นั้น ได้มีการอธิบายไว้ว่า… สามารถ แบ่งแยกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกเป็น ชาวดิจิทัลรุ่นเก่า (Old-Digital Natives) ที่เกิดระหว่างปี 2524-2543 หรือเรียกกันว่า…ประชากรเจเนอเรชั่นวาย” ส่วนอีกกลุ่มคือ ชาวดิจิทัลรุ่นใหม่ (New-Digital Natives) ที่เกิดตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา หรือเรียกว่า… ประชากรเจเนอเรชั่นซี” ซึ่งกลุ่มหลังนี้เป็นประชากรที่ได้รับผลต่าง ๆ โดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งยังมีคุณลักษณะการเป็นประชากรที่พร้อมเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ชอบแสวงหาข้อมูลในโลกดิจิทัล กับมีความยืดหยุ่นต่อทุก ๆ สถานการณ์…

จาก “ปัจจัย” เหล่านี้…ทำให้คนกลุ่มนี้…

“ใกล้ชิดระหว่างโลกดิจิทัลกับความตาย”

พร้อมกันนี้ก็ได้มีการอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า… ด้วยจุดเด่นที่ประชากรวัยดิจิทัลเข้าถึงพื้นที่โลกออนไลน์ได้ดี ทำให้ใกล้ชิดกับเรื่องราวชีวิตหลังความตายมากขึ้น จากการที่คนกลุ่มนี้มีโอกาสพบเห็นการตายหลาย ๆ รูปแบบผ่านทางสื่อออนไลน์และโลกดิจิทัล ทำให้ เรื่องความตายไม่ได้ถูกผลักให้เป็นเรื่องไกลตัว อีกต่อไป หากแต่ทำให้ “สนใจออกแบบการตายให้กับตนเองไว้ล่วงหน้า” ไม่ต่างกับการวางแผนอนาคตให้ชีวิตมิติอื่น ๆ จนเกิดศัพท์ที่ใช้เรียก “พฤติกรรมและทัศนคติ” นี้ว่าการ…

“ตั้งตัวกับความตาย” หรือ “ตายตั้งตัว”

ที่ “พบบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ” ในคนกลุ่มนี้…

และอีกประเด็นน่าสนใจจากแนวโน้มพฤติกรรมนี้ ในบทความที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ เดอะประชากร.คอม สะท้อนไว้ว่า… จากความสนใจของประชากรรุ่นอายุดิจิทัล ที่ให้ความ สนใจการ “ออกแบบชีวิตหลังความตาย (Afterlife Design)” เพิ่มขึ้น นั้น พฤติกรรมนี้ก็มีปัจจัยทำให้เกิดทัศนคติ โดยประชากรวัยดิจิทัลมีแนวคิดว่าถ้าตนต้องก้าวเข้าสู่ชีวิตหลังความตาย จะไม่สามารถกำหนดสิ่งที่อยากทำให้เกิดขึ้นได้ในตอนนั้น ทำให้ประชากรวัยดิจิทัลจำนวนไม่น้อยเลือกออกแบบการตายของตนไว้ล่วงหน้าเพื่อรองรับความตายในอนาคต จนเกิด “ประโยคฮิต” เช่น “ถ้าฉันตาย…ฉันอยากจัดงานศพเล็ก ๆ” เป็นต้น

นี่เป็น “ภาพสะท้อน” ปรากฏการณ์นี้

ที่ “ฉายภาพทัศนคติ” ของคนกลุ่มนี้…

นอกจากนั้น อีกประเด็นที่พบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ประชากรวัยดิจิทัลมีทัศนคติ “รองรับ” เกี่ยวกับ “ความตาย” จนทำให้เกิด “พฤติกรรมตายตั้งตัว” คือเรื่องนี้สะท้อนออกมาโดยประชากรกลุ่มนี้ นิยมออกแบบการตายผ่านพื้นที่ออนไลน์มากขึ้น อาทิ… การโพสต์ถึงความต้องการให้มีในพิธีศพตนเอง, การวางแผนข้อมูลดิจิทัลเมื่อเข้าสู่ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต รวมถึงการที่แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ได้มี การจัดทำบัญชีความทรงจำของผู้ใช้งาน เอาไว้ให้ เพื่อให้เก็บไว้เป็นอนุสรณ์ หรือใช้เป็นพื้นที่สำหรับเพื่อนกับครอบครัวมาแบ่งปันความทรงจำ โดยเฉพาะหลังบุคคลเจ้าของบัญชีเสียชีวิตแล้ว…

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายบทความ พิชฌ์นิพัทธ์ วิชัยโน ยังได้สะท้อน “การตั้งตัวกับความตาย” ของ “ประชากรรุ่นอายุดิจิทัล” ไว้ด้วยว่า…สำหรับประชากรรุ่นอายุดิจิทัล ตัวตนกับข้อมูลถือเป็นมรดกหรือทรัพย์สินที่มีคุณค่าและความหมาย ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และความทรงจำ จึงให้ความสำคัญในการออกแบบการตายไว้ล่วงหน้า รวมถึง ให้ความสำคัญในการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของตน โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มโซเชียลที่ใช้ในขณะที่ยังคงมีชีวิตอยู่ อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดนี้จะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่ใน “มุมกฎหมาย” ยังถือเป็น “ความท้าทายของสังคมไทย” อยู่มาก ในขณะที่ปรากฏการณ์เช่นนี้…

“เทรนด์ตายตั้งตัว” นี้… “น่าคิดไม่น้อย”

ที่ “ฟีเวอร์ในกลุ่มประชากรวัยดิจิทัล”

โดย “ออกแบบการตายไว้ล่วงหน้า”…

นี่ “จะเกิดอะไรที่เกี่ยวเนื่องบ้าง??”.