อีกทั้งก่อนหน้านี้ไทยยังได้ปลดล็อก “กัญชา” เพื่อนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงผลิตภัณฑ์กัญชาอย่างปลอดภัย โดยมี องค์การเภสัชกรรม ดำเนินการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การสกัด และการผลิตผลิตภัณฑ์ ฯลฯ อย่างไรก็ดีการปลูกกัญชายังต้องรวมกลุ่มเป็น วิสาหกิจชุมชน ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อดำเนินการตามมาตรฐานและถูกกฎหมาย ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตแล้วหลายแห่ง

ปูมหลังเสียงเรียกร้องมานานเกือบ 30 ปี

ล่าสุดเดือน ส.ค. 64 มาถึงคิว “พืชกระท่อม” ถูกปลดล็อกจากยาเสพติดให้โทษ นาทีนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า พืชกระท่อมจะมาแรงไม่แพ้สมุนไพรตัวอื่น ๆ โดยเสียงเรียกร้องจากประชาชนมีมานานแล้วเพื่อให้พืชกระท่อมออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติด ชาวบ้านตามชนบทใช้ใบกระท่อมมาเป็นยาตามวิถีชีวิตมาแต่โบราณกาล ทีมข่าว 1/4 Special Report พอจะตามไปดูย้อนหลัง ประมาณปี 2536 นายภิญญา ช่วยปลอด  ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคกิจสังคม ได้มีความพยายามผลักดันให้พืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด และกระทำอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จ กระทั่ง ปี  2546 นายภิญญา ได้รับเลือกเข้าไปดำรงตำแหน่ง สมาชิกวุฒิสภา ได้เคลื่อนไหวอีกครั้ง จนนำไปสู่การศึกษาความเป็นไปได้ของประโยชน์จากใบกระท่อม

ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ วุฒิสภา ในครั้งนั้น ได้ระบุว่า ’ในใบกระท่อมมีสาระสำคัญคือ มิตรากัยนีน (Mitragynine) และแอลคาลอยด์ต่าง ๆ ที่มีฤทธิ์ทางเภสัช ต้านอาการอ่อนเพลีย กดความรู้สึกเมื่อยล้า แต่หากใช้ต่อเนื่องจะมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แต่ไม่พบพฤติกรรมการติดสารออกฤทธิ์จากใบกระท่อมมีลักษณะเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น และเสนอให้ยกเลิกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดเพื่อเปิดโอกาสในการใช้ประโยชน์มาพัฒนาเป็นยารักษาโรค“

จากนั้นปี 2559 สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้จัดเวทีระดมสมอง ครั้งใหญ่ ที่ จ.สตูล เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา และนำบทสรุป เสนอต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความเห็นในการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย เมื่อปี 2561 กระทั่งวันที่ 24 ส.ค. 64 เป็นอีกวันที่ต้องบันทึกไว้ในความเปลี่ยน แปลง เมื่อพืชกระท่อมถูกตัดออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 อย่างสิ้นเชิง ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 25 พ.ค. 64 แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ นับเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานเกือบ 30 ปีที่ชาวบ้านต่างจังหวัดรอคอย

เดินหน้าต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้าน

ทันทีที่พืชกระท่อมได้รับการแต่งตัวใหม่ ปลดล็อกไม่ถึง 1 เดือน ภายใต้การรองรับของกฎหมาย จากที่เคยเป็นผู้ร้ายมาเป็นพระเอกขี่ม้าขาวในวันที่ประเทศไทยต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากวิกฤติโควิด แต่ตลาดค้าพืชกระท่อมกลับโตสวนกระแส ตั้งแต่การซื้อขายใบกระท่อม คึกคักอย่างทันตาเห็น มีวางขายตามริมถนน ตลาดนัด หรือแม้แต่ตลาดออนไลน์  ราคา กก.ละ 350-600 บาท ขณะที่ ต้นพันธุ์ ขายต้นละ 200 บาท ไปจนถึง 600 บาท ยังต้องจองคิวกันยาว

นายสุนทร รักษ์รงค์ กลุ่มสมัชชาพืชกระท่อมแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า ในช่วงระยะเวลาเพียง 1 เดือนหลังประกาศปลดล็อกอย่างเป็นทางการ มูลค่าการซื้อ-ขาย พืชกระท่อมในทุก ๆ ผลิตภัณฑ์ มีไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท และยังมีบริษัทเอกชนรายใหญ่อย่างน้อย 9 ราย ได้เข้าทำสัญญารับซื้อใบกระท่อมจากเกษตรกรในพื้นที่ จ.ชุมพร ระนอง และนครศรีธรรมราช ด้วยสัญญาล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 1 ปี

ด้าน นายสงคราม บัวทอง กำนัน ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ ธานี ให้สัมภาษณ์ว่า พื้นที่ ต.น้ำพุ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องที่ได้ศึกษาใช้ประโยชน์พืชกระท่อม มาตั้งแต่ปี 2559 ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อรองรับการนำผลผลิตพืชกระท่อมในรูปแบบต่าง ๆ ปัจจุบันจึงเตรียมต่อยอดนำพืชกระท่อมมาแปรรูปผลิตน้ำกระท่อมสกัดเย็นเพื่อจำหน่ายเกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ โดยมีสมาชิกตามธรรมนูญหมู่บ้าน 120 คน ครอบครองต้นกระท่อมรายละ 3 ต้น มีใบกระท่อมวันละ 100 กิโลกรัมที่ส่งผลิตแปรรูปถือเป็นการนับหนึ่งนำพืชกระท่อมสู่เชิงพาณิชย์ แต่ถ้ามองเป็นพืชเศรษฐกิจรัฐอาจจะให้ปลูกได้มากกว่า 3 ต้น หรือไม่เกินครัวเรือนละ 1 ไร่  แต่จะต้องให้มีการขึ้นทะเบียนเหมือนเกษตรกร

แนะรัฐเร่งวางแนวทางให้ชัดเจน

นายศุภวัฒน์ กล่อมวิเศษ อายุ 64 ปี ชาว ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร ผู้ศึกษาถึงประโยชน์ของพืชกระท่อมมานานกว่า 20 ปี จนได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวว่า หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ทำงานภาคอุตสาหกรรมธุรกิจอ้อยและน้ำตาลจนเป็นผู้จัดการ จนกระทั่งปี 2530 ตัดสินใจกลับมายังบ้านเกิด เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านในการใช้ “ใบกระท่อม” เป็นตัวกระตุ้นพลังงานมานานแล้ว แต่มักจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเพราะเป็นยาเสพติด ตนจึงตัดสินใจค้นคว้าศึกษา จากผู้เฒ่าผู้แก่ และข้อมูลทางวิชาการ เพราะเห็นว่าเป็นพืชสมุนไพรนำมาใช้เป็นยาแผนโบราณในท้องถิ่นกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานแล้ว เรียกว่าสรรพคุณมีประโยชน์มากกว่าโทษ

หลังจากที่มีการประกาศ ตัดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้น คือ การออกกฎหมายเพื่อรองรับเพราะตอนนี้เกิดความสับสนในสังคม จนกลายเป็นกระแส กลายเป็นช่องทางให้บางคนบางพวกฉกฉวยโอกาส ผมกลัวว่า วันข้างหน้าชาวบ้านจะต้องกลายเป็นเหยื่อ และไม่ได้อะไรเลยจากการปลดล็อกพืชกระท่อมในครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องไม่หลงทิศทางคือ เป้าหมายสำคัญของการปลดล็อกพืชกระท่อม นอกเหนือจากการบรรเทาความเดือดร้อนจากพืชกระท่อมในทางกฎหมายแล้ว คือ ประโยชน์ทางยา

รัฐจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจน และให้การส่งเสริม วันนี้มีแต่ข่าวลือ ข่าวสร้างกระแส จนทำให้เกิดความสับสนในสังคม สุดท้ายผลประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับ ก็ต้องกลับไปอยู่ที่กลุ่มนายทุนเหมือนอย่างปลดล็อกกัญชา

นายพีระ กาญจนพงษ์ ผอ.ป.ป.ส.ภาค 8 กล่าวว่า ในอดีตพืชกระท่อมมีสถานะเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และอยู่ในตัวชี้วัดข้อมูลอาชญากรรมของยาเสพติดกลุ่ม 4 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายในส่วนนี้จึงเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ในการสัมมนาเพื่อระดมมันสมอง เพื่อหาทางออกของการแก้ปัญหาพืชกระท่อมอย่างสร้างสรรค์ ของสำนักงาน ป.ป.ส. ที่ จ.สตูล นายคราม บัวทอง กำนัน ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร ได้เสนอพื้นที่ ต.น้ำพุ ให้เป็นพื้นที่ศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน จนนำไปสู่ “น้ำพุโมเดล” หมู่บ้านต้นแบบใช้ประโยชน์พืชกระท่อม

เราใช้เวลาศึกษาวิจัย ด้วยองค์รวมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง คณะกรรมการอาหารและยา, ป.ป.ส., ตำรวจ, ฝ่ายปกครอง และชาวบ้านในชุมชนต้นแบบ จนทำให้วันนี้ พืชกระท่อมได้กลายเป็นพืชที่ถูกต้องตามกฎหมาย และในอนาคตเชื่อว่า พืชกระท่อม จะกลายเป็น 1 ในพืชเศรษฐกิจทางด้านยาของเมืองไทยตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ระหว่างเส้นทางการเดินออกจากบัญชียาเสพติดของ พืชกระท่อม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้จุดความคิดว่า พืชกระท่อมจะเป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อการผลิตยารักษาโรค จะเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่จากราคา กก.ละประมาณ 500 บาท (แต่ละต้นจะให้ผลผลิตปีละ 250 กก.) หากอนุญาตให้ประชาชนปลูกได้ครอบครัวละ 3 ต้น เชื่อว่าจะเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ และประชาชนจะได้ราคาที่เหมาะสมเป็นการเพิ่มรายได้ การปลดล็อกพืชกระท่อม ผลประโยชน์จะต้องตกอยู่กับประชาชนไม่ใช่อยู่ในมือนายทุน แม้ว่าจะปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด แต่ยังคงกฎหมายห้ามมิให้จำหน่าย จ่ายแจก กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี.