โดยสถิตินี้ถูกเผยใน รายงานวิจัย “อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Mental Health in Thailand 2033)” โดย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ที่จุดสำคัญคือ…

มีเป้าหมายให้สังคมไทย “ตระหนัก”

ถึง “ความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิต”

เพื่อ “ร่วมกันสร้างสุขภาวะที่เหมาะสม”

ทั้งนี้ ในรายงานที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ ได้ระบุถึงแนวโน้มอุบัติการณ์ไว้ว่า… คนไทยมีโอกาสเจ็บป่วยทางจิตเพิ่มสูงขึ้น โดย คลังข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า…ไทยมีผู้ป่วยทางจิตเวชเพิ่มขึ้น 2 เท่าในระยะเวลา 6 ปี ซึ่ง เกิดจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่… 1.โครงสร้างสังคมไทยเปลี่ยนแปลง 2.การที่ไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากการสำรวจพบว่า… “กลุ่มผู้สูงอายุ” มีความเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น

นี่เป็นแนวโน้มและการคาดการณ์ปัญหา

สะท้อนว่า “คนไทยเสี่ยงสุขภาพจิตเสีย”

ที่ยิ่งสำคัญก็คือ… ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าคนไทยมีแนวโน้มความเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น แต่กลับพบประเด็นที่น่าตกใจคือ ประเทศไทยยังไม่มีแผนป้องกัน-ยังไม่มีแผนรับมือปัญหาอย่างสมบูรณ์ ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก เพราะขณะที่ยังไม่สามารถป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มผู้สูงอายุได้ ขณะเดียวกันก็ พบแนวโน้มที่จะมีปัญหาเพิ่มขึ้นใน “กลุ่มเด็กและเยาวชน” ด้วย โดยพบว่า… เด็กและเยาวชนไทย ระดับอายุ 5-9 ปี และ 10-19 ปี มีแนวโน้ม“เกิดความผิดปกติด้านจิตประสาทและอารมณ์” ที่มาจากปัญหาความเครียดและความวิตกกังวลในชีวิต จน “มีแนวโน้มป่วยเป็นซึมเศร้าสูง!!”

“ป่วยซึมเศร้า” อาจ “นำไปสู่การคิดสั้น”

อาจเกิด “ปรากฏการณ์วัยรุ่นฆ่าตัวตาย”

สำหรับภาพรวม “สถานการณ์สุขภาพจิต” นั้น ในรายงานวิจัยยังฉายภาพไว้ว่า… ปัญหาสุขภาพจิตถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีจะนำสู่ปัญหาที่รุนแรงขึ้น จน นำสู่การเกิด “เหตุการณ์รุนแรงแบบไม่คาดคิด” ที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งกับตัวของผู้ป่วย คนรอบข้าง และสังคมโดยรวมได้ …นี่เป็น “ปัญหาต่อเนื่องที่อาจจะเกิดขึ้น!!”

และนอกจากกลุ่มผู้สูงอายุและเยาวชน ใน “กลุ่มวัยทำงาน” ก็พบว่าเป็นอีกกลุ่มที่เสี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะ มีความเสี่ยงจากการ “ใช้สารเสพติด” ที่พบแนวโน้มปัญหาเพิ่มขึ้น มีตัวเลขผู้ป่วยจิตเวชในประชากรกลุ่มนี้ที่เข้ารักษาเพิ่มขึ้น

“ภาพรวม” สถานการณ์จิตเวชในไทย

“ทุกกลุ่มวัย” ต่างก็ “มีความเสี่ยงเพิ่ม!!”

จากกรณีปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ทางคณะผู้วิจัยได้มีการเน้นย้ำ “ความจำเป็น” ที่ประเทศไทย “ต้องมองอนาคตเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต” เพื่อให้สามารถ “ปรับตัวรับมือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” อีกทั้งการมีแผนรับมือล่วงหน้ายังมีประโยชน์ด้านการแพทย์ อาทิ ใช้เป็นตัวช่วยในการคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น, ใช้ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพจิต, ใช้เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานบุคลากรการแพทย์ ตลอดจนยังช่วยให้ไทยเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะนำมาใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยสุขภาพจิต …นี่เป็น “ประโยชน์ในอนาคต” หากไทยมี“แผนรับมือล่วงหน้า” ที่รวมถึงการ…

เร่ง “สร้างพื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจ”

ทั้งนี้ กรณีมี “แผนภาพอนาคตปัญหาสุขภาพจิต” นั้น ในรายงานวิจัยยังชี้ไว้น่าสนใจว่า… การมองอนาคตปัญหาสุขภาพจิตจะมีส่วนสำคัญต่อประเทศไทยในการก้าวสู่สังคมดิจิทัล ซึ่ง สังคมดิจิทัลส่งผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง และนี่ย่อมส่งผลต่อสุขภาพจิตด้วยทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ดังนั้น การที่สังคมสามารถเข้าถึงข้อมูลและทรัพยากรที่จะช่วยให้เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และอาจจะเกิดขึ้น จะช่วยให้จัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ …นี่เป็นข้อมูลเชิงเสนอแนะอีกประการ โดยเมื่อ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ก็ “ต้องมีการเตรียมตัวรับมือ” เรื่องนี้ด้วย

และข้อเสนอเชิงนโยบายในรายงานวิจัยก็รวมถึง… ไทยจำเป็นต้องมีการ “ส่งเสริมและสร้างพื้นที่ปลอดภัย-พื้นที่ส่งเสริมความสุข” ให้มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งในพื้นที่เมือง ชุมชน สถานศึกษา สถานที่ทำงาน รวมถึง ควรมีการ “แก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ” ให้มีความเหมาะสมตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป อีกด้วย โดยในรายงานนี้ยังทิ้งท้ายไว้น่าสนใจด้วยว่า…

การที่ “สังคมเป็นสังคมที่มีสุขภาพจิตดี”

นี่ “มิได้เกิดจากความบังเอิญ-โชคช่วย”

“เกิดจากสังคมมีแผนรองรับ-ลงมือทำ”.