และก็บ่งชี้ชัดเจนว่า กรณี “เด็กไทยจมน้ำเสียชีวิต” นั้นสามารถที่จะ “เกิดขึ้นได้ไม่เลือกฤดูกาล” ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ พ่อแม่ผู้ปกครอง “ต้องใส่ใจดูแลเด็ก ๆ ในทุกฤดู”…

ไม่ว่าจะฤดูร้อน…ฤดูฝน..ฤดูหนาว…

จะเป็นช่วงที่ปิดเทอม…ไม่ปิดเทอม…

ฤดูไหน-ช่วงไหนก็ “ต้องป้องกันเด็ก!!”

ทั้งนี้ ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอร่วมกระตุ้นเตือนถึงภัยของเด็กภัยนี้ ที่ปี 2566 นี้ เฉพาะช่วง 2 เดือนกว่า คือตั้งแต่ เดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนตุลาคม ก็พบว่า “มีเหตุการณ์เด็กจมน้ำเกิดขึ้นบ่อย” นับตั้งแต่ช่วง “เริ่มต้นฤดูฝน” จนถึงช่วง “ปลายฤดูฝนจะเข้าฤดูหนาว” ซึ่งเหตุเด็กจมน้ำต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น… เดือนสิงหาคม วันที่ 12 สิงหาคม ที่ จ.นครพนม มี เด็กโต 3 คนจมน้ำเสียชีวิต หลังชวนกันไปเล่นน้ำบริเวณคลองชลประทานในชุมชน โดยเด็ก ๆ ที่เสียชีวิตมีอายุระหว่าง 11-12 ปี

ขณะที่ เดือนกันยายน  ตัวอย่างเช่น… วันที่ 3 กันยายน ที่ จ.อุดรธานี มี เด็ก 7 ขวบจมน้ำเสียชีวิต บริเวณฝายน้ำในหมู่บ้าน และวันที่ 8 กันยายน ที่ จ.อุทัยธานี มี เด็ก ม.1 จมน้ำเสียชีวิต 2 คน ที่บริเวณคลองส่งน้ำขนาดใหญ่ โดยเหตุการณ์นี้มีเด็ก 1 คนที่รอดชีวิต และเข้าสู่ เดือนตุลาคม ไม่ทันถึงกลางเดือนก็มีเหตุน่าเศร้าเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สตูล คือเหตุ เด็กอนุบาลอายุ 5-6 ขวบจมน้ำเสียชีวิต 2 คน หลังเด็กเล็กกลุ่มนี้ชวนกันไปเล่นน้ำที่สระในหมู่บ้านตามลำพังโดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล!!

ตัวอย่างดังที่สะท้อนมานี้ “บ่งชี้ได้ชัด”

“เด็กจมน้ำ” นั้น “เกิดบ่อยได้ทุกฤดู!!”

แม้ว่าที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยแล้วฤดูร้อนมักจะเกิดขึ้นมาก ดังที่ กรมควบคุมโรค ได้เคยออกมาเปิดเผยข้อมูลไว้ หลังจากได้มีการเก็บรวบรวมกรณี “เด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำ”ซึ่งพบว่า… ในแต่ละปีในประเทศไทยมีเหตุการณ์เด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำต่อเนื่อง โดยเมื่อนำจำนวนมาหาค่าเฉลี่ยแล้วพบว่า มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 2 คน!! ช่วงที่มีกรณีเด็กจมน้ำเสียชีวิตชุกที่สุดคือฤดูร้อน-ช่วงปิดเทอมของเด็ก ๆ โดยเฉพาะเดือนเมษายนแต่… ถึงไม่ใช่ฤดูร้อนก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้!!

ส่วนประเด็น “สถานที่เกิดเหตุเด็กจมน้ำ” นั้น ข้อมูลโดยกรมควบคุมโรค จากการสำรวจพบว่า… อันดับ 1 ได้แก่ “แหล่งน้ำธรรมชาติ” ที่พบกรณีมากที่สุดถึงร้อยละ 76.5 และรองลงมาตามลำดับคือ “อ่างเก็บน้ำ-ฝาย” พบราวร้อยละ 11.1, “ภาชนะใส่น้ำภายในบ้าน” อาทิ โอ่ง ตุ่ม พบร้อยละ 3.5 โดยอันดับสุดท้ายคือ “สระว่ายน้ำ-สวนน้ำ” ที่พบร้อยละ 1.8 ขณะที่ “สาเหตุการจมน้ำของเด็ก” นั้น พบว่า… จากการ “เล่นน้ำ” เป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 เกิดจากการ “พลัดตก-ลื่นลงไป”

สำหรับ “ภาคที่เกิดเหตุเด็กจมน้ำมาก” จากที่มีการสำรวจไว้ พบว่า… “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครองแชมป์” ซึ่งมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด โดยเด็ก 7 ใน 10 รายเป็นเด็กที่มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ ส่วน “ช่วงอายุเด็กที่จมน้ำ” นั้น ผลสำรวจพบว่า อันดับ 1 ได้แก่ “เด็กอายุ 5-9 ปี” รองลงมาคือ “เด็กอายุ 0-4 ปี” และ “อายุ 10-14 ปี” ตามลำดับ …นี่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับ“ภัยเด็กจมน้ำ” ที่จะเห็นได้ว่า“เด็กเล็ก” ก็ยังเป็น“กลุ่มเด็กที่น่าเป็นห่วงที่สุด!!”

ทั้งนี้… “หลักช่วยชีวิตคนจมน้ำ” นี่ก็เป็นข้อมูลที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอสะท้อนต่อไว้ด้วย ซึ่งมีแนวทางให้พิจารณาจากทาง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ระบุไว้ว่า… ผู้ประสบเหตุ “จมน้ำ” ส่วนใหญ่มีโอกาสรอดน้อย แม้ว่าบางรายจะได้รับการช่วยเหลือแล้วก็ตาม โดยที่เป็นเช่นนี้มักจะเกิดจากการ ช่วยเหลือไม่ทันท่วงที และ ช่วยเหลือไม่ถูกต้อง ดังนั้น “หลักช่วยเหลือเบื้องต้นถือว่ามีความสำคัญมาก” โดยแหล่งข้อมูลนี้ได้เน้นย้ำไว้ว่า… การแบกตัวหรือยกตัวคนจมน้ำเพื่อเขย่าเอาน้ำออกไม่ใช่สิ่งจำเป็น ซ้ำยังทำให้การช่วยชีวิตคนจมน้ำเกิดความล่าช้าด้วย

ถามว่า…“แล้วควรปฏิบัติอย่างไร??”… เรื่องนี้ข้อมูลจากทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้มีการให้คำแนะนำไว้ว่า… ให้เริ่มช่วยชีวิตคนที่จมน้ำตามแนวทางดังต่อไปนี้… ขั้นตอนที่หนึ่ง นําคนจมน้ำออกจากที่เกิดเหตุให้ไปอยู่ในที่ปลอดภัยเร็วที่สุด โดยอาจจะจัดท่าให้นอนหงายราบบนพื้นที่มีความแข็ง เช่น บนพื้น บนโต๊ะ และถ้าเคยฝึกช่วยชีวิตคนจมน้ำมาแล้วก็ให้เริ่มต้นกระบวนการ “ช่วยหายใจ” ซึ่งขั้นตอนนี้สามารถ ช่วยได้ตั้งแต่ผู้ประสบเหตุยังอยู่ในน้ำ จากนั้นให้โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือหรือเรียกรถพยาบาลทันที โดยต้องไม่ลืมแจ้งสถานการณ์ สถานที่เกิดเหตุ หมายเลขติดต่อกลับ

ต่อมา… ทำการ “ช่วยชีวิต” ผู้จมน้ำ ด้วยการกดหน้าอกจำนวน 30 ครั้ง บริเวณที่กดคือกึ่งกลางระหว่างหัวนมทั้งสองข้าง กดให้ลึกมากกว่า 2 นิ้ว กับกดที่อัตราความเร็วมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที โดย ทำสลับกับขั้นตอน “ช่วยหายใจ” 2 ครั้ง ที่ทำโดยการใช้มือข้างหนึ่งยกคาง อีกมือกดหน้าผากแล้วใช้นิ้วบีบจมูกผู้จมน้ำ จากนั้น ประกบปากเป่าลมหายใจเข้าจนหน้าอกผู้จมน้ำพองขึ้นเล็กน้อย ทำสลับดังที่ระบุมาไปเรื่อย ๆ จนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง หรือ ถ้านําไปโรงพยาบาลได้เร็วกว่ารอก็ให้ไปทันที แต่ต้องช่วยชีวิตตลอดการนําส่ง ห้ามหยุดเป็นอันขาด …นี่เป็นหลักวิธีโดยสังเขป

แม้มีหลักวิธีช่วยชีวิตผู้ที่ “จมน้ำ” แต่…

ที่สำคัญกว่าคือ…“ป้องกันไม่ให้เกิด”

“ป้องกันเด็กเสียชีวิตเพราะจมน้ำ!!”.