ซึ่งวันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็พลิกแฟ้มชวนดูกรณีทำนองนี้อีกกรณี-อีกมุม…ที่ก็ต้องระวัง “ต้องเท่าทัน!!” ไม่เช่นนั้นจะ “ตกเป็นเหยื่อ” ได้ง่าย ๆ…และอาจจะทั้ง “เสียชื่อ-เสียเงิน-เสียตัว”หากพลาดตกเป็นเหยื่อ…

กรณีนี้เป็น “อีกรูปแบบภัยทางเพศ”…

ที่จะมีการ “แบล็กเมล์-ขู่กรรโชก” ด้วย

โดยที่จะ “ยึดโยงกับภาพลับ-คลิปหวิว”

ทั้งนี้ กับกรณีที่ว่านี้…ก็ถือเป็นการ “ถูกล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์” ที่ยึดโยงกับการ“ถูกข่มขู่กรรโชกทางเพศ” โดยมี“ศัพท์เฉพาะ” ที่ใช้เรียกภัยรูปแบบนี้…คือคำว่า “เซ็กซ์ทอร์ชัน (Sextortion)” ซึ่งทาง สำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ได้ให้ข้อมูลภัยนี้ไว้ผ่านบทความ “การข่มขู่กรรโชกทางเพศบนโลกไซเบอร์” เนื้อหาโดยสังเขปนั้นมีว่า… การข่มขู่กรรโชกทางเพศลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเหยื่อหลงกล มีการทำตามคำล่อลวงชักจูงให้เปิดเผย “ภาพหรือคลิปวิดีโอโป๊เปลือย-กิจกรรมทางเพศ” แล้วภาพหรือคลิปนั้นก็จะถูกคนร้ายแอบบันทึกไว้ใช้เป็น “เครื่องมือข่มขู่” ที่มีทั้งการ…

ข่มขู่ให้ส่งภาพหรือคลิปใหม่ไปให้อีก

ให้โอนเงินไปแลกกับการไม่เผยแพร่!!

การ “ข่มขู่กรรโชกทางเพศบนโลกไซเบอร์” แบบนี้ ในแหล่งข้อมูลข้างต้นแจกแจง “พฤติการณ์ของมิจฉาชีพ” ไว้ว่า… เมื่อเกิดกรณีลักษณะนี้ขึ้น เหยื่อมักกลัวเสียชื่อเสียงจึงยอมทำตาม แต่การขู่กรรโชกมักไม่จบแค่นี้ มิจฉาชีพมักมีข้อเรียกร้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ต้องการนัดพบและบังคับให้เหยื่อยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วย ซึ่งหากเหยื่อหลงเชื่อว่าจะจบ ก็จะนำไปสู่กรณีที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น อาจถูกถ่ายภาพหรืออัดคลิปซ้ำอีก …นี่เป็น “อีกภัยทางเพศที่มาทางโลกไซเบอร์”  

สำหรับ “วิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ” การ“ขู่กรรโชกทางเพศทางโลกไซเบอร์” ที่มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า“เซ็กซ์ทอร์ชัน” นั้น ในบทความโดย สพธอ. ได้มีการแนะนำเอาไว้ว่า… ประการแรกเริ่มจาก… ต้องคัดกรองการรับเพื่อนบนโลกออนไลน์ให้รอบคอบ เช่น ต้องตรวจสอบดูให้แน่ใจว่าเป็นบุคคลที่มีตัวตนถูกต้องจริง หรือเป็นเพื่อนของเพื่อนจริงหรือเปล่า และประการต่อมาคือ… อย่าส่ง “ภาพ-คลิปส่วนตัว” ให้ใครทางออนไลน์ ต่อให้เป็นคนรู้จัก เป็นเพื่อน หรือแม้แต่คนรัก…

เพราะหากทะเลาะกัน-หากเลิกรากัน…

ภาพ-คลิปก็อาจจะถูกนำไปเผยแพร่ได้

ส่วนกรณี “พลาดเป็นเหยื่อ ถูกขู่กรรโชกทางออนไลน์แล้วควรทำอย่างไร??” กรณีนี้มี “คำแนะนำ” ไว้ว่า… หากพลาดตกเป็นเหยื่อของผู้ประสงค์ร้าย มิจฉาชีพ เบื้องต้นคือ… ไม่ควรโอนเงินให้ หรือไม่ควรทำตามที่ถูกขู่บังคับ เพราะจะยิ่งทำให้คนร้ายรุกคืบ หรือได้เครื่องมือขู่กรรโชกเพิ่มต่อมาคือ… ปรึกษาคนที่ไว้ใจได้-ช่วยเหลือได้ จากนั้น รวบรวมข้อมูลการข่มขู่กรรโชก รายละเอียดของผู้ที่ข่มขู่ บัญชีที่จะให้โอนเงิน เพื่อใช้เป็นหลักฐาน แจ้งความดำเนินคดี เอาผิด!!

กับ “การเก็บหลักฐานเพื่อใช้แจ้งความ” ก็มี “คำแนะนำ” ไว้ว่า… ให้ บันทึกข้อมูลต่าง ๆ ทั้งหมดของผู้ที่ข่มขู่ เช่น…รูปโปรไฟล์ ชื่อบัญชี เบอร์โทรศัพท์ และ เก็บข้อความทั้งหมดที่มีการพูดคุยกัน หรืออะไรก็ตามที่อาจสามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันตัวตนคนร้าย และกรณีที่เคยยอมโอนเงินไปให้ ก็ใช้หลักฐานการโอนเงินด้วย โดยรวบรวมนำไปแจ้งความ ซึ่งกรณีนี้ แจ้งกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ก็ได้

และกรณี “ภาพลับส่วนตัว คลิปวิดีโอลับเฉพาะ ถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์แล้ว ควรทำอย่างไร??” กับกรณีนี้ก็มี “คำแนะนำ” ไว้ด้วยเช่นกัน คือ… ให้เริ่มจาก… แจ้งผู้ดูแลระบบหรือแพลตฟอร์มดังกล่าวให้ลบภาพหรือคลิป นั้น และการลบมีอีกวิธีคือ… แจ้งลบด้วยตนเอง โดยเข้าไปแจ้งได้ที่ www.ThaiHotline.org ซึ่งวิธีหลังนี้เหยื่ออาจต้องแสดงหลักฐานเพื่อยืนยันให้ได้ด้วยว่าเป็นผู้เสียหาย …นี่เป็นแนวทางเบื้องต้นกรณีที่ “ภาพลับ-คลิปลับ” ได้ “ถูกเผยแพร่ออนไลน์” แล้ว

แต่ “ดีสุดคือระวังไว้ก่อน” มิให้ถึงจุดนี้

หรืออย่างที่พูดกันว่า…“กันไว้ดีกว่าแก้”

ทั้งนี้ การ “ล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์” กรณีแบบนี้นั้น “เกิดกับเหยื่อที่เป็นเด็กเป็นเยาวชนยิ่งอันตราย” ซึ่งก็มีข้อมูลของ คณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) ที่ได้เผยรูปแบบการกระทำความผิดที่พบบ่อย ๆ ไว้ว่า… มักจะมีลักษณะคล้าย ๆ กันคือ มิจฉาชีพมักจะ “ล่อลวงให้เหยื่อหลงเชื่อ” พูดคุยด้วย จากนั้นจะ “ล่อลวงให้ถ่ายให้ส่งภาพหรือคลิปโป๊เปลือยให้” แล้วนำไปใช้ในทางร้าย ซึ่งมีตั้งแต่การ “ส่งต่อ” การนำไป “ขาย” รวมถึงการ “ใช้ขู่กรรโชก” เพื่อเรียกเงิน ละเมิดทางเพศ …ซึ่งเหยื่อที่พบมีทั้งที่ “ไม่ได้ระวังตัว” และ “รู้ไม่เท่าทัน”

นี่เป็น “ภัยภาพ-คลิปหวิว” ที่ก็ขอย้ำไว้

“อีกภัยไซเบอร์” ที่ “ต้องระวัง-เท่าทัน”

“เซ็กซ์ทอร์ชัน” มัน “ร้ายยิ่งกว่าหลุด!!”.