ทั้งนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้สะท้อนต่อเสียงเสนอแนะไปบ้างแล้ว เช่นกรณี “ฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน” หรือ “พายุหมุนเศรษฐกิจจากการแจกเงินดิจิทัล” และวันนี้ ณ ที่นี้ก็มีข้อมูลเสียง “เสนอแนะ” อีกกรณีมาสะท้อนต่อ ซึ่งกรณีนี้ “รัฐบาลเศรษฐา” ก็ “น่าพิจารณา” เพราะ “ยึดโยงการแก้โกง”โดยมีนักวิชาการเสนอไว้ว่า…

ไทยน่าจะ “นำระบบ Quick Win มาใช้”

ใช้ “เพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น”

และก็ “ยกระดับขีดความสามารถไทย”

กับ “ข้อเสนอแนะ” นี้…มีออกมาจาก ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำงานวิจัย “โครงการสังคมไทยไร้คอร์รัปชั่น ระยะที่สอง” ภายใต้การสนับสนุนของ สกสว. และ วช. โดยล่าสุดได้มีการออกมาเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น และเพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย ว่า… ไทยน่าจะใช้ระบบ “ควิกวิน (Quick Win)”

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธานี ระบุไว้ โดยสังเขปมีว่า… เวลาที่พูดถึงการยกระดับความสามารถการแข่งขัน สังคมมักนึกถึงแต่การเพิ่มเงินลงทุน หรือลดภาษี ขณะที่เมื่อพูดถึงการแก้คอร์รัปชั่น สังคมก็จะนึกถึงแต่การทำให้คนเป็นคนดี ซึ่งเป็นการมองภาพแยกขาดจากกัน ส่งผลให้ ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาคอร์รัปชั่นไม่เกิดการเชื่อมโยงกันอย่างที่ควรเป็น ปัญหาคอร์รัปชั่นกลายเป็นเรื่องระยะสั้นและเป็นปัญหาส่วนบุคคล ทั้ง ๆ ที่ ปัญหาคอร์รัปชั่นกัดกร่อนทำลายความสามารถการแข่งขันในระยะยาว อีกทั้งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่และสำคัญมาก ๆ และนำสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ของประเทศไทย

เกี่ยวกับคอร์รัปชั่นที่เป็นปัญหาสำคัญของไทย ผศ.ดร.ธานี ยังระบุไว้ว่า… ตัวชี้วัดที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลคือ “ค่าดัชนีรับรู้การทุจริต (CPI)” โดยวัดระดับคอร์รัปชั่นจากการรับรู้ของประชาชน นักธุรกิจ ข้าราชการ นักวิชาการในประเทศ เอ็นจีโอ นักธุรกิจต่างชาติที่คุ้นเคยกับประเทศนั้น ๆ ซึ่ง…แม้ค่า CPI ไม่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานไทยบางส่วน แต่ค่าดัชนีนี้กลับเป็นที่ยอมรับในระดับสากล  โดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา“ค่า CPI ไทย” อยู่ในช่วง 32-38 และพบว่า “มีแนวโน้มจะแย่ยิ่งขึ้นในระยะยาว”สะท้อนว่า…ตลอด 20 ปีคอร์รัปชั่นในไทยก็ยังคงเหมือนเดิม ซึ่งการที่ประเทศอื่นคะแนนดีแซงไทย เพราะ…

ประเทศนั้น ๆ แก้ปัญหาได้ดีกว่าไทย!!

ส่วน “ผลกระทบ” จากการที่ “คะแนนการจัดการคอร์รัปชั่นไทยแย่” เรื่องนี้ ผศ.ดร.ธานี สะท้อนไว้ว่า… ทำให้ กระทบต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ จนแรงดึงดูดการลงทุนลดลง และมีปัญหาตามมา อย่างน้อย 3 เรื่อง คือ… 1.ประเทศที่สนใจลงทุนในไทยมีน้อยลง ส่งผลให้ไทยมีตัวเลือกผู้ลงทุนจำกัด ทำให้อำนาจต่อรองของไทยลดต่ำลง จนเสียเปรียบ 2.ถูกลดการลงทุนจากประเทศที่มีระดับคอร์รัปชั่นต่ำ สวนทางกับประเทศที่มีระดับคอร์รัปชั่นสูง ซึ่งจะสนใจมาลงทุนกับไทยเพิ่มขึ้น เพราะคุ้นเคยกับระบบที่ไม่โปร่งใส ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปการคอร์รัปชั่นในไทยก็จะยิ่งมั่นคงและแก้ได้ยากขึ้น 3.การใช้งบประมาณภาครัฐอุดหนุนโครงสร้างพื้นฐานจะแพงขึ้น จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการลงทุนลดต่ำลง

และในอีกด้าน…ถ้าคะแนน CPI “ดัชนีรับรู้การทุจริต” ของไทยยัง “อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง และไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะเวลายาวนาน” ก็จะ “มีผลที่จะตามมาจากปัญหาในเรื่องต่าง ๆ” อย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่…

หนึ่ง… กลุ่มธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐจะยิ่งร่ำรวยขึ้น เพราะผูกขาดมากขึ้น, สอง… ประเทศขาดแรงจูงใจในการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน จากการที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เพียงไม่กี่รายที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐจะมุ่งทำธุรกิจบนฐานทรัพยากรและการคุ้มครองจากภาครัฐ เพราะมีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนสูง, สาม… ภาครัฐและภาคการเมืองจะขาดความสนใจการสร้างศักยภาพระยะยาว เพราะกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ไม่กี่รายก็สร้างการเติบโตเศรษฐกิจให้มีตัวเลขที่สวยงาม โดย ประชาชนเป็นเพียงแรงงาน และเป็นภาระที่ภาครัฐต้องช่วยเหลือ …นี่เป็น“ผลเสีย” อีกด้านจากกรณีนี้

ทั้งนี้ “แนวทางแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทย” นั้น ทาง ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ เสนอไว้ว่าคือ… “นำระบบ Quick Win มาใช้ลดปัญหาคอร์รัปชั่น” โดย “ทำพร้อมการแก้ปัญหาโครงสร้างระยะยาว” และ “ทำให้ประชาชนรับรู้ความสำเร็จการต่อต้านคอร์รัปชั่น” เพื่อเพิ่มคะแนน CPI ด้วย 3 กลไก…

กลไกแรก เปิดเผยข้อมูล ที่ประมวลผลและเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานได้โดยง่าย กลไกที่สอง สร้างความโปร่งใสที่มีขั้นตอนชัดเจนและติดตามได้ทางออนไลน์ ซึ่งหมายถึงมีกระบวนการมีส่วนร่วมที่สามารถติดตามหรือตรวจสอบผลการแสดงออกได้ กลไกที่สาม สร้างการมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย มีหลักฐานการตอบสนองของหน่วยงานรัฐ ที่ต้องแสดงออกมาให้ประชาชนเห็น …นี่เป็น “3 กลไกลดปัญหาคอร์รัปชั่น พร้อม ๆ กับเพิ่มศักยภาพประเทศไทย” จากข้อเสนอแนะของ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้… “Quick Win”…

ว่าด้วย “แก้โกง” แล้วก็ “ดีต่อเศรษฐกิจ”

กับระบบ “Quick Win” นี่ถือว่า “น่าคิด”

ไม่รู้ “รัฐบาลเสี่ยนิดคิดเห็นเช่นไร??”.