อย่างไรก็ตาม ที่ย่อมจับตากันในสเต็ปท์ต่อไปก็คือ “นโยบาย” ทั้งในส่วนที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยประกาศไว้ และในส่วนที่อาจมีเพิ่มออกมาเพื่อลดกระแสลบกรณี“รัฐบาลผสมขั้วแบบชวนอึ้ง” ทั้งนี้ วาทกรรมที่ถูกนำมาจั่วหัวเพื่อลดกระแสในเชิงไม่ดีก็หนีไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับการ “แก้ปัญหาปากท้อง-แก้ความยากจน” ที่กรณีนี้ประชาชนคนไทยก็ย่อมต้องจับตาติดตามดูว่า… รัฐบาลใหม่จะทำได้เป็นเนื้อเป็นหนัง-เข้าตาคนไทยหรือไม่อย่างไร??…

โดยเฉพาะการ “ปลดล็อกความยากจน”

ที่ “รัฐบาลชุดนี้สร้างวาทกรรมไว้เยอะ”

แต่ “ยังต้องรอดูว่าทำได้จริงแค่ไหน??”

ทั้งนี้ กับเรื่องการแก้ความยากจนนี่ยึดโยง “เกณฑ์การแบ่งความยากจน-เส้นความยากจน” ที่กรณีนี้เคย “มีปุจฉา” อยู่เรื่อย ๆ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้เรื่อง “มาตรฐานการแบ่งความยากจน” ก็เพิ่งเป็นประเด็นอีกจากกรณี “เกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ” ซึ่งเรื่องเส้นความยากจนนั้นทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เคยเสนอ “เสียงสะท้อนจากนักวิชาการ” ที่หนึ่งในนั้นก็คือ… ดร.สมชัย จิตสุชน นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้และได้มีการสะท้อนไว้ผ่านทางข้อมูล โครงการวิจัย “การศึกษานำร่องเพื่อกำหนดมาตรฐานรายได้ขั้นต่ำของประชากรไทย” ที่วันนี้ ณ ที่นี้จะชวนพลิกแฟ้มดูกันเน้น ๆ… ซึ่งก็ได้มีการอธิบายไว้เกี่ยวกับ“เส้นความยากจน” ที่ในภาษาอังกฤษนั้นใช้คำว่า“Poverty line”

สำหรับที่มาของการศึกษาเรื่องนี้ ดร.สมชัย ได้มีการระบุสะท้อนไว้ โดยสังเขปนั้นมีว่า… การที่ประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อนมากขึ้น ก็ย่อมมีผลต่อการ “เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต” ในเรื่องที่ “เกี่ยวกับเส้นความยากจน” ซึ่งจุดนี้จึ

นำมาสู่การจัดทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับ “การกำหนดมาตรฐานรายได้ขั้นต่ำของประชากรไทย”เพื่อการสร้าง “ตัวชี้วัดทางสังคม” หรือ“Social indicator”  และเพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนด“มาตรฐานรายได้ขั้นต่ำที่ครัวเรือนไทยต้องการ”

ขณะที่หากพลิกย้อนดูกันถึง “เส้นความยากจน” นั้น ทาง ดร.สมชัย ได้ระบุถึงกรณีนี้ไว้ว่า… การคำนวณเส้นความยากจนต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่… ความแตกต่างของพื้นที่ ความแตกต่างระหว่างโครงสร้างครอบครัว รายจ่ายขั้นต่ำที่จะทำให้ได้สารอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมถึงรายจ่ายขั้นต่ำที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งไทยมีการจัดทำเส้นความยากจนมานานหลายสิบปีแล้ว เพื่อใช้เป็น “ตัวขีดแบ่งระดับรายได้” และยังใช้คำนวณ “ประมาณการจำนวนคนจน” ในประเทศไทย ซึ่ง “โยงถึงนโยบายพัฒนาลดปัญหาความยากจน” ที่ถ้าพัฒนาได้เยอะ ๆ ปัญหาความยากจนก็จะลดลง

อย่างไรก็ตาม กับ “การใช้เส้นความยากจนในไทย” ที่ผ่านมานั้น กรณีนี้ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ท่านดังกล่าวได้เคยระบุไว้ว่า… เส้นความยากจนนั้นเหมาะที่จะใช้กับประเทศที่มีสถานะรายได้ต่ำ แต่ประเทศไทยถือว่าขยับเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (High middle income country) แล้ว และระบบเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันก็มีความซับซ้อนมากกว่าในอดีต อีกทั้ง รูปแบบการบริโภค และความจำเป็นขั้นพื้นฐานของคนไทย แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้นการใช้เส้นความยากจนแบบเดิม ๆ จึงอาจจะไม่ตอบโจทย์ บริบทสังคมไทยและเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันนี้ ซึ่งจุดนี้สะท้อนได้จาก “ข้อวิจารณ์ที่อื้ออึง” ว่า…“นโยบายช่วยเหลือที่มีนั้นไม่ตรงความต้องการ!!” เพราะ“เส้นยากจนที่ภาครัฐใช้นั้นต่ำเกินไป!!”

นักวิชาการทีดีอาร์ไอท่านเดิมยังเคยชี้ไว้ด้วยว่า… ในอดีต “เส้นความยากจน” ถูกคิดโดยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ โดยบางครั้งนั้นก็อาจเผลอ“คิดแทนคนที่จน”ว่า…จะต้องมีรายได้ขั้นต่ำเท่าใด? โดย ไม่ได้คำนึงว่าคนที่จนนั้นต้องใช้จ่ายจริง ๆ เป็นจำนวนเท่าใด?…นี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นโยบายช่วยเหลือไม่ตรงเป้า ซึ่ง ดร.สมชัย จิตสุชน เสนอการแก้ปัญหาไว้ว่า… ควรนำการกำหนด “มาตรฐานรายได้ขั้นต่ำ (Minimum income standard : MIS)” มาใช้ประกอบกับ “เส้นความยากจน” โดยควรคำนึงถึงความหลากหลายด้านเศรษฐกิจ-สังคม-พื้นที่คำนึงถึงการยอมรับของประชาชน” เป็นหลัก

“สิ่งที่ควรทำควบคู่กับการจัดทำมาตรฐานนี้ คือ ควรมีกระบวนการกลั่นกรองที่รับฟังความเห็นที่เป็นมติของบุคคลที่มีประสบการณ์ใกล้เคียงกันกับครัวเรือนกรณีศึกษา ซึ่งจะสะท้อนค่าใช้จ่ายครัวเรือนตามมาตรฐานการครองชีพขั้นพื้นฐานคนไทยในปัจจุบัน ได้ใกล้เคียงความจริงที่สุด” …เป็น “ข้อเสนอ” เพื่อ “ให้ตอบโจทย์ได้มากที่สุด”

…ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ “เส้นความยากจนในไทย” ที่เกี่ยวกับ “นโยบายพัฒนาลดปัญหาความยากจนของคนไทย” นั้น ได้ถูกนำมาถกเถียง-มีเสียงวิจารณ์เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งก็น่าคิดว่า… เรื่องการพัฒนาที่ผ่านมาของรัฐบาลในอดีตหลาย ๆ ชุดนั้น เอาเข้าจริง ๆ แล้ว มีนโยบายตอบโจทย์บริบทสังคมไทยและเศรษฐกิจไทยได้ดีเพียงพอหรือยัง?? ซึ่งรัฐบาลทุกยุคก็มี “นโยบายชูโรง” เกี่ยวกับการ “แก้ปัญหาเศรษฐกิจ-แก้ความยากจน” แต่ดูเหมือน ไม่เพียงปัญหาไม่ทุเลา…กลับยิ่งพบปัญหา?? ซ้ำ “ช่องว่างเหลื่อมล้ำก็กว้างขึ้น??”จนผู้คนมากมายมี “ปุจฉา” กับ “รัฐสวัสดิการ?-ประชานิยม?” ที่ผ่าน ๆ มา

ใช้เส้นยากจน“ตอบโจทย์” แก้จน “ถูกจุด”

เป็น “การบ้านข้อใหญ่ของรัฐบาลใหม่”

และก็ “ต้องมิใช่เอื้อคนที่กระเป๋าตุง”…“ต้องเพื่อคนกระเป๋าแฟบ…จริง??”.