ที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน แล้ว ที่รัฐบาลกับแบงก์ชาติ ดูจะไม่เข้าขากันสักเท่าไหร่ นโยบายของรัฐบาลได้ถูกแบงก์ชาติคัดค้านอย่างหนัก โดยเฉพาะการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ที่สุดท้ายแล้วต้องแปรสภาพมาแจกเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้พิการ แทน รวม 14.5 ล้านคน ใช้เงินงบประมาณกว่า 1.45 แสนล้านบาท จากเดิมที่ตั้งใจจะแจกเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือวอลเล็ต รวม 50 ล้านคน วงเงิน 5 แสนล้านบาท

ขณะที่นโยบายการเงินของแบงก์ชาติที่มีหน้าที่กำกับดูแลก็ถูกแรงเสียดทานจากฝั่งรัฐบาลอย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องของการลดดอกเบี้ย ที่รัฐบาลดาหน้ากันออกมา “รุมถล่ม” แบงก์ชาติ ตั้งแต่ตัวนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น หัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงบรรดารมต.เศรษฐกิจ ขุนพลของพรรคเพื่อไทยที่ต่างดาหน้าเรียงตัวถล่มให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย ขณะที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติก็ยืนกรานหนักแน่นถึงความเป็น “อิสระ” และยึดกรอบแนวทางที่มีอยู่อย่างแข็งขัน

ลุ้นคลังถกแบงก์ชาติ

เรื่อยมา!! จนถึงรัฐบาลของ “นายกฯแพทองธาร ชินวัตร” ที่การรุมถล่มแบงก์ชาติก็มีอยู่อย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่าง ๆ จนสุดท้าย รองนายกฯและรมว.คลังอย่าง “พิชัย ชุณหวชิร” ต้องนัดถกผู้ว่าการแบงก์ชาติภายในสัปดาห์นี้ เพื่อหาจุดกึ่งกลางที่เหมาะสมระหว่างการดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน เพื่อช่วยกันนำพาให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ เติบโตได้ ขยายตัวได้ อย่างที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ยึก ๆ ยัก ๆ ต่างคนต่างเดินเป๋ไปเป๋มา ยึดแนวทางของตัวเองเป็นหลัก จนทำให้คนในชาติต้องเผชิญความทุกข์ยากเพิ่มมากขึ้นไปอีก

เพราะตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างแรงที่ 0.5% ได้ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าในประเทศเอเชียนั้นมีจำนวนไม่น้อย รวมถึงไทย ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากและยังเป็นการแข็งค่าอย่างรวดเร็ว แม้ว่าแบงก์ชาติและทางการจะระบุว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 3% ก็ตามและสอดคล้องกับการแข็งค่าของเพื่อนบ้าน แต่ค่าเงินบาทก็แข็งค่าเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากมาเลเซียที่ค่าเงินแข็งค่ามากที่สุด ขณะที่อินโดนีเซีย และเวียดนาม นั้นแข็งค่าน้อยกว่าไทย หรือแม้กระทั่งจีน ที่มีทั้ง 2 สถานะ ทั้งที่เป็นตลาดส่งออกของไทยและคู่แข่งทางการค้าของไทย ค่าเงินหยวนก็แข็งค่าเพิ่มขึ้นเพียง 1% จากที่เฟดลดดอกเบี้ยลงล่าสุด

หวั่นเงินแข็ง31บาท

ไม่เพียงเท่านี้บรรดานักวิเคราะห์ทั่วโลกรวมถึงไทย ยังประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งภายในปีนี้ โดยเชื่อว่าจะปรับลดลงแรงเช่นเดียวกับครั้งก่อนหน้าหรือลดลงอีกประมาณ 0.5% หากเป็นเช่นนั้นจริง!! ก็เท่ากับว่าจะยิ่งกดดันให้ค่าเงินบาทยิ่งแข็งค่ามากขึ้น ซึ่งตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ จนทำให้ เงินบาทขึ้นแท่นเป็นสกุลที่มีค่าเงินแข็งขึ้นมากที่สุดในโลก

ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 31 เดือน นับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2565 โดยอยู่ที่ระดับ 32.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หากนับตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมาแล้ว 3.8% จากระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนทยอยแข็งค่าเพิ่มมากขึ้นเป็น 35 บาท 33 บาท จนล่าสุดมาอยู่ที่ระดับ 32 บาทเศษ ๆ หากเฟดลดดอกเบี้ยลงอีกภายในปีนี้ ก็อาจได้เห็นค่าเงินบาทแข็งค่าไปอยู่ในระดับที่ 31 บาทได้

เอกชนรวมตัวกดดัน

ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นำไปสู่การรวมตัวของภาคเอกชน 8 องค์กร ที่ต้องการส่งสัญญาณให้แบงก์ชาติจับเข่าคุยกับกระทรวงการคลัง เพื่อบริหารค่าเงินไม่ให้แข็งค่ารวดเร็วจนเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นความหวังที่คาดว่าการส่งออกของไทยที่ถือเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจะให้ผงกหัวขึ้นมาได้ อาจต้องดิ่งหัวลงไปแบบไม่เป็นท่าก็เป็นไปได้ ไม่เพียงเท่านี้ยังส่งผลกระทบกระเทือนต่อไปยังเรื่องของการท่องเที่ยว เรื่องของบริการ เข้าให้ด้วย เพราะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นก็เท่ากับว่านักท่องเที่ยวต้องจ่ายค่าสินค้าและบริการในไทยแพงขึ้น เมื่อนักท่องเที่ยวต้องจ่ายแพงขึ้น ก็เชื่อได้เลยว่าการจับจ่ายใช้สอยย่อมน้อยถอยลง

อย่าลืมว่า เวลานี้เรื่องของการท่องเที่ยวยังถูกสำทับปัญหาด้วยสถานการณ์น้ำท่วมเข้าไปอีก ในช่วง 3 เดือนเศษที่เหลือจากนี้การจะขนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาเที่ยวไทยให้ได้ตามเป้าหมายที่ 35 ล้านคน เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ 2 ล้านล้านบาท ก็อาจไปไม่ถึงฝั่งฝันก็เป็นไปได้เช่นกัน แต่ที่น่าจะหนักหนาที่สุด ก็คือ เรื่องของการส่งออกที่อยู่ในจุดเปราะบาง ส่งออกก็แพงแข่งขันได้ยาก เพราะหากเทียบค่าเงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้น 1 บาท ราคาข้าวไทยก็จะมีราคาเพิ่มขึ้นถึง 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งอาจทำให้ไทยพลาดท่าให้กับเวียดนามเพิ่มขึ้นอีกก็เป็นได้

กระทบรายได้แสนลบ.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่า ทุก ๆ 1% ที่ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น จะกระทบรายได้ส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือ 0.5% ของจีดีพี แม้ว่าแบงก์ชาติเองได้ออกมาระบุว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมดูแลเมื่อเงินบาทผันผวนมากผิดปกติ เพื่อลดผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจก็ตาม ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์เองได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลการส่งออกล่าสุดในเดือนส..ที่ผ่านมา มีมูลค่า 26,182 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 25,917 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8.9% ส่งผลให้ในเดือนส..นี้ ไทยเกินดุลการค้า 264.9 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ช่วง 8 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.67) การส่งออกของไทย มีมูลค่ารวม 197,192 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 203,543 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5% ส่งผลให้ 8 เดือนปีนี้ ไทยยังคงขาดดุลการค้า 6,351 ล้านดอลลาร์ โดยกระทรวงพาณิชย์เอง แม้จะมองว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอยู่ในเวลานี้อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยบ้างโดยเฉพาะสินค้าเกษตร แต่ในภาพรวมแล้วอาจไม่กระทบมากมายนัก และยังคงเป้าหมายการส่งออกในปี 2567 ไว้ที่ 2.90 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทประมาณ 10 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ทีเดียว

บาทแข็งโป๊กเอกชนเจ๊ง

แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่ากระทรวงพาณิชย์จะเชื่อ หรือจะตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ที่เท่าไหร่ แต่ปัญหาคือค่าเงินบาทที่แข็งค่าเช่นนี้จะทำให้บรรดาผู้ส่งออกแข่งขันไม่ได้แต่อาจต้องเจ๊งกันถ้วนหน้าก็เป็นไปได้ เพราะแนวโน้มของการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องยังมีให้เห็น อย่างที่บอกหากเฟดลดดอกเบี้ยแรงอีก 1 ครั้ง ค่าเงินบาทจะแข็งไปอยู่ที่ระดับ 31 บาท นั่นก็เท่ากับว่ามูลค่าการส่งออกจะลดลงทันที และยังไม่สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ทำให้ภาคเอกชนต้องรวมตัวกันเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในแง่ของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอย่าง “พิชัย ชุณหวชิร” ได้ย้ำชัดเจนว่า การหารือร่วมกับผู้ว่าการแบงก์ชาตินั้น เพราะอยากให้การทำงานระหว่างนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเงินเฟ้อปัจจุบันยอมรับว่าต่ำกว่ากรอบล่างที่เคยตกลงระหว่างคลังและแบงก์ชาติที่ 1-3% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมกับไทยควรอยู่ที่ประมาณ 2% ด้วยเหตุนี้จึงต้องการเชิญชวนให้แบงก์ชาติมาทำงานร่วมกัน เพราะการดำเนินนโยบายการเงินควรมีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ หากลองถอดหมวกแล้วมานั่งทำงานร่วมกันก็จะหาจุดร่วมเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้น

ทั้งหลายทั้งปวง!! ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าการ “รอมชอม” ระหว่างคลังและแบงก์ชาติ เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้าให้ได้ ภาคเอกชนไม่เจ๊ง ประชาชนคนไทยมีต้นทุนทางการเงินลดลง จะออกผลเป็นหมู่หรือจ่า!!.