ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องเศร้าหรือเรื่องดราม่าแบบนี้…ก็มี “มุมมานุษยวิทยา” สะท้อนไว้ “น่าคิด” ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลกรณีนี้…

กรณี “รอรับบริการในโรงพยาบาลรัฐ”

“การรอคอย-ชีวิต” ของ “ผู้ป่วย-คนไข้”

ได้มีการ “สะท้อน-ฉายภาพ” เรื่องนี้ไว้…

ทั้งนี้ กับมุมสะท้อนเรื่องนี้ก็มีบทความชื่อ “ชีวิตในโรงพยาบาลและการรอคอย” โดย ณัฐนรี ชลเสถียร ผู้ช่วยนักวิจัยประจำ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งทางผู้จัดทำบทความดังกล่าวนี้ได้มีการนำเสนอเกี่ยวกับ “การรอคอยบริการโรงพยาบาลนาน” ไว้น่าคิด เป็นประโยชน์กับประชาชนเพื่อการทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหานี้ เป็นการฉายภาพให้เห็นมุมมองใหม่ ๆ ของปัญหาดังกล่าวนี้ ในฐานะที่เป็น “ประเด็นสำคัญ” เกี่ยวกับ “วัฒนธรรมสุขภาพคนไทย” ในปัจจุบันนี้ ที่… ระดับนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ควรต้องให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น!!…

ทางผู้จัดทำบทความนี้ได้สะท้อนถึงเรื่อง “การรอคอย” เอาไว้ หลักใหญ่ใจความนั้นมีว่า… การรอคอยถือเป็น สถานการณ์ที่มนุษย์ต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการรอคอยดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิต หากแต่อีกด้านหนึ่งนั้น การรอคอยก็ถือเป็น สถานการณ์ที่เกี่ยวโยงกับเรื่องต่าง ๆ มากมาย เช่น สถานะของผู้รอคอย มิติของเวลา การเข้าถึงโอกาส ความไม่แน่นอน รวมถึงเรื่องของการมีความหวัง ด้วย ดังนั้น “การรอคอย” จึงเป็น “ความจริงทางสังคม” รูปแบบหนึ่ง ซึ่งสะท้อนผ่านการกระทำทางสังคม ความสัมพันธ์ทางสังคม จากการปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน…

เกี่ยวพันกับผู้กระทำการที่หลากหลาย

นอกจากนี้ กับ “การรอคอยในมุมมานุษยวิทยา” นั้น ทางผู้จัดทำบทความดังกล่าวข้างต้นได้มีการหยิบยกการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณา ที่มีต่อ “ปรากฏการณ์รอคอย” มาอธิบายไว้ว่า… ในมุมมองของการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณานั้น มองปรากฏการณ์นี้ว่า… เป็นเรื่อง “การเมืองของการรอคอย (politics of waiting)” ที่ผู้รอคอยอยู่ในสถานะไร้อำนาจ ภายใต้เงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่บีบบังคับให้ต้องรอคอยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กับการรอคอยนี้ก็ไม่ได้มีแง่มุมเบ็ดเสร็จและตายตัว โดย “การรอคอย” นั้น…ในบางครั้งก็ยังสะท้อนถึง “สุนทรียภาพการรอคอย (poetics of waiting)” ควบคู่ไปด้วย และเกี่ยวกับสุนทรียภาพการรอคอยนี้…ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เห็น “ประสบการณ์” ใน “การปรับตัวของผู้คน”…

ขณะที่การศึกษาถึง “ประสบการณ์รอคอยในระบบบริการสุขภาพ” นั้น มีการชี้ไว้ว่า… กรณีนี้ถือเป็นอีก “ประเด็นน่าสนใจ” เพราะ “การรอคอยล้วนเกี่ยวข้องกับชีวิตและความเจ็บป่วย” โดยในช่วงเวลาการรอคอยก็อาจมีการสะท้อนสภาวะอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ความว้าวุ่น ความยากลำบากในจิตใจ ที่มีระดับที่สูงกว่าการรอคอยทั่วไปในชีวิตประจำวัน ดังนั้น…

ให้ความสนใจประสบการณ์การรอคอยของผู้ป่วย …นี่เป็นจุดเริ่มต้นการทำความเข้าใจมิติอารมณ์ความรู้สึก และปัญหาที่ผู้ป่วยต้องเผชิญ เพื่อนำมาพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ที่มีความละเอียดอ่อนต่อมิติความเป็นมนุษย์

ผู้จัดทำบทความดังกล่าวยังได้หยิบยก “ผลการศึกษา” ของนักมานุษยวิทยาชาวเกาหลี คือ Bo Kyeong Seo ที่ศึกษาไว้เกี่ยวกับ “ประสบการณ์การรอคอยของกลุ่มผู้ป่วย” บางสิทธิสวัสดิการรัฐด้านการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งผลศึกษาพบว่า  สภาวะการรอคอยของผู้ป่วยตกอยู่ในสถานะของผู้ไร้อำนาจ ส่งผลให้มีการแสดงออกและปฏิบัติตัวแตกต่างจากผู้ใช้บริการด้วยสิทธิรักษาอื่น อีกทั้งลักษณะสำคัญที่พบของผู้ป่วยกลุ่มนี้คือไม่ค่อยแสดงความไม่พอใจ ไม่ค่อยโวยวาย เมื่อต้องรอเป็นเวลานานเพื่อพบแพทย์ แม้จะไม่ได้รับการสื่อสารใด ๆ  นี่ก็เพราะ “ผู้ป่วย” กลุ่มนี้มองตนเองว่า“ไร้อำนาจต่อรอง”

ในบทความชีวิตในโรงพยาบาลและการรอคอย” ที่เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ยังสะท้อน“การรอคอยได้รับบริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล” ไว้น่าสนใจอีกหลายส่วน อย่างไรก็ตาม ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอเน้นไว้ ณ ที่นี้คือกรณี “ทำความเข้าใจมิติอารมณ์ความรู้สึก และปัญหาที่ผู้ป่วยต้องเผชิญ เพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ” ซึ่ง…สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในระดับนโยบาย รัฐบาล-กระทรวง-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องให้ความสนใจ ก็คือ… “ให้ความสนใจประสบการณ์การรอคอยของผู้ป่วย” เนื่องเพราะ…เป็นจุดเริ่มต้นพัฒนาระบบบริการ

ทั้งนี้… “ความทุกข์ของผู้ป่วยและญาติอันเป็นผลจากความกังวลใจบนเส้นทางการรักษา รวมไปถึงมุมมองและวิธีการแสดงออกที่ผู้ป่วยและญาติใช้ในการปรับตัวเพื่อเข้ารับการรักษา ชุดประสบการณ์เหล่านี้เป็นข้อมูลที่สำคัญที่สามารถนำไปใช้ในการออกแบบและพัฒนาระบบบริการ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีในช่วงเวลาของการรอคอยของผู้ป่วยกลุ่มต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น” …ทาง ณัฐนรี ชลเสถียร ผู้จัดทำบทความดังกล่าว ระบุสรุปไว้ในช่วงท้าย

ทุกวันนี้“โรงพยาบาลรัฐมีภาระหนักอึ้ง”

และ “คนไข้โรงพยาบาลรัฐก็ทุกข์รอคิว”

รอดู “รอวัดใจ-รอวัดกึ๋นระดับนโยบาย”

โดยเฉพาะ “คนการเมืองที่มีหน้าที่??”.