มนตร์เสน่ห์เสียงเพลงที่ผ่านกาลเวลา เสียงจากแผ่นเสียงยุคแอนะล็อก นอกจากจะพาสัมผัสความสุนทรีย์ พาย้อนเรียนรู้เล่าเรื่องการบันทึกเสียง…

 แผ่นเสียงที่ห่อหุ้มจัดเก็บไว้ใน ซองใส่แผ่นเสียง ปกแผ่นเสียง หลากดีไซน์สวยงามดึงดูดสายตายังเติมความพิเศษ บอกเล่าเรื่องจากแผ่นเสียงเด่นชัด เชื่อมโยงถึงการสะสม ความนิยมแผ่นเสียงที่ยังคงต้องใจผู้ฟังในยุคปัจจุบัน และด้วยเสน่ห์หลายประการที่ค้นได้จากแผ่นเสียง ทั้งนี้ชวน ค้นความคลาสสิก พาสัมผัสศาสตร์และศิลปะบนซองใส่แผ่นเสียง นำเรื่องน่ารู้จากรายการ ไขความรู้จากครูกรมศิลป์และบางช่วงตอนจากนิทรรศการแผ่นเสียงในสยามซึ่งนำแผ่นเสียงหายาก เครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณ ซองใส่แผ่นเสียง ฯลฯ จัดแสดง บอกเล่าประวัติ พัฒนา การของแผ่นเสียง และการบันทึกเสียงของไทยแสดง ณ อาคารห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร สำนักหอสมุดแห่งชาติ

โดย ขวัญฤทัย ขาวสะอาด บรรณารักษ์ชำนาญการ หัวหน้าหอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร และ ปริศนา ตุ้มชัยพร บรรณารักษ์ชำนาญการ หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร สำนักหอสมุด แห่งชาติ กรมศิลปากร ให้ความรู้ในประเด็นดังกล่าวว่า แผ่นเสียง เริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมานับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยเริ่มแรกเป็นการนำเข้ามาจำหน่ายจากต่างประเทศ

แต่ก่อนจะถึงยุคของแผ่นเสียง คงต้องกล่าว   ถึง กระบอกเสียง การบันทึกเสียงในช่วงแรกเริ่ม เป็นการบันทึกเสียงลงบนกระบอกเสียงทรงกลมยาว โดย โทมัส อัลวา เอดิสัน ผู้ค้นพบความสำเร็จการบันทึกเสียง โดยกระบอกเสียงมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก บนผิวด้านนอกฉาบด้วยขี้ผึ้งแข็ง เวลาบันทึกเสียงจะใช้วิธีไขลานให้ท่อทรงกระบอกหมุนไป โดย    ผู้ขับร้องจะร้องเพลงลงไปทางลำโพง เสียงที่เข้าทางลำโพงจะไปสั่นที่เข็มและจะขูดลงไปบนขี้ผึ้ง บนรูปทรงกระบอกเกิดเป็นร่องเสียง ฯลฯ และจากนั้นมาได้มีการคิดค้นแผ่นเสียง ทดลองบันทึกเสียงลงบนวัสดุแบนราบแทน  วัสดุทรงกระบอกโดยให้ความสะดวกและบันทึกเสียงได้ยาว นานกว่า

บรรณารักษ์ชำนาญการอธิบายเพิ่มอีกว่า จากที่กล่าวแผ่นเสียงเริ่มเป็นที่รู้จักเริ่มแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาใน  ช่วงปลายรัชกาลที่ 6 จึงเริ่มมีการผลิตแผ่นเสียงโดยคนไทย ในสมัยรัชกาลที่ 7 นับเป็นยุคที่แผ่นเสียงเฟื่องฟู ได้รับความนิยมและเป็นสื่อทางดนตรีอย่างหนึ่งที่สามารถเข้าถึงเรื่อยมา จนเมื่อเทคโนโลยีการบันทึกเสียงมีความก้าวหน้ามากขึ้น มีเทปบันทึกเสียงเข้ามา ทำให้ความนิยมในแผ่นเสียงปรับเปลี่ยนไป

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแผ่นเสียงยังมีกลุ่มผู้ฟัง ทั้งกลับมานิยมในปัจจุบัน ทั้งนี้ด้วยคุณค่าในแง่ศิลปวัตถุทางด้านดนตรี และสุนทรียภาพทางดนตรีจากแผ่นเสียง อีกทั้ง  เรื่องราวจากปก จากซองใส่แผ่นเสียง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบอักษร ภาพวาด ภาพถ่าย ฯลฯ ยังบอกเล่าศาสตร์และศิลปะ ไม่เพียงเฉพาะ  ที่เกี่ยวเนื่องกับดนตรี แต่เป็นดั่งคลังประวัติศาสตร์ของวงการเพลงในตัวเอง

ซองใส่แผ่นเสียง ปกแผ่นเสียงโดยหน้าที่เพื่อห่อหุ้ม ป้องกัน  ฝุ่นละออง ถนอมแผ่นเสียงไม่ให้เกิดร่องรอยขีดข่วน ฯลฯ จากที่กล่าว ซองใส่แผ่นเสียงส่งต่อการเรียน    รู้หลายมิติ ทั้งในมิติภาษา การออกแบบ เล่าประวัติและพัฒนาแผ่นเสียง สะท้อนยุค สมัย ฯลฯ

ปกและซองแผ่นเสียงยังเป็นสิ่งแรกที่ดึงดูดความสนใจ และด้วยที่นี่เราเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านดนตรี เป็นศูนย์ข้อมูลวิชาการดนตรีสำหรับศึกษาค้นคว้าวิจัย รวบรวมและอนุรักษ์จัดเก็บต้นฉบับเพลงไทย เพลงพระราชนิพนธ์ และมี ผลงานของครูเพลงที่สำคัญของไทย ฯลฯ ส่วนหนึ่งของแผ่นเสียง ซองใส่แผ่นเสียง ทั้งจากแผ่นครั่ง แผ่นไวนิล แผ่นเสียงที่มีลักษณะพิเศษทั้งขนาดที่ต่างจากเดิม เช่น ขนาดโปสต์การ์ด ฯลฯ ได้นำมาแสดงไว้ในนิทรรศการแผ่นเสียงในสยาม นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนนำปกแผ่นเสียง แผ่นเสียงไวนิลที่มีความพิเศษอื่น ๆ มาจัดแสดงเพิ่มให้สืบค้นและเข้าชม”

บรรณารักษ์ชำนาญการทั้งสองท่านอธิบายเพิ่มอีกว่า ซองแผ่นเสียง หรือปกแผ่นเสียง ในยุคแรกใช้สำหรับแผ่นเสียงครั่ง ขนาด 10 นิ้ว โดยจะเจาะช่องวงกลมตรงกลางซองเพื่อให้เห็น         ตราของแผ่นเสียงทั้ง  สองด้าน อีกทั้งการเจาะช่องวงกลมตรงกลางเพื่อลดการสัมผัสกับตัวแผ่นเสียง และเพื่อความสะดวกในการค้นหาแผ่นที่ต้องการ

ริศนา และ ขวัญฤทัย

การออกแบบบนซองของแผ่นเสียงสะท้อนศิลปะแต่ละยุคสมัย ดังเช่น สมัยรัชกาลที่ 5 ยุคแรกที่มีการ นำเข้าแผ่นเสียงมาจำหน่าย ลักษณะซองใช้กระดาษสีน้ำตาลซึ่งโดยปกติจะไม่พิมพ์ภาพหรือข้อความใด ๆ ลงบนซอง เป็นกระดาษเรียบ ๆ ใช้ด้ายเย็บตามขอบทำเป็นซองแทนการใช้กาว”

ขณะที่บนซองแผ่นเสียงยังบอกเล่าเทคโนโลยีการพิมพ์ การใช้ภาษา ข้อความ ตราสัญลักษณ์ที่เกี่ยวเนื่อง การดีไซน์ โดยบางแผ่น บางตราให้รายละเอียดเพลง รวม   ถึงการโฆษณา ฯลฯ ดังเช่น สมัยรัชกาลที่ 6 การออกแบบ การ   พิมพ์เด่นชัดขึ้น มีการพิมพ์ลวดลายต่าง ๆ ลงบนซองแผ่นเสียง       โดยแต่ละตรานั้นมีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่นต่างกัน

ต่อเนื่องมาใน สมัยรัชกาลที่ 7 ยุคที่เริ่มมีการพิมพ์ซองแผ่นเสียงในประเทศ เนื่องจากมีบริษัทและห้างแผ่นเสียงของคนไทย     เกิดขึ้นมาก ทั้งมีการผลิตแผ่นเสียงเองในประเทศอย่างแพร่หลาย ซองแผ่นเสียงออกแบบอย่างสวยงาม ดังเช่น ซองแผ่นเสียงของบริษัทแผ่นเสียงสยาม มีสัญลักษณ์รูปช้างสามเศียร ใช้ศิลปะลายไทยในการออกแบบ คำโฆษณาใช้โคลงสี่สุภาพซึ่งต่างจากการโฆษณาของซองแผ่นเสียงตราอื่น ๆ

ขณะที่ ซองแผ่นเสียงของร้านนาย ต. เง๊กชวน แผ่นเสียงที่จำหน่ายมีทั้งเพลงไทย เพลงฝรั่ง เพลงจีน ฯลฯ โดยหลายตราเป็นศูนย์รวมการจำหน่ายหีบเสียงประเภทต่าง ๆ และสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีซองแผ่นเสียงตราศรีกรุง   และปรีดาลัย ออกแบบโดยใช้สัญลักษณ์แทนความหมายของตราแผ่นเสียง

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 8-9 ซองแผ่นเสียง ปกแผ่นเสียงมีภาพพิมพ์ต่าง ๆ มีสีสันสวยงามและคมชัด มีข้อความโฆษณาทั้งเครื่องเล่นแผ่นเสียง เข็มแผ่นเสียง สินค้าที่จำหน่ายในห้างแผ่นเสียง รวมถึงการเป็นตัวแทนรับซ่อมหีบเสียง โดยซองแผ่นเสียงที่รู้จักกันแพร่หลายในยุคสมัยนั้น ดังเช่น ซองแผ่นเสียงตราตึก ซองแผ่นเสียงตราตึกช้างคู่ ซองแผ่นเสียงตราเสียงไทย และซองแผ่นเสียงตรากระต่าย ฯลฯ

“ซองแผ่นเสียงส่วนใหญ่ใช้จัดเก็บแผ่นเสียงครั่ง ส่วน ปกแผ่นเสียงไวนิล เกิดขึ้นมาพร้อมกับแผ่นเสียงไวนิล ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนทั้งในด้านวัสดุการผลิตแผ่นเสียง วัสดุการทำปกแผ่นเสียง รวมถึงเทคโนโลยีการพิมพ์ ปกจะมีความคงทนแข็งแรงมากขึ้น และมีการออก แบบที่สวยงามหลากหลาย โดยประเทศไทยเริ่มมีการผลิตแผ่นเสียงไวนิลขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2490”

ปกแผ่นเสียงในช่วงแรกเป็นเพลงลูกกรุง ใช้ข้อความและภาพวาดที่สวยงาม ภาพส่วนใหญ่จะเป็นภาพทิวทัศน์ ภาพ ของนักร้อง บนปกมีชื่อของผู้วาดอยู่ด้านล่าง เป็นต้น

ต่อมาในยุคภาพยนตร์เพลง ปกแผ่นเสียงได้รับอิทธิพล จากภาพโปสเตอร์ของภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง และเมื่อเริ่มมี    การถ่ายภาพสีจึงกลับมานิยมใช้ภาพถ่าย ทั้งเริ่มมีการออกแบบโดยใช้กราฟิก และการใช้สัญลักษณ์แทนความหมายของเพลง  หรือชุดอัลบั้ม ฯลฯ ซึ่งก็เป็นอีกส่วนหนึ่งบอกเล่าความโดดเด่น ความสวยงามศิลปะบนซองแผ่นเสียง

บอกเล่าประวัติการบันทึกเสียง ทรัพยากรสารสนเทศทางด้านดนตรี มนตร์เสน่ห์แผ่นเสียงจากยุคแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ