ซึ่งก็รวมถึง… “จากเดิมที่มีแนวคิดแยกส่วน ก็พัฒนาสู่การเชื่อมโยงแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นความโน้มเอียงทางการเมืองของตนเองขึ้น…”

“คนรุ่นใหม่กับการเมือง” นี่ “ต้องสนใจ”

ต้องสนใจ “ทั้งกับการเมืองในภาพรวม”

และก็ “รวมถึงกรณีการเมืองในบ้าน??”

มาถึงวันนี้…ไม่ว่าการเมืองไทยล่าสุดเกี่ยวกับ “นายกรัฐมนตรีคนใหม่-รัฐบาลชุดใหม่” ที่เป็น “สถานการณ์ร้อน” มาต่อเนื่องนับแต่หลังการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปครั้งใหม่เมื่อ 14 พ.ค. 2566 จะเป็นเช่นไร??…กับกรณี “การเมืองในบ้าน” ก็ถือเป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยควร “สนใจ-ใส่ใจ” และอย่าง “เท่าทันเพื่อป้องกันปัญหาพิพาทในบ้านอันเนื่องจากเรื่องการเมือง” ดังที่เคยเกิดขึ้นมากในครั้งอดีต ซึ่ง “หากปัญหานี้เกิดขึ้นอีกในปัจจุบันสถานการณ์อาจยิ่งน่ากลัว” ก็เป็นได้??

ทั้งนี้… “ส่วนตัวมองว่า…แม้จะตระหนักถึงพลังของกลุ่มนิวโหวตเตอร์ แต่ยังเชื่อว่าฝั่งการเมืองเก่า หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมนั้น ก็จะไม่ได้ ให้ความสำคัญ กับมวลชนกลุ่มนี้มากขึ้น เพราะเขามองว่ายากที่จะดึงให้มวลชนฝั่งนี้ย้ายเข้ามา อีกทั้งฝั่งอนุรักษ์นิยมก็ยังไม่ได้พยายาม ปรับตัว อะไรด้วย เพราะการปรับตัวมันยากเกินไปสำหรับเขา…” …นี่เป็นบางช่วงบางตอนจากที่ทาง ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุไว้

นักวิชาการท่านดังกล่าวนี้ได้ติดตามศึกษาเกี่ยวกับ “คนไทยรุ่นใหม่กลุ่มนิวโหวตเตอร์” และได้สะท้อนมุมมองผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์ ไว้ตั้งแต่ก่อนถึงวันเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปในไทยครั้งหลังสุด ซึ่งมุมมองที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งนี้…ในขณะเดียวกันก็ดูจะสะท้อนได้ด้วยไม่มากก็น้อยเกี่ยวกับสถานการณ์ “การเมืองในบ้าน” สถานการณ์ระหว่าง “คนรุ่นเก่า” ที่อาจจะ “โน้มเอียงทางฝั่งอนุรักษ์นิยม กับ “คนรุ่นใหม่” ที่ในยุคนี้ “สนใจและโน้มเอียงทางฝั่งการเมืองใหม่ กันมาก

ณ ที่นี้มิใช่จะชี้ว่าคนรุ่นเก่าต้องปรับตัว

ก็เพียง “ชวนทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่”

เพื่อจะเป็นการ “ป้องกันปัญหาพิพาทในบ้านอันเนื่องจากการเมือง” กับการ “เข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างคนรุ่นเก่าในบ้าน-คนรุ่นใหม่ในบ้าน” ย่อมจะเป็น “กลไกที่สำคัญ” และในขณะที่คนรุ่นใหม่อาจมีท่าทีร้อนแรงตามวัย หากคนรุ่นเก่าพยายามที่จะเข้าใจคนรุ่นใหม่ ปัญหาพิพาทในบ้านอันเนื่องจากเรื่องการเมืองก็คงจะไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีงานวิจัย “การเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างบิดามารดาและวัยรุ่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการความคิดทางการเมืองและแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในครอบครัว” ที่จัดทำไว้โดย ดร.มติ ทาเจริญศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่เผยแพร่ไว้ในวารสารพฤติกรรมศาสตร์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 1 มกราคม 2566 ของสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ซึ่งมีการศึกษาวิเคราะห์และสะท้อนคำแนะนำไว้น่าสนใจ

ข้อมูลบางส่วนจากงานวิจัยชิ้นนี้ระบุไว้ว่า… การศึกษาแนวคิดที่เกี่ยวกับพัฒนาการความคิดทางการเมือง (Political Development) ปรากฏภาพ พัฒนาการขั้นต่าง ๆ 4 ขั้น ซึ่งโดยสังเขปมีดังนี้คือ… 1.รู้จัก แต่ไม่เข้าใจ (Intuitive thinking) ขั้นนี้มักพบได้ในกลุ่มเด็กช่วงอายุ 13 ปี ที่อาจจะยังไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้ชัดเจน

ถัดมา… 2.เข้าใจตามที่รับรู้ (Primitive realism) พบในช่วงอายุ 13-15 ปี ซึ่งเริ่มทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลกการเมืองจากสิ่งที่สังเกตเห็นและจับต้องได้ แต่ยังไม่เข้าใจโครงสร้างการเมืองที่ซับซ้อน, 3.ก่อเกิดแนวคิดทางการเมือง (Construction of political order) จะพบในช่วงอายุ 15-18 ปี ที่เริ่มทำความเข้าใจแนวคิดต่าง ๆ ทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะเชิงนามธรรม แต่ก็มักจะยังไม่มีความโน้มเอียงทางการเมือง, 4.อุดมการณ์การเมือง (Ideological thinking) …ซึ่งขั้นนี้นี่ยิ่ง “ควรเข้าใจ”…

“พัฒนาการความคิดทางการเมืองของเด็กและวัยรุ่นนั้น ในช่วงแรกความคิดและความเชื่อทางการเมืองมักเกิดจากการถูกครอบงำโดยผู้ใหญ่ ต่อมาเด็กได้ตัดสินใจก่อร่างโครงสร้างความคิดทางการเมืองของตนเองขึ้น…” …ทาง ดร.มติ ชี้ไว้ และระบุถึงพัฒนาการขั้นที่ 4 ไว้ว่า… “พบในเยาวชนช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยกลุ่มนี้จะเข้าใจความคิดทางการเมืองแบบนามธรรมและเข้าใจสภาพสังคมกับการเมืองแบบองค์รวมได้ เพราะวัยรุ่นสามารถจะคิดได้อย่างเป็นระบบ แยกแยะประเด็นที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องได้ รวมถึงสามารถเข้าใจแนวคิดทางการเมืองที่ลึกซึ้งได้ ซึ่งเมื่อเกิดความเข้าใจแนวคิดต่าง ๆ ทางการเมือง ก็เกิดความโน้มเอียงทางการเมือง รวมถึงเกิดอุดมการณ์การเมืองของตนขึ้นได้…”

ทั้งนี้ จากที่ได้สะท้อนเน้นย้ำปูพื้นมาข้างต้น ก็นำสู่ประเด็นสำคัญคือ “ทำความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างคนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่” เพื่อที่จะ “ไขประตูนำไปสู่การสกัดกั้นป้องกันปัญหาพิพาทในบ้านอันเนื่องจากเรื่องการเมือง” ที่…

“กุญแจสำคัญ” นั้น “อยู่ในมือคนรุ่นเก่า”

มี “กุญแจ 3 ดอก” กรณี “การสนทนา”

“อะไร?-เช่นไร?…ตอนหน้ามาดูกัน”…