ทั้งนี้ ปัญหานี้ยังคง “เลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ” อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เกิดกรณีที่ไม่เพียงสะเทือนขวัญ…แต่ยังสะเทือนอารมณ์สังคมหนักมาก!! นั่นคือกรณี เด็กชายวัย 14 ปี ก่อเหตุใช้อาวุธทำร้ายปู่แท้ ๆ ของตนเองจนบาดเจ็บสาหัส ก่อนตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง โดยสาเหตุที่ลงมือก่อเหตุนั้น จากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่พบว่ามีต้นเหตุจากเด็กชายคนดังกล่าวไม่พอใจที่ขอเงินปู่เพื่อจะเอาไปซื้อสิ่งเสพติดบางชนิดมาเสพแล้วไม่ได้…แล้วก็เกิดโทสะลงมือก่อเหตุ …นี่ก็กรณีหนึ่งที่ฉายภาพ “ปัญหาสิ่งเสพติดในเด็กและเยาวชนไทย” ซึ่งสิ่งเสพติดในไทยมีหลายชนิดที่แพร่ระบาดอยู่ในทุกหย่อมหญ้า ที่สำคัญ…มีแนวโน้มที่น่าตระหนกตกใจขึ้นเรื่อย ๆ…

“ผู้ติดยาเสพติดมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ”

เกิดเป็น “ปรากฏการณ์ทาสยาวัยใส!!”

เกี่ยวกับ “ปัญหาสิ่งเสพติดแพร่ระบาด” ที่แพร่กระจายในสังคมไทยนั้น เรื่องนี้สะท้อนได้ชัดเจนจาก “สถิติตัวเลข” โดยข้อมูลจาก รายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์คดี พ.ร.บ.ยาเสพติดทั่วประเทศ ซึ่งสำรวจไว้โดย กรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 พบว่า…มีผู้ต้องขังในคดียาเสพติดประมาณ 206,361 คน หรือเทียบเท่า 78.67% ของผู้ต้องขังทั่วประเทศ ซึ่งก็ย่อมสะท้อนว่า… “คดียาเสพติด” เป็น “คดีที่มีผู้ต้องหามากที่สุด” เมื่อเทียบกับคดีอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่ง ประเภทสิ่งเสพติด-ยาเสพติดที่พบมากที่สุด นั้น อันดับ 1 เมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า อันดับ 2 ไอซ์ หรือยาไอซ์

นี่คืออันดับต้น ๆ ที่มีกลุ่มผู้เสพมาก

และ “ที่น่าเป็นกังวลที่สุด” ก็คือ… เมื่อดูจากสถิติ ผู้รับการบำบัดรักษาในระบบกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรักษาอาการติดสิ่งเสพติด นั้น พบว่า…ในปี 2565 มีผู้เข้ารับการบำบัดทั้งหมด 120,915 คน แบ่งเป็นชาย  106,709 คน และหญิง 14,206 คน ซึ่งจุดที่น่าตกใจก็คือ… เมื่อจำแนกตามอายุพบว่าเป็น… กลุ่มที่อายุน้อยกว่า 12 ปี จำนวน 34 คน, กลุ่มอายุ 12-17 ปี จำนวน 7,983 คน และ กลุ่มอายุ 18-24 ปี จำนวน 22,301 คน โดยในจำนวนผู้ที่เข้ารับการบำบัดนั้น พบว่า… เป็นกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา จำนวน 4,335 คน ซึ่งเป็นอันดับที่ 3 ในจำนวน 5 อันดับแรก โดยข้อมูลดังกล่าวนี้ก็สะท้อนว่า…

“ช่วงอายุระหว่าง 18-24 ปี” นั้น…

คือกลุ่มที่ “น่าห่วง-ต้องเฝ้าระวังที่สุด!!”

เกี่ยวกับปัญหาสิ่งเสพติดที่แพร่ระบาดหนักในไทยนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เคยสะท้อนไว้เป็นระยะ เคยสะท้อนการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหานี้ เพื่อกระตุ้นให้สังคมไทยหันมาตระหนักเกี่ยวกับปัญหาในเรื่องนี้อยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาใหญ่อย่างการพบแนวโน้มว่า… “มีกลุ่มนักเสพหน้าใหม่ที่อายุน้อยเพิ่มขึ้น” ซึ่งยิ่งทำให้จำนวนผู้ติดสิ่งเสพติดในไทยมีตัวเลขพุ่งทะลุสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากนอกจากจะมีนักเสพหน้าใหม่เพิ่มขึ้นแล้ว “กลุ่มนักเสพหน้าเก่าก็ไม่ลดจำนวนลง!!” และก็เกิด “ปุจฉา” โดยมีหลาย ๆ คนสงสัยเกี่ยวกับ “สาเหตุ” ที่ “ตัวเลขผู้ติดสิ่งเสพติดไม่ลดลง??”ซึ่งเรื่องนี้นั้น…

อาจมีปัจจัยจากการ “กลับไปเสพซ้ำ”

เคยคิด-เคย “ตั้งใจเลิก…แต่ทำไม่สำเร็จ”

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีมุมมองจากทาง “คุณหมอแนต” หรือ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็ก-วัยรุ่น และโฆษกกรมสุขภาพจิต มาสะท้อน ณ ที่นี้ ซึ่งเกี่ยวกับ “ปัญหาเด็กและเยาวชนกับสิ่งเสพติด” ทาง คุณหมอแนต ระบุว่า…สถานการณ์สิ่งเสพติดในปัจจุบันมีข้อมูลบ่งชี้ว่า…ขณะนี้สามารถเข้าถึงสิ่งเสพติดได้ง่ายขึ้นมากกว่าเดิมเยอะ จึพบว่า “กลุ่มนักเสพหน้าใหม่เพิ่มขึ้น” แถมยัง “เป็นกลุ่มที่อยู่ในช่วงอายุน้อยลง” …นี่เป็นข้อมูล “น่าห่วง-น่าตกใจ”

ดร.นพ.วรตม์ ระบุชี้ถึง “ปัจจัยปัญหา” นี้ว่า… ในอดีตจะพบว่าผู้ติดสิ่งเสพติดมักเป็นวัยรุ่นตอนปลาย หรือไม่ก็ผู้ใหญ่ตอนต้น แต่ เวลานี้มีกลุ่มเด็ก ๆ อายุน้อย ๆ เข้าสู่วังวนสิ่งเสพติดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจากการสัมภาษณ์-ซักประวัติผู้ติดสิ่งเสพติดที่มาเข้ารับการบำบัด พบว่า… “สาเหตุ” ที่ติดสิ่งเสพติดง่ายก็ “เพราะเข้าถึงง่าย-หาซื้อสะดวก” และนอกจากนั้น ในกลุ่มวัยรุ่นไทยขณะนี้ยังพบการแพร่หลายเกี่ยวกับ “ค่านิยมการใช้สิ่งเสพติด” เพราะ “โซเชียลมีเดีย” ด้วย…

เกิดการ “ทำตาม” ด้วยความคิดที่ว่า…

“คนอื่น ๆ วัยเดียวกันทำได้ฉันก็ทำได้”

อย่างไรก็ตาม นอกจากการที่สิ่งเสพติดในปัจจุบัน “เข้าถึงสะดวก-ซื้อง่าย-ขายคล่อง” และกระแส “ทำตาม” แล้ว…กับประเด็นที่มีการตั้ง “ข้อสังเกต” ว่า… เด็กในต่างจังหวัดติดสิ่งเสพติดมากกว่าเด็กในเขตเมือง?? นั้น กับประเด็นนี้ทาง ดร.นพ.วรตม์ หรือ คุณหมอแนต ระบุว่า… “ก็มีสาเหตุ-ก็มีปัจจัย” ที่ทำให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าวนี้โดยเฉพาะจากการที่ในยุคนี้เป็น “สังคมแข่งขัน-สังคมเร่งรีบ” ทำให้หลาย ๆ ครอบครัวต้องดิ้นรนต่อสู้หนักในมิติทางเศรษฐกิจเพื่อหาเลี้ยงปากท้อง ซึ่งเรื่องนี้นี่เองที่กลายเป็น “ช่องโหว่สำคัญ” และทำให้ “ง่ายที่สิ่งเสพติด-ยาเสพติดจะทะลุเข้าหาเด็กไทย” ในยุคนี้…

“เด็กไทยติดกับดัก-ตกวังวน” นี้ “ง่ายขึ้น”

“ทาสยาวัยใส” นี่ก็ “เป็นปัญหาที่ไม่เล็ก”

“แก้-กันเช่นไรดี??” ตอนหน้ามาดูต่อ…