เนื่องเพราะ “ปมการเมืองยังเขม็งเกลียวอย่างซับซ้อนซ่อนเงื่อน!!” ตั้งแต่เรื่อง โหวตประธานสภาผู้แทนราษฎร คนใหม่ โหวตนายกรัฐมนตรี คนต่อไป ไล่ไปจนถึง ตั้งรัฐบาลใหม่…

“งูเห่าการเมือง” จึงยังคง “ถูกจับตา??”

“โผล่??-ไม่โผล่??” ก็ “รอดูกันเดี๋ยวก็รู้”

ทั้งนี้ กรณี “งูเห่าการเมือง” นั้นก็รอดูกันไป-ก็ว่ากันไป อย่างไรก็ตาม อันเนื่องจากกระแส “งูเห่า” ที่เป็น “งูมีพิษอันตรายร้ายแรงถึงตาย” อีกทั้งช่วงนี้เข้า “ฤดูฝน” ช่วงที่งูเงี้ยวเขี้ยวขอต่าง ๆ รวมถึงงูเห่า มักจะออกมาปรากฏชุกชุม ดังนั้น ไหน ๆ ก็ไหน ๆ…วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนดูเรื่องงูเห่าที่ไม่เกี่ยวกับกรณีงูเห่าการเมือง หรือการเปรียบเปรยตามนิทานสุภาษิต“ชาวนากับงูเห่า” แต่เป็นกรณี “งูเห่า” ที่เป็น “สัตว์เลื้อยคลานมีพิษ” จริง ๆ ที่ก็ถือเป็น “อันตรายใกล้ตัวคนไทย”

“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเรื่องนี้ โดย องค์การสวนสัตว์ฯ ระบุถึง “งูเห่า” ไว้ โดยสังเขปมีว่า… งูเห่าเป็น งูบก ขนาดกลาง มีหลายสี คือ ดำ น้ำตาล เขียวอมเทา เหลืองหม่น ขาว มีทั้งที่มีลายตามตัวและไม่มีลาย มีนิสัยดุ มีพิษร้ายแรง ถิ่นอาศัย มักชอบอยู่ตามโพรงดิน ในท้องทุ่ง หรือท้องนา ดังที่มีนิทาน “ชาวนากับงูเห่า” ที่คนรุ่นเก่าคุ้นเรื่องราวกันดี โดยในฤดูหนาวจะพบได้น้อย เพราะมันมักไม่ค่อยออกหากิน หรือในฤดูร้อนมันก็มักหลบอยู่ในโพรงดินคอยดักกินหนู แต่พอฤดูฝนนี่สิ…มันมักออกหากินตามท้องทุ่ง แต่ถ้าถิ่นที่อยู่มีปัญหา เช่น ฝนตก น้ำขัง น้ำท่วม มันก็มักหนีไปอยู่ตามที่ดอน บนต้นไม้

และก็มีโอกาสมาป้วนเปี้ยนในบ้านคน!!

ส่วนแถว ๆ สภาฯ…จะไปด้วยมั้ยไม่รู้??

กับ “พฤติกรรมงูเห่า” นั้น ข้อมูลโดย องค์การสวนสัตว์ฯ ระบุว่า… “เมื่องูเห่าโกรธ หรืองูเห่ารู้สึกตกใจ มักจะชูคอแผ่แม่เบี้ย พร้อมกับทำเสียงขู่ฟ่อ ๆ ซึ่งถ้าหากเข้าไปใกล้ ๆ งูเห่าก็จะฉกกัดทันที แต่ทั้งนี้ งูเห่าสามารถฉกกัดได้โดยไม่ต้องแผ่แม่เบี้ย โดยเฉพาะเมื่องูเห่าเกิดอาการตกใจ หรือถูกเหยียบ เป็นต้น” …นี่เป็นข้อมูลน่ารู้เพื่อ “ระวังไว้”

และนอกจากนี้ก็ยังมีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับ “งูเห่า” ที่ระบุไว้ในแหล่งข้อมูลอื่นอีก เช่น ข้อมูลในเฟซบุ๊กเพจชื่อ งูพิษชิดใกล้ Thailand Snakes : Close Encouters ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป โดย มนตรี สุมณฑา ที่ได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “งูเห่าในประเทศไทย” ไว้ว่า… งูเห่า “มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป” ได้ดี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ “งูเห่ามีความใกล้ชิดกับคนมาก” จึงไม่แปลกที่คนมักจะเผชิญหน้ากับงูเห่าเสมอ ๆ แม้ไม่ใช่ตามป่าตามทุ่ง ทั้งนี้ งูเห่าสามารถอาศัยอยู่ได้แบบกึ่งบกกึ่งน้ำ หรือแม้แต่พื้นที่แห้งแล้งจัด ๆ ก็สามารถอยู่ได้

ก็ประมาณว่า “งูเห่า” นี่มัน “รู้อยู่-รู้กิน”

และก็ “อาจจะกลายเป็นภัยใกล้คนได้!!”

ข้อมูลจากแหล่งเดิมยังได้มีการระบุเพิ่มเติมไว้อีกว่า… ในประเทศไทยสามารถพบ “งูเห่า” ได้หลายชนิด กล่าวคือ… งูเห่าไทย เป็นงูเห่าชนิดที่มีคนพบเจอกันมากที่สุด โดยงูเห่าชนิดนี้มีลำตัวค่อนข้างยาวเรียว หัวเรียว มีความผันแปรของสีมาก แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีสีลำตัวเป็นสีน้ำตาล น้ำตาลดำ น้ำตาลอ่อน หรือเกือบเหลือง ซึ่งแม้งูเห่าไทยจะไม่สามารถ “พ่นพิษ” ได้ แต่ความรุนแรงของพิษสูงมาก ประกอบกับแพร่กระจายชุกชุม จึง เป็นงูเห่าชนิดที่ทำให้คนตายมากที่สุดในไทย!!

ชนิดต่อมาได้แก่ งูเห่าสีนวล ที่สีลำตัวของงูเห่าชนิดนี้จะมีสีนวล หรือเหลืองจาง ๆ และลูกงูเมื่อแรกเกิดลำตัวจะมีสีขาวอมชมพู กับไม่มีลายดอกจันที่แม่เบี้ย โดยงูเห่าสีนวลนี้มีเขตแพร่กระจายจำกัด หลัก ๆ จะอยู่ในแถบพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี จ.อ่างทอง จ.ปทุมธานี อย่างไรก็ตาม กับลักษณะทางอนุกรมวิธานที่สำคัญของงูเห่าชนิดนี้นั้น…ก็ไม่แตกต่างจากงูเห่าไทย

ถัดมา งูเห่าสยามพ่นพิษ นี่เป็นชนิดที่ พ่นพิษได้ พ่นได้ไกลกว่า 2 เมตร โดยมีลำตัวค่อนข้างสั้นป้อมกว่างูเห่าไทย มีนิสัยที่โดดเด่นคือชอบทำตัวให้แบนลงเวลาที่ส่งเสียงขู่ และ มักอ้าปากกว้างเมื่อแผ่แม่เบี้ย เพื่อเตรียมพร้อมพ่นพิษใส่ศัตรู

และอีกชนิด ที่ก็พ่นพิษได้คือ งูเห่าทองพ่นพิษ พบแพร่กระจายตั้งแต่ภาคใต้ตอนกลางลงไป มีลำตัวเรียวยาวคล้ายกับงูเห่าไทย โดยในไทยมักพบงูเห่าชนิดนี้ที่มีสีเหลืองปลอด เหลืองอมเขียว หรือเหลืองแซมน้ำตาล และมักจะพบว่าขอบเกล็ดส่วนท้ายแต่ละเกล็ดมักจะมีสีน้ำตาล ส่วนท้องมีสีเหลืองอ่อน ขณะที่ส่วนหัวมีสีน้ำตาลอมเขียว และมักจะไม่มีลายดอกจันที่แม่เบี้ย แต่มีขีดสีน้ำตาลเข้มที่คล้าย ๆ รอยพับแทน …เหล่านี้เป็นข้อมูลจาก เฟซบุ๊กเพจ “งูพิษชิดใกล้” เกี่ยวกับ “งูเห่าในไทย”

จะ“ตัวเล็กหรือตัวใหญ่ก็มีอันตราย”…

“พิษ” นั้น “ร้าย”…ซึ่ง “พ่นใส่ตาก็ตาบอด”

ทั้งนี้ กับนิทาน “ชาวนากับงูเห่า” เป็นเรื่องราวการ “แว้งกัดคนที่มีบุญคุณ” ส่วนกระแส “งูเห่าการเมือง” นั้นเป็นเรื่องของการ “เปรียบเปรย” ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายประเด็น…ดังที่คอการเมืองทราบ ๆ กันดี และ ณ ที่นี้ก็ขอไม่แจกแจงใด ๆ

ที่ขอร่วมสะท้อนเตือนไว้คือ “อันตราย”

“งูเห่า” จริง ๆ นั้นมันก็ไม่ได้ผิดอะไร…

แต่ไม่ระวัง “คนอาจตายเพราะงูเห่า!!”.