ทั้งนี้ กับ “ปัญหากลโกงทางโทรศัพท์” นั้นเป็นปัญหาที่ไม่ใช่มีแค่ประเทศไทย หากแต่เป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนทั่วโลก และที่สำคัญในขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดสามารถแก้ปัญหา ป้องกัน หรือปราบปรามได้สำเร็จแบบ 100 เปอร์เซ็นต์!!…

“แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ยังเป็น “ภัยซ้ำ ๆ”

“ภาครัฐ” นั้น “ยังจัดการให้สิ้นไปไม่ได้”

“ประชาชน” ก็ “ยังต้องระวังตนเองให้ดี”

ทั้งนี้ กับการที่ประชาชนเองยังคงต้องระวังตนเองเพื่อมิให้เป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้น วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิส์” ก็มีข้อมูลมาร่วมสะท้อนต่อให้ลองพิจารณากัน “อีกแง่มุม” จากบทความ “Privacy vs Security : กรณีศึกษาปัญหากลโกงทางโทรศัพท์” โดย พิพัฒน์ สมโลก ผู้เชี่ยวชาญ ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งบทความนี้เผยแพร่ไว้ทางเว็บไซต์ www.depa.or.th ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ถึงปัญหากลโกงทางโทรศัพท์ การป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยทางผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ได้มีการเน้นย้ำถึง “การรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์” ไว้ว่า… ประชาชนผู้ใช้งานเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง “อาจจะต้องเลือก” ระหว่าง “Privacy” กับ “Security” หรือ “ความเป็นส่วนตัว” กับ “ความปลอดภัย”

“อาจต้องเลือก” นี้ “ก็มีข้อพิจารณา”…

ในบทความ “Privacy vs Security : กรณีศึกษาปัญหากลโกงทางโทรศัพท์” ได้มีการระบุถึง “ความเป็นส่วนตัว” กับ “ความปลอดภัย” ในกรณีนี้ไว้ หลักใหญ่ใจความมีว่า… ความเป็นส่วนตัว – Privacy และ ความปลอดภัย – Security ยังคงเป็นเรื่องถกเถียงกันในวงวิชาการ เนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเคลื่อนย้ายของผลิตภัณฑ์ บริการ เทคโนโลยี ข้อมูลข้ามพรมแดน อยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ผู้คนทั่วไปสามารถที่จะเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ หรืออินเทอร์เน็ต และเมื่อเป็นเช่นนี้…จริง ๆ ก็ทำให้ ความเป็นส่วนตัวถูกลดทอนลง จากการใช้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ…

ผู้ใช้งานจะ “ต้องใส่ข้อมูลส่วนตัวลงไป”

“ในแพลตฟอร์มออนไลน์” ที่ต้องการใช้

อย่างไรก็ตาม กับ “ภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์” นั้น แม้ต้นเหตุปัญหาอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล แต่ทุกการโทรฯ ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับมีปลายทางเดียวกัน นั่นคือ หากเหยื่อคนใดหลงเชื่อ แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะขอข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร โดยอ้างว่าจะให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ จากนั้นเมื่อวางสายแล้ว แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะใช้โทรศัพท์อีกเบอร์นำข้อมูลที่ได้ไปก่อนหน้ามาใช้เป็นช่องทางข่มขู่-หลอกเหยื่อ เพื่อกดดันให้โอนเงินไปที่บัญชีม้า แล้วก็ แปลงเงินที่โอนเข้าไปให้เป็นเงินสดหรือสกุลเงินเข้ารหัส เพื่อกลบเกลื่อนร่องรอย ทางการเงิน

ที่สำคัญ…เนื่องจากปฏิบัติการหลอกลวงนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดหรือทำในประเทศ อย่างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงคนไทยนั้นส่วนใหญ่จะมีศูนย์ดำเนินงานหลักอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านไทย ดังนั้น การดำเนินการทางกฎหมาย หรือการสืบสวนสอบสวนเพื่อตามจับ จึงกระทำได้ยากมาก ซึ่ง หน่วยงานกำกับดูแลในหลาย ๆ ประเทศก็จึงเลือกที่จะใช้วิธี “ป้องกัน” มากกว่าจะ “ปราบปราม” ในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ส่วนมากจะมีนายทุนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ และมีที่ตั้งในต่างประเทศ ดังนั้น การที่จะประสานการทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และที่สำคัญอีกอย่างคือ…

ขบวนการเหล่านี้ “มีนายทุนรายใหญ่”

แม้ “ถูกทลาย…ก็กลับมาเปิดใหม่ได้!!”

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญท่านเดิมระบุไว้อีกว่า…รัฐบาลหลายประเทศพยายามป้องกันโดยเข้าควบคุมข้อมูลบนโลกออนไลน์เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ป้องกันความเสียหายระดับประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออกกฎหมายควบคุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์แบบเข้มงวด แต่ในสหรัฐ ก็ยังมีเหยื่อจำนวนมาก มีมูลค่าความเสียหายหลักหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สหภาพยุโรป มีกฎหมายควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่เคร่งครัดที่สุดในโลก กับมีกฎหมายห้ามโทรฯ ติดต่อผู้บริโภคก่อน เว้นแต่จะได้รับความยินยอม แต่ ก็ยังสกัดกั้นภัยนี้ไม่ได้ ขณะที่ จีน ป้องกันโดยนำระบบสแกนใบหน้ามาใช้เมื่อลงทะเบียนซิมการ์ด กำหนดให้บริษัทโทรคมนาคมนำเทคโนโลยี AI มาตรวจสอบตัวบุคคลที่ลงทะเบียนใช้ซิมการ์ด ตั้งแต่ที่ร้านขายซิม ซึ่งแนวทางนี้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาก เพราะมีการมองว่าเข้าข่าย ทางการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล-สอดแนมประชาชน

สำหรับ ไทย ป้องกันด้วยการสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนไม่หลงเชื่อ และมีนโยบายสายด่วนกรณีที่ถูกหลอก…ซึ่งก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และก็ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เด็ดขาด แต่ก็ยังมีความเป็นส่วนตัวกันอยู่…เหล่านี้เป็นหลักใหญ่ใจความที่บทความดังกล่าวฉายภาพไว้ กรณี “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” กับ“ความเป็นส่วนตัว-ความปลอดภัย”…

หรือ…ในที่สุดแล้ว “คนไทยต้องเลือก?”

เลือก “เป็นส่วนตัว?” หรือ “ปลอดภัย?”

เพราะ “ไม่อาจจะสู้ชนะแก๊งคอลฯ??”.