การลงทุนไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ประเภทใดก็ตามย่อมมีความท้าทายและอาจดูเป็นเรื่องน่ากังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้เริ่มต้นที่ไม่คุ้นเคยกับการจัดการบริหารความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม หากมีกลยุทธ์ที่เหมาะสม ก็จะทำให้รับมือกับความท้าทายและดูแลพอร์ตการลงทุนของคุณเองได้ ในบทความนี้จะพาทุกคนมาดูเทคนิคการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญซึ่งใช้ได้กับทั้งผู้เริ่มต้นและผู้ที่คุ้นเคยมีประสบการณ์การลงทุนมาแล้ว ซึ่งคุณสามารถทำความเข้าใจและหยิบวิธีการเหล่านี้ไปใช้เพื่อรับมือกับสภาวะตลาดต่าง ๆ

  1. กระจายความเสี่ยง (Diversification)
Businessmen work with stock market investments using smartphone to analyze trading data. smartphone with stock exchange graph on screen. Financial stock market.

การกระจายการลงทุนเป็นหนึ่งในเทคนิคการบริหารความเสี่ยงพื้นฐาน ที่เป็นการแบ่งเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ธุรกิจอุตสาหกรรมหรือประเทศและภูมิภาคที่แตกต่างกันเพื่อเป็นการกระจายและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดกับการลงทุนตัวใดตัวหนึ่ง ตัวอย่างเช่น แทนที่จะนำเงินทั้งหมดของคุณไปลงทุนในหุ้นตัวเดียว คุณสามารถจัดสรรเงินนั้นในหุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ และสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยวิธีนี้หากการลงทุนหนึ่งดำเนินการได้ไม่ดี การลงทุนอื่นๆ อาจจะช่วยชดเชยการขาดทุน ทำให้พอร์ตการลงทุนของคุณยังมีระดับที่มั่นคงมากกว่าการที่ไม่ได้กระจายความเสี่ยงเลย

  1. การจัดพอร์ตสินทรัพย์ (Asset Allocation)

การจัดสรรสินทรัพย์เป็นการกำหนดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ตามระดับความเสี่ยงและเป้าหมายการลงทุนอย่างมีกลยุทธ์ นักลงทุนสามารถสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนที่อาจเกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยงเลย คุณอาจจัดสรรพอร์ตการลงทุนส่วนใหญ่ให้กับสินทรัพย์ที่มีความผันผวนน้อยกว่าอย่างตราสารหนี้ พันธบัตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ในทางกลับกัน หากคุณยอมรับความเสี่ยงได้สูง คุณอาจจัดสรรสัดส่วนที่มากขึ้นให้กับตราสารทุน หรือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความผันผวนรวดเร็วและมีอัตราผลตอบแทนค่อนข้างสูง แต่ก็แลกมาด้วยความเสี่ยงในการขาดทุนที่สูงเช่นกัน

  1. การถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือ Dollar Cost Averaging (DCA)

สำหรับนักลงทุนที่กำลังประสบปัญหากล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะลงทุนโดยเฉพาะหุ้น สินทรัพย์ดิจิทัล หรือแม้แต่ทองคำหรือน้ำมันเพราะด้วยเรื่องราคาที่ไม่แน่นอนในแต่ละวัน และไม่สามารถคาดการณ์ได้แบบ 100% ว่าวันนั้น ๆ ราคาเหรียญนั้นจะไปในทิศทางไหน กลยุทธ์ DCA จะทำให้นักลงทุนมองข้ามเรื่องราคาไปได้เลย เพราะ DCA จะเป็นการถัวเฉลี่ยต้นทุน ด้วยการลงทุนอย่างสม่ำเสมอในช่วงเวลาหนึ่งเท่า ๆ กัน ยกตัวอย่าง เช่น ลงทุนสินทรัพย์ชนิด A เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 12 เดือน

หลายคนอาจสงสัยทำไมต้องดอลลาร์? คำว่า DCA หรือ Dollar Cost Averaging นั้นถูกบัญญัติขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1949 ในหนังสือชื่อ The Intelligent Investor เขียนโดย Benjamin Graham นักเศรษฐศาสตร์และศาสตารจารย์ด้านการลงทุนผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) ปัจจุบัน DCA ถูกใช้อย่างแพร่หลายโดยนักลงทุนรายย่อยและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินเพื่อเป็นวิธีการจัดการความเสี่ยงในการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายรูปแบบทั่วโลก

  1. เรียนรู้การวิเคราะห์เชิงเทคนิค (Technial Analysis)

สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการลงทุนคือกระดานเทรดและกราฟแท่งสีเขียวแดง นอกจากดูแนวโน้มการซื้อขายในตลาดแล้ว การนำข้อมูลในอดีตจากกราฟหรือการใช้เครื่องมือต่าง อาทิ เส้นแนวรับ-แนวต้าน เส้นเทรนด์ Indicators ต่าง ๆ ก็สามารถหยิบมาร่วมคำนวณและทำนายกรอบการเคลื่อนไหวของราคาในอนาคตอันใกล้ สิ่งนี้เรียกว่า การวิเคราะห์เชิงเทคนิค (Techical Analysis) จะเป็นการช่วยให้เรารู้จังหวะการลงทุนและการเทรดได้อย่างมีเหตุมีผลและแม่นยำมากกว่าการที่ไม่มีข้อมูลส่วนนี้เลย ถือว่าเป็นหนึ่งในตัวช่วยตัดสินใจก่อนการลงทุนได้ดี สำหรับใครที่มีความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์ด้วยปัจจัยเทคนิค รู้จักการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ต่าง ๆ ก็ถือว่าคุณคือผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งเลยทีเดียว

บทสรุป

เพราะการลงทุนนั้นมีความเสี่ยง…ไม่ว่าคุณจะเป็นมือใหม่หรือมือโปรการมีเทคนิคบริหารความเสี่ยงไว้ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น หากได้ผสมผสานกลยุทธ์เหล่านี้เข้ากับแนวทางการลงทุนแล้วจะปกป้องการลงทุนจากความผันผวนและความไม่แน่นอนของตลาดได้ไม่มากก็น้อย ให้คุณบรรลุเป้าหมายการลงทุนและมีอนาคตทางการเงินที่มั่นคงยิ่งขึ้น และอีกเทคนิคที่สามารถทำได้เลยตั้งแต่วันนี้ คือการหาความรู้และอัปเดตข่าวสารรอบด้าน ที่สามารถนำไปร่วมวิเคราะห์ก่อนลงทุนได้ ช่วยคุณในการตัดสินใจและลงทุนอย่างชาญฉลาด ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

อ้างอิง: วิธีบริหารความเสี่ยง, มือใหม่หัดลงทุน, Investopedia

บทความโดย Bitkub.com

________________________________________________________

คำเตือน:

  • สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
  • ผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลในอดีตหรือผลการดําเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทน ของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลการดําเนินงานในอนาคต
  • ข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ข้อเสนอการลงทุนหรือการจัดการใด ๆ ของการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เนื้อหาข้างต้นเป็นการวิเคราะห์แนวโน้มของราคาโดยใช้ข้อมูลในอดีตหรือเครื่องมือวิเคราะห์ อาจมีการคลาดเคลื่อนได้ นักลงทุนควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล