อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม ๆ กับ “สังคมไทยยุคนี้” กับกรณี “ป่วยทางจิต” นี่นับวันก็จะยิ่งมีประเด็น “น่าเป็นห่วง” โดยมีทั้งกรณี “คลั่ง” เพราะจิตป่วยจิตพังเพราะสิ่งเสพติด และก็ยังรวมถึงกรณีผู้ที่ถูกเรียกว่า “สตอล์คเกอร์” ผู้ที่ตามติดคุกคามคนอื่นเพราะมีอาการ “หลงผิด” คิดไปเองเป็นตุเป็นตะว่า คน ๆ นั้นเป็นคู่รักตนเอง ซึ่งอย่างหลังนี่ ในเมืองไทยในระยะหลัง ๆ ก็มีข่าวปรากฏบ่อยขึ้น…

“ป่วยจิตหลงผิด นี่ก็ “น่าเป็นห่วง”…

“ส่งผลเสียทั้งต่อผู้ป่วยและคนอื่น ๆ”

โดยที่ “ผลเสียก็อาจถึงขั้นร้ายแรงได้!!”

ทั้งนี้ กรณี “ป่วยจิตหลงผิด” นี่วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในทางจิตวิทยา ที่มีการระบุไว้ว่า เป็นโรคจิตเภทชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “โรคจิตหลงผิด (Delusion Disorder)” ซึ่งเป็นความผิดปกติของระบบความคิด ผู้ที่ป่วยจะมีความเชื่อผิด ๆ ที่ไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมรองรับ โดย ผศ.พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้ไว้ผ่านเว็บไซต์รามาชาแนล www.rama.mahidol.ac.th ว่า… ผู้ที่ป่วยด้วยโรคจิตหลงผิดมัก มีความเชื่อหรือความคิดที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรืออาจเรียกว่า อาการหลงผิด (delusion)

“ผู้ที่เข้าข่ายป่วยด้วยอาการนี้ จะมีความผิดปกติทางความคิด โดยจะมีอาการหลงผิดที่มักเชื่อมโยงความคิดในความเชื่อที่ผิดจากความเป็นจริง ซึ่งมักจะมีอาการนี้มาเป็นเวลามากกว่า 1 เดือน” …เป็นข้อมูลคำอธิบายในชั้นต้น

ป่วยจิตหลงผิดนี่ “ไม่ใช่ประสาทหลอน”

สำหรับ “ความแตกต่าง” ระหว่างอาการ “ประสาทหลอน” กับ “โรคจิตหลงผิด” นั้น กรณีนี้ ผศ.พญ.ดาวชมพู ให้ข้อมูลไว้ว่า… อาการ “ประสาทหลอน” นั้นจะเป็นเรื่อง “ความผิดปกติของระบบประสาทสัมผัส” ที่ไม่ได้มีสิ่งกระตุ้นจากภายนอก เช่น หูแว่วเอง ได้ยินเสียงคนพูดคุย ทั้งที่รอบ ๆ ไม่มีใครพูด ส่วนอาการ “หลงผิด” จะเป็นเรื่อง “ความผิดปกติในเนื้อหาของระบบความคิด” ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคจิตหลงผิด เช่น ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ในสังคมใหม่…โดยกลุ่มนี้มักพบในกลุ่มที่อพยพย้ายถิ่นฐาน ผู้ที่มีการปรับตัวที่ผิดปกติ และโรคจิตหลงผิดก็มักจะพบได้ในผู้ที่มีความเครียดสะสมสูง

ทางแพทย์ผู้ชำนาญการท่านเดิมให้ข้อมูลความรู้ไว้อีกว่า… บุคลิกโดยทั่วไปของผู้ป่วยโรคจิตหลงผิด…ภายนอกมักดูปกติธรรมดา!! มักจะไม่แสดงพฤติกรรมประหลาดหรือพูดจาสับสนเหมือนผู้ป่วยประสาทหลอน แต่จะแสดงอาการเมื่อเกิดสิ่งกระตุ้นบางอย่าง ซึ่ง “ความน่ากลัว” คือผู้ป่วยโรคหลงผิดส่วนใหญ่ “มักไม่ทราบว่าป่วยด้วยโรคนี้” ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที เมื่อนานวันอาการก็ยิ่งรุนแรง โดยบางคนอาจมีบุคลิกเปลี่ยนไป เช่น กลายเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว หรืออาจจะ…

Stressed man sitting hopelessly with cracked glass effect

กลายเป็นคน “มีอารมณ์โกรธรุนแรง!!”

ทั้งนี้ ลักษณะของ “โรคจิตหลงผิด” ที่ว่านี้แบ่งหลัก ๆ ได้เป็น 5 ประเภท คือ… หลงผิดเกี่ยวกับร่างกายของตนเอง (Somatic Type) หรือ หลงผิดว่าถูกกลั่นแกล้ง ถูกสะกดรอย ถูกหมายเอาชีวิต (Persecutory Type) หรือ หลงผิดว่าคู่ครองนอกใจ (Jealous Type) หรือ หลงผิดว่ามีคนอื่นหลงรักตัวเอง (Erotomanic Type) หรือ หลงผิดว่ามีความสามารถเหนือกว่าผู้อื่น (Grandiose Type) …เหล่านี้เป็นลักษณะหลัก ๆ ของกลุ่มอาการป่วยด้วยโรคจิต “หลงผิด”…

ถ้า “มีอารมณ์รุนแรง” ก็จะ “ต้องระวัง!!”

นอกจากนี้ ผศ.พญ.ดาวชมพู ยังให้ความรู้ไว้ด้วยว่า… อาการ “หลงผิด” สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย อาทิ พันธุกรรม โดยพบได้บ่อยในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้, ปัจจัยชีวภาพ ที่เกิดจากสมองการรับรู้และความคิดทำงานผิดปกติ หรือเกิดจากสารชีวเคมีในสมอง (neurotransmitter) ที่ไม่สมดุล, จิตใจ จากการเลี้ยงดูที่ไม่ได้รับความอบอุ่น จนไม่มีความเชื่อใจคนอื่น และจะไวต่อท่าทีที่ผู้อื่นแสดงออกมา, ปัจจัยสังคม จากการที่ต้องใช้ชีวิตในสังคมที่มีการแข่งขันสูง มีการเอารัดเอาเปรียบมาก จนทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองถูกคุกคาม หรือรู้สึกว่าชีวิตไม่ปลอดภัยตลอดเวลา เป็นต้น

และ “ผลกระทบของโรคหลงผิด” นั้น…ผู้ป่วย มักเกิดปัญหาด้านการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เช่น หวาดระแวงตลอดเวลาว่าตนเองถูกกลั่นแกล้ง ถูกสะกดรอย ไม่อยากอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น ทำให้แยกตัวออกจากสังคม ซึ่งเมื่อมีอาการต่อเนื่องรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะกระทบการทำงานและคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดปัญหากับตนเอง คนใกล้ชิด ครอบครัว คนรอบตัว ดังนั้น หากสงสัยว่ามีแนวโน้มจะป่วยด้วยอาการนี้ ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุและรับการรักษา

“การรับประทานยาสม่ำเสมอ บำบัดอย่างต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยเปิดใจพูดถึงสิ่งที่รบกวนจิตใจ จะช่วยให้ดีขึ้น ขณะที่คนใกล้ชิดก็ต้องเข้าใจและรับฟังสิ่งที่ผู้ป่วยคิดโดยไม่โต้แย้ง แต่ต้องไม่ใช่การสนับสนุนความหลงผิดของผู้ป่วย” …แพทย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ไว้

นี่ “คนละเรื่องเดียวกันกับคดีครึกโครม”

แต่ “รักษาให้หายย่อมดีกว่าไม่ได้รักษา”

“หลงผิดต่อเนื่องก็อันตรายต่อเนื่อง!!”.