ทั้งนี้ กรณี “ผู้ชายก็เป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ” ได้นั้น…เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีเหตุการณ์-มีคดีเกิดขึ้น โดยตามรายงานข่าวนั้นผู้เสียหายที่เป็นผู้ชายให้การว่า…ถูกคู่กรณีที่ก็เป็นผู้ชาย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ทำร้ายร่างกายรุนแรงขณะมีเพศสัมพันธ์ ทั้งเฆี่ยนตี กัดกระชากทั่วร่างกาย และถึงขั้นมีเลือดไหลออกทางทวาร!!…

กรณีนี้ฉายภาพ “ความรุนแรงทางเพศ”

ที่ในสังคมไทย “ยุคนี้ปัญหายิ่งซับซ้อน”

“มีกลุ่มเหยื่อเพิ่มขึ้น” จากกลุ่มเดิม ๆ…

ทั้งนี้ มองกันที่ภาพภายนอก ที่มิใช่เพศสภาพภายในจิตใจ กับ “ปัญหาความรุนแรงทางเพศ” ที่เป็นกรณี “ชายกระทำต่อชาย” และรวมถึงกรณี “หญิงกระทำต่อหญิง” ด้วย นี่นับวันก็ดูจะ “ขยายวงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” และก็เป็นอีกส่วนสำคัญในปัญหาความรุนแรงทางเพศในสังคมไทย ที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นกว่าเดิม ๆ จนทำให้หลายคนเกิด “ปุจฉา” ว่า… “ไทยไร้กลไกแก้ปัญหาหรือ??” ซึ่งสังคมไทยก็ต้องร่วมกัน “วิสัชนา” หาคำตอบ??… อย่างไรก็ตาม จิตติมา ภาณุเตชะ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา สะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… ยุคนี้ “ความรุนแรงทางเพศไร้พรมแดน” เพราะแม้ปัญหานี้ส่วนใหญ่เกิดบ่อยในเพศหญิงและเด็ก แต่ก็ “เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย” โดยที่ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับเรื่อง..

“ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” ทางสังคม

ที่ “ผู้กระทำมักมีอำนาจมากกว่าเหยื่อ”

นายกสมาคมเพศวิถีศึกษา ขยายความเรื่องนี้ว่า… ที่ว่าเกี่ยวข้องกับ “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” ก็เนื่องจากพบได้บ่อยว่าผู้กระทำ ผู้ที่ใช้ความรุนแรงในเรื่องนี้ มักเป็นคนที่มีอำนาจมากกว่าเหยื่อ เช่น ถ้าเป็นในครอบครัว สามีก็มักจะมีอำนาจมากกว่าภรรยา และเมื่อประกอบกับทัศนคติ “ชายเป็นใหญ่” ก็ยิ่งทำให้เกิดการกระทำความรุนแรงขึ้นได้ง่าย ๆ

ส่วน “ความรุนแรงทางเพศ” อย่างการที่ “ชายกระทำต่อชาย” นั้น จิตติมา ระบุว่า… เมื่อเกิดเหตุในลักษณะนี้สังคมอาจมองผิวเผิน เพราะคู่กรณีมักเป็นคนรักกัน เป็นแฟนกัน แต่ถ้าหากมองในเชิงรายละเอียดของรูปแบบความรุนแรง จะพบว่า… มีตั้งแต่การกระทำความรุนแรงต่อจิตใจ ต่อกาย หรือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ และก็จะเห็นได้ว่าเหตุลักษณะนี้มีความหลากหลาย ทั้งกรณีเป็นคนรัก-คู่รัก หรือตกลงปลงใจมีเพศสัมพันธ์กัน ซึ่งที่ลงลึกไปอีกคือ…เมื่อตกลงมีเพศสัมพันธ์กัน การที่จะมีรสนิยม “กระทำต่อกันด้วยความรุนแรง” ก็อาจมีเรื่องความยินยอมพร้อมใจ หรือสมยอม…

ถ้าหากมีรสนิยมเหมือนกัน…ก็แล้วไป

แต่ถ้าไม่ใช่…ก็เข้าข่ายใช้ความรุนแรง!!

ทางนายกสมาคมเพศวิถีศึกษา ระบุต่อไปว่า… ในเชิงวิธีคิดเกี่ยวกับเพศวิถีนั้น การใช้ความรุนแรงเพราะต้องการมีความสุขไม่ใช่เรื่องผิด แต่…แก่นแกนเรื่องนี้คือ Consent  หรือ การยินยอมพร้อมใจ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจากความสมัครใจกันทั้งสองฝ่ายก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่ใช่ ถ้าฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในภาวะ จำยอม หรือต้องยอม อันนี้เส้นแบ่งจะหายไป และก็จะเป็นตัวบอกที่สำคัญว่าเรื่องนี้ยอมรับได้? หรือยอมรับไม่ได้? ซึ่งถ้าไม่ได้เกิดขึ้นจากความสมัครใจกันทั้งสองฝ่าย ก็จะกลายเป็นประเด็นปัญหาตามมา แต่สังคมรับรู้เรื่องราวแบบนี้ได้น้อยมาก เพราะมีไม่มากที่ผู้เป็น “เหยื่อความรุนแรง” จะเปิดเผย…

มักจะไม่กล้าลุกขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราว

นอกจากนี้ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษายังระบุอีกว่า… เมื่อเกิดเหตุลักษณะนี้ สังคมไทยต้องตั้งสติในการให้ความเห็น เพราะเรื่องนี้สะท้อนถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ยินยอม หรืออาจตกลงจะมีเพศสัมพันธ์กัน แต่ไม่ได้ให้ใช้ความรุนแรง ซึ่งก่อนจะมีเพศสัมพันธ์อาจตกลงกันไว้แบบหนึ่ง แต่เมื่อถึงเวลาจริง ๆ บางครั้งอาจเลยเถิด เพราะอีกฝ่ายควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมทุกเพศ นายกสมาคมเพศวิถีศึกษาบอกว่า… หนึ่งในวิธีที่จะช่วย ลดปัญหาความรุนแรงทางเพศ” คือสนับสนุนให้สังคมไทย ตระหนักถึง “ความสำคัญ” ของ “การยินยอมพร้อมใจ” ในการ “มีเพศสัมพันธ์ ที่ควรต้องมีอยู่ในทุกช่วงกระบวนการ อาทิ กรณีเป็นแฟนกัน ไปดูหนังกัน แล้วฝ่ายหนึ่งยอมไปค้างที่ห้องของอีกฝ่าย…แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยอมมีเพศสัมพันธ์หรือยอมมีเซ็กซ์แบบสอดใส่ โดยอาจยอมให้แค่กอดจูบเท่านั้น แต่ที่สุดถ้าอีกฝ่ายไม่สามารถระงับหรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ก็อาจนำสู่การ “ล่วงละเมิดทางเพศ” หรือ“ใช้กำลังขู่บังคับมีเพศสัมพันธ์”

เป็น “ตัวอย่าง” ที่ถูกหยิบยกมา “ฉายภาพ”

“เพื่อจะให้สังคมตระหนัก” เกี่ยวกับเรื่องนี้

ทั้งนี้ จิตติมา ภาณุเตชะ ยังเน้นย้ำและฝากถึงสังคมไทยในยุคปัจจุบันด้วยว่า… หากสังคมตระหนักและให้คุณค่ากับกระบวนการยินยอมพร้อมใจ “ปัญหาการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อกัน” ก็จะลดน้อยลงได้ อย่างแน่นอน ซึ่ง…

ไม่ว่าจะคู่ “ต่างเพศ” หรือ “เพศเดียวกัน”

“ยุคเสรีเพศ” นี่ “ยิ่งต้องตระหนักให้มาก”

“สกัดกั้นปัญหาความรุนแรงทางเพศ!!”.