ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลที่สนใจกรณีนี้ ซึ่ง “เด็กพิเศษ” จัดเป็นอีกหนึ่งกลุ่ม “เด็กเปราะบาง” ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการทางการเรียนรู้ โดยการ “ออกแบบสภาพแวดล้อมที่ดี” ก็มีส่วนช่วย…

“ช่วยส่งเสริมพัฒนาการ” ให้เด็กพิเศษ

โดยการ “ใช้ความรู้ทางสถาปัตยกรรม”

“ออกแบบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ทั้งนี้ สำหรับแนวคิดในการ นำความรู้ทางสถาปัตยกรรมมาใช้ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อกระตุ้นพัฒนาการให้ “เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา-เด็กออทิสติก” เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการวิจัย “การพัฒนาสภาพแวดล้อมศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษและโรงเรียนเด็กพิเศษที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาการ” ที่มี รศ.ดร.นวลวรรณ ทวยเจริญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหนึ่งในทีมวิจัยเรื่องนี้ ภายใต้การสนับสนุนจาก สวรส.

โดยพบว่า “รูปแบบสถาปัตยกรรม” นั้น…

มีส่วน “ส่งเสริมพัฒนาการเด็กพิเศษได้”

ทาง รศ.ดร.นวลวรรณ ผู้ศึกษาวิจัย ได้ระบุไว้ว่า… รูปแบบทางสถาปัตยกรรมนั้นมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะ “กลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและออทิสติก” ได้จริง ๆ ซึ่งในต่างประเทศได้มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน อย่างเช่น… โครงการการออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กออทิสติกของวิทยาลัยสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง มหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่ ออกแบบโครงสร้างพื้นผิวที่นุ่มและยืดหยุ่น เพื่อสร้างประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส ให้กับกลุ่มเด็กออทิสติกสเปกตรัม (ASD) …นี่เป็นตัวอย่าง-เป็นกรณีศึกษา ที่ชี้ให้เห็น…

“ความสำคัญของสถาปัตยกรรม”…

กับการ “มีส่วนเสริมสร้างพัฒนาการ”

สำหรับโครงการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ในไทย กับพื้นที่ทดสอบนั้นทางผู้วิจัยให้ข้อมูลไว้ว่า…เลือกพื้นที่ของ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีเด็กพิเศษในพื้นที่รับผิดชอบ 16 อำเภอ โดยดูแลเด็กมากกว่า 500 คน ซึ่งคณะวิจัยได้ “ออกแบบสภาพแวดล้อม” ด้วยการ “อาศัยหลักการสถาปัตยกรรม” เพื่อศึกษาและค้นหาคำตอบเรื่องนี้ โดยแบ่งออกเป็น ห้องเรียนของเด็กออทิสติก และ ห้องเรียนของเด็กดาวน์ซินโดรม ซึ่งมีรายละเอียดโดยสังเขปดังต่อไปนี้…

ในส่วนของห้องเรียน “เด็กออทิสติก” มีการออกแบบโดยไม่ใช้ผนังห้องสีสด ใช้ผนังสีโทนเย็น เพื่อลดอาการก้าวร้าว และทำให้เด็กสงบและผ่อนคลาย, จัดโต๊ะเก้าอี้แบบกลุ่ม และใช้สีสันที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นการจดจำ, ไม่มีกระจกในห้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเกิดความสับสน, เลือกใช้หลอด LED ที่ให้สีของแสงในโทนอบอุ่น ไม่ใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์, มีมุมหรือห้องเงียบภายใน เพื่อสำหรับใช้เป็นห้องปรับอารมณ์ของเด็ก ทั้งนี้ กับสีที่ควรเลือกใช้ สีที่เหมาะสม ได้แก่ เขียว ฟ้า ชมพู เหลือง …นี่เป็นตัวอย่างการออกแบบ “สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม” สำหรับกลุ่มเด็กออทิสติก

ขณะที่ห้องเรียน “เด็กดาวน์ซินโดรม” จะมีรายละเอียดที่แตกต่างออกไป เนื่องเพราะมีลักษณะและพฤติกรรมแตกต่างกัน โดยเริ่มจาก เลือกใช้ผนังสีส้ม เพื่อที่จะช่วยสร้างการกระตุ้นให้เด็กเกิดความตื่นตัว, มีโต๊ะเรียน 2 ฝั่งหันเข้าหากัน เพื่อกระตุ้นพัฒนาการ และเสริมสร้างทักษะการสื่อสาร, ติดตั้งหน้าต่าง เพื่อทำให้เกิดสิ่งเร้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อเด็ก เพราะจะช่วยทำให้เด็กมีความกระตือรือร้นเพิ่มขึ้น, เลือกใช้หลอดไฟ LED ที่ให้แสงโทนเย็น ไม่ใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์, มีมุมศิลปะในห้อง เพื่อช่วยเสริมสร้างทักษะด้านจินตนาการ โดยสีที่ควรเลือกใช้ สีที่เหมาะสม ได้แก่ เหลือง ส้ม เขียว ชมพู

“กระตุ้นเด็กด้วยสีสันต่าง ๆ ที่ใช้ในห้อง รวมถึงออกแบบจัดวางโต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการใช้แสงสว่าง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ หรือช่วยทำให้เกิดความสงบมากขึ้น เช่น เด็กออทิสติกที่มักจะวอกแวก อยู่ไม่นิ่ง จะกำหนดให้ห้องเป็นลักษณะโทนเย็น ขณะที่เด็กดาวน์ซินโดรมที่มักอยู่นิ่ง จะเลือกใช้สีโทนร้อน เพื่อช่วยกระตุ้น”…ทางนักวิจัยให้ข้อมูลขยายความไว้

และ “ผลการทดสอบนั้นน่าพิจารณา”

ทั้งนี้  เกี่ยวกับโครงการนี้ ยังได้มีการเผยไว้ด้วยว่า… ผลทดสอบพบว่า สี รูปทรง หรือการใช้แสงสว่าง ล้วนมีผลกับพัฒนาการของเด็กพิเศษจริง โดยสีสันและการจัดวางต่าง ๆ ช่วยจูงใจให้เด็กอยากเข้าห้องเรียน กระตุ้นให้เด็กอยากจะสัมผัสหรือเรียนรู้มากขึ้น อีกทั้งช่วยให้เด็กเล่นแบบมีเป้าหมาย หรือได้ประโยชน์จากการเล่นมากขึ้น …นี่คือ “ผลลัพธ์น่าสนใจ” หลัง “ใช้หลักสถาปัตยกรรม” ออกแบบห้องเรียน “เด็กพิเศษ” ที่ทาง อำไพพิศ บุนนาค ผอ.ศูนย์ศึกษาพิเศษฯ แห่งนี้ระบุไว้

“เด็กพิเศษ” นั้น “เมืองไทยก็มีไม่น้อย”

“ผลศึกษาวิจัย” เรื่องนี้ “น่าพิจารณา”

“น่าสนใจ” และ “น่ามีการใช้วงกว้าง”.