ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มชวนดูเรื่องนี้กัน ซึ่งจริง ๆ ในแวดวงการบินก็เริ่มมีการนำระบบนี้มาใช้งานเพื่อ “เช็กอัตลักษณ์” ผู้โดยสาร มีการนำร่องใช้กับบางเที่ยวบินของบางสายการบินแล้ว โดยช่วงแรกยังเป็นการใช้งานผ่านการสมัครใจ ต้องมีการยินยอมจากผู้ใช้บริการก่อนจึงจะใช้ระบบ “ไบโอเมตริกซ์” นี้ได้ ซึ่งเมื่อในไทยมีกระแสกรณีจะใช้ระบบนี้กับบริการธนาคาร-บริการเงิน มุมหนึ่งก็สะท้อนว่า “เทคโนโลยีดิจิทัลใกล้ตัวคนไทย” มากขึ้นอีก…

คนไทยต้องทำความเข้าใจให้คุ้นเคย…

รวมถึงเทคโนโลยีระบบ “ไบโอเมตริกซ์”

ที่ “จะมีบทบาทในชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ”

ทั้งนี้ กล่าวสำหรับ “ไบโอเมตริกซ์” หรือในภาษาอังกฤษ “Biometrics” นั้น อันที่จริงในประเทศไทยก็ได้มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีให้ความสนใจ-ให้ความสำคัญกันมานานหลายปีแล้ว โดยเฉพาะเมื่อช่วงปี 2562 ที่มีกระแสในเวลานั้นว่า…ทางภาครัฐจะมีการ “จัดเก็บข้อมูลชีวมาตรของประชาชน” โดยที่กระแสนี้ก็จริงจังถึงขั้นได้มีการเสนอให้เรื่องนี้ถูกนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อศึกษาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เนื่องจากมีหลายฝ่ายที่มีข้อกังวลว่า… “ข้อมูลสำคัญส่วนบุคคล” นั้น…หากไม่มีมาตรการป้องกัน “การรั่วไหลของข้อมูล” ที่ดีพอ ก็อาจ “รั่วไหลไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพ” ได้…

ข้อกังวล “ภัยมุมกลับจากไบโอเมตริกซ์”

นี่เป็นที่มาในการเรียกร้องให้ทบทวนเรื่องนี้

อนึ่งเกี่ยวกับ “ไบโอเมตริกซ์” หรือที่มีการกำหนดศัพท์ภาษาไทยโดยใช้คำว่า “ข้อมูลชีวมาตร” นั้น จากที่มีการอธิบายไว้ในอินเทอร์เน็ต-จากแหล่งข้อมูลหลาย ๆ แหล่ง ก็ประมวลโดยสรุป “คำจำกัดความ” ของระบบนี้ได้ว่า… เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีทางชีวภาพและทางการแพทย์เข้ากับเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ โดยเป็นการใช้เพื่อ ตรวจวัดคุณลักษณะทางกายภาพ และลักษณะทางพฤติกรรม ที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละคน เพื่อใช้ในการระบุตัวบุคคล โดยนำมาเปรียบเทียบกับคุณลักษณะที่ได้บันทึกไว้ในฐานข้อมูล เพื่อใช้แยกแยะบุคคลนั้น ๆ ออกจากบุคคลอื่น ๆ…

“ไบโอเมตริกซ์” ที่จัดเป็นเทคโนโลยีซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีด้านชีวภาพ และด้านการแพทย์ กับเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ กับการที่สามารถใช้ในการตรวจวัดลักษณะทางกายภาพ และลักษณะทางพฤติกรรม ที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละคน กับการที่สามารถใช้ระบุตัวบุคคลได้นั้น ก็เนื่องจากลักษณะของคนเรา โดยเฉพาะทางกายภาพ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง จึงทำให้การ “พิสูจน์บุคคล” โดยใช้ข้อมูลไบโอเมตริกซ์ถือว่า “มีความน่าเชื่อถือ”

ขณะที่ในแง่ของ “คำ” นั้น…สำหรับคำว่า “ไบโอเมตริกซ์ (Biometric)” นี้ ประกอบขึ้นมาจากคำว่า “ไบโอ (Bio)” ที่หมายถึง “สิ่งมีชีวิต” และคำว่า “เมตริกซ์ (metrics)” ที่หมายถึง “คุณลักษณะที่สามารถวัดค่าหรือประเมินจำนวนได้” ซึ่งเมื่อนำ 2 คำมารวมกัน… “ไบโอเมตริกซ์” ก็จะหมายถึงเทคโนโลยีที่ใช้คุณลักษณะหรือพฤติกรรมบางอย่างในสิ่งมีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์และสามารถเทียบวัดหรือนับได้ มาผนวกเข้ากับหลักการทางสถิติ เพื่อ “แยกแยะหรือจดจำแต่ละบุคคล” ซึ่งระบบไบโอเมตริกซ์นี้ ถูกผลิตจำหน่ายครั้งแรกเมื่อกว่า 25 ปีก่อนในสหรัฐอเมริกา โดยเป็นอุปกรณ์ตรวจวัดความยาวนิ้วมือ…

ที่ติดตั้งเพื่อบันทึกเวลาเข้าออกของพนักงาน

รวมถึงเป็นระบบ “รักษาความปลอดภัย”

ทั้งนี้ กับกระบวนการ “ตรวจสอบ” หรือการ “ยืนยันระบุตัวบุคคล” ด้วยการ “ใช้ข้อมูลไบโอเมตริกซ์” นั้น หลักใหญ่ใจความโดยภาพรวมแล้วก็จะมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้คือ… 1.ผู้ใช้ระบบนั้น ๆ ต้องให้ตัวอย่างไบโอเมตริกซ์ที่จะใช้ หรือลงทะเบียนเริ่มต้น ก่อนจะทำการใช้ระบบได้, 2.ตัวอย่างไบโอเมตริกซ์ที่ถูกเก็บจะถูกแปลงจัดเก็บไว้เป็นแม่แบบ เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบ, 3.เมื่อต้องการใช้งานระบบนั้น ๆ ทางผู้ใช้จะถูกตรวจสอบ หรือถูกกำหนดให้ต้องมีการระบุตัวตนผู้ใช้งานก่อน โดยเปรียบเทียบกับข้อมูลไบโอเมตริกซ์แม่แบบที่เก็บไว้ แล้วระบบก็จะอนุญาตหรือปฏิเสธการเข้าใช้งาน

นี่คือ “กระบวนการใช้งาน” เทคโนโลยีนี้

ที่เป็น “เทคโนโลยีที่ใช้ยืนยันตัวบุคคล”

ส่วน “ประเภท” ของ “ข้อมูลไบโอเมตริกซ์” แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ… ลักษณะทางกายภาพ (Physiological Biometrics) และลักษณะทางพฤติกรรม (Behavioural Biometrics) โดย ลักษณะทางกายภาพ เช่น… ลักษณะลายนิ้วมือ, ลักษณะมือ, ลักษณะใบหู, ลักษณะภายในดวงตา, ลักษณะใบหน้า หรือแม้แต่ ลักษณะกลิ่นกาย ก็อยู่ในประเภทนี้ ขณะที่ ลักษณะทางพฤติกรรม เช่น… เสียง, การเดิน, การพิมพ์, การเซ็นชื่อ …นี่เป็นตัวอย่างเกี่ยวกับข้อมูล “ไบโอเมตริกซ์” ที่จะถูกนำมาใช้แพร่หลายในโลกยุคใหม่ซึ่ง… ในไทย…เห็นว่าจะใช้ลักษณะใบหน้ากับระบบการเงิน เร็ว ๆ นี้

ยุค “โจรไฮเทคอาละวาดระบบการเงิน”

“ไบโอเมตริกซ์” นั้น “ถูกชูให้เป็นทางสู้”

“หวังว่าจะสู้ได้-ไม่เกิดภัยในมุมกลับ!!”.