ทั้งนี้ ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยไว้ว่าปี 2565 “ในไทยมีธุรกิจจดทะเบียนตั้งใหม่เพิ่มขึ้น” โดยมีธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 76,488 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ราว 5% ซึ่งธุรกิจที่ยื่นขอจดทะเบียนตั้งใหม่มากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจในภัตตาคาร/ร้านอาหาร และใน 3 อันดับที่ว่าก็มีจุดน่าโฟกัส…

น่าโฟกัส “ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป”

ที่ “ครองแชมป์ทั้งเลิกกิจการ-ตั้งใหม่”

“ปัจจัยใดทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้??”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เกี่ยวกับกรณีที่ “ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป” นั้นเกิดปรากฏการณ์ “ครองแชมป์ 2 ด้าน” คือทั้ง “ธุรกิจแจ้งขอเลิกกิจการมากที่สุด” และ “ธุรกิจจดทะเบียนจัดตั้งใหม่มากที่สุด” ของปี 2565 ข้อมูลเรื่องนี้กรณีนี้เป็นข้อมูลที่ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดเผยออกมา โดยระบุว่า… ปี 2565 ไทยมีธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งใหม่จำนวน 7,061 ราย และธุรกิจนี้ก็ยังเป็นธุรกิจที่มีผู้ยื่นขอเลิกกิจการจำนวนมากที่สุดด้วยเช่นกัน โดยมีธุรกิจที่แจ้งขอเลิกกิจการทั้งสิ้น 2,102 ราย ซึ่งจากข้อมูลนี้ก็ทำให้เกิด “ปุจฉา” ว่าไฉนธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปจึงเป็น แชมป์ “ตั้งกิจการใหม่” พร้อม ๆ กับ “เลิกกิจการ” ซึ่งกับ “วิสัชนา” นั้น…ก็มี “มุมวิเคราะห์” จากปรากฏการณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้…

ทั้งนี้ ทาง ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA (Analyst MBA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้วิเคราะห์และสะท้อนถึงเรื่องนี้กับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” โดยในส่วน “สาเหตุ” ที่มี “ธุรกิจจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น” นั้น นักวิชาการท่านนี้มองว่า… การที่ยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ของไทยพุ่งสูงขึ้นมา ก็เปรียบได้กับตลาดขายของ ที่เมื่อตลาดมีบรรยากาศไม่คึกคัก ทำให้ผู้เช่าแผงขายของต่างก็ไม่อยากขาย เพราะขายได้ไม่ดี ทำให้ต้องแบกรับต้นทุน จึงตัดสินใจเลิกเช่าแผงจากตลาด ขอหยุดขาย จนเมื่อตลาดกลับมาคึกคักอีกครั้ง ผู้เช่าแผงก็จึงอยากจะกลับมาขายของใหม่ จึงแจ้งตลาดว่าอยากจะกลับมาขายใหม่ ที่กรณีนี้ก็เหมือน “ตลาดทุนไทย” ตอนนี้ ที่ “เมื่อกลับมาคึกคัก…ก็ย่อมมีคนอยากกลับมา”

เมื่อเคย “เลิกไปเยอะ…ก็กลับมาเยอะ”

กับ “ปุจฉา” ที่มีหลาย ๆ คนสงสัย…ว่าในปี 2565 “ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป” นั้นเป็นประเภทธุรกิจที่มีตัวเลขการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่มากที่สุด แต่ทำไมในขณะเดียวกัน ในรอบปีเดียวกัน ก็กลับเป็นประเภทธุรกิจที่มีการแจ้งขอเลิกกิจการจำนวนมากที่สุดด้วย?? ประเด็นนี้ทาง ดร.ภูษิต ยังได้วิเคราะห์และสะท้อนขยายความว่า… จากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจต้องประสบปัญหาอย่างมาก จนทำให้ต้องล้มหายตายจากกันไปเป็นจำนวนไม่น้อย แน่นอนว่าธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่หลีกเลี่ยงผลกระทบนี้ไม่ได้ ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

ทางนักวิชาการท่านเดิมสะท้อนอธิบายถึงปรากฏการณ์นี้ต่อไปว่า… เรื่องของอาคาร-เรื่องการก่อสร้าง นั้น เป็นเรื่องของ “เรียล เซคเตอร์” ซึ่งช่วงที่เกิด “วิกฤติโควิด-19” รุนแรง ทำให้ธุรกิจก่อสร้างในประเทศไทยต้องหยุดชะงักไปหมดเลย ไม่มีการลงทุน ไม่มีการก่อสร้างอาคารใหม่ เรียกว่าทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็หยุดการลงทุนในช่วงนั้นกันเกือบหมด ทำให้ รายได้สวนทางกับรายจ่าย จึงทำให้บริษัทด้านการก่อสร้างหลายแห่งต้องยอมถอย โดยยอมเลิกกิจการไปก่อน จนเมื่อตลาดเริ่มกลับมา จึงตัดสินใจกลับมาตั้งกิจการกันใหม่อีกครั้ง จึงส่งผลให้ตัวเลขด้านจัดตั้งพุ่งสูงขึ้นด้วยนั่นเอง

ดร.ภูษิต ชี้อีกว่า… สัญญาณดีที่มีออกมาน่าจะทำให้นักลงทุน เจ้าของธุรกิจ เริ่มใจชื้นขึ้น หรือมีความกล้ามากขึ้นที่จะลงทุนทางธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อธุรกิจท่องเที่ยวของไทยก็มีสัญญาณเริ่มฟื้นตัว ซึ่งแม้ไม่ใช่ธุรกิจเดียวกัน แต่จากบรรยากาศที่เริ่มจะกลับมาคึกคักขึ้น ก็เป็นบรรยากาศที่ดี ส่งผลต่อภาวะอารมณ์ของนักลงทุน ทำให้มีนักธุรกิจกล้าที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กับการที่ “ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป” เป็น “แชมป์” ปี 2565 ทั้ง “ธุรกิจแจ้งเลิกกิจการ” และ “ธุรกิจขอตั้งกิจการใหม่” นั้น ดร.ภูษิต ยังสะท้อนขยายความเพิ่มกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาด้วยว่า… การที่ธุรกิจนี้ขอตั้งกิจการใหม่มากขึ้น ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะช่วงโควิด-19 ระบาด ธุรกิจนี้ก็ปิดตัวไปมาก เมื่อมีสัญญาณฟื้นตัวธุรกิจเหล่านี้ก็จึงอยากกลับคืนสู่ตลาดอีกครั้ง อีกทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็อาจมีการลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น เช่น ที่พัก ร้านอาหาร ก็ต้องมีการก่อสร้าง และมีการสร้างสาธารณูปโภคใหม่ ๆ เพื่อรองรับ ด้วยเหตุนี้ก็เลยส่งผลทำให้ยอดจดทะเบียนตั้งกิจการใหม่ด้านก่อสร้างพุ่งขึ้นนั่นเอง

“หากมองเชิงบวกในระยะสั้น นี่ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่ชี้ว่า…ศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็เริ่มมีภาวะคงที่ คือไม่ดีมาก แต่ก็ไม่แย่มากเหมือนช่วงที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนเห็นโอกาสและศักยภาพ จึงมีความมั่นใจในการลงทุนเพิ่มขึ้น ส่วนในระยะยาวนั้น…ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป…” …เป็นอีกส่วนจากการสะท้อนมาโดย ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผอ.หลักสูตร aMBA ม.หอการค้าไทย ที่วิเคราะห์-อธิบายถึงอีก “ปรากฏการณ์” ที่น่าตามดู…

ปรากฏการณ์…“ธุรกิจก่อสร้างอาคาร”

อีกหนึ่ง “ภาพสะท้อนเศรษฐกิจไทย”

ที่ “ใจชื้นได้…แต่ยังวางใจไม่ได้??”.