หลังจากทางเขมรหรือกัมพูชาซึ่งเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 32 มีการนำกีฬาต่อสู้ “กุน ขแมร์” ที่มีรูปแบบและกติกาคล้ายกีฬามวยไทย บรรจุไว้ในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้แทนมวยไทย…ที่เคยมีการแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ในบางปี ซึ่งในไทยเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นเซ็งแซ่ เมื่อองค์กรกีฬามวยไทยแสดงความไม่เห็นด้วย แล้วก็ตามมาด้วย “วิวาทะร้านฉ่าในโซเชียล” ซึ่งมาถึงตอนนี้ดราม่ากรณีนี้เป็นเช่นไร?? ก็ดังที่ทราบ ๆ กัน…

ก็หวังว่าจะไม่เป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว”…

ไม่ “ลุกลามเป็นข้อพิพาทระหว่างชาติ”

ทั้งนี้ กรณีมวยดังกล่าวข้างต้นนั่นก็เรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จากกระแสเซ็งแซ่ที่เกิดขึ้นก็อาจจะทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยนึกย้อนถึงกรณีอื่น ๆ ที่เป็นกรณี “ของดีไทยถูกเคลม??” หรือถึงขั้น “ของดีไทยถูกฮุบ??” ที่เคยมีกระแสเกิดขึ้น ซึ่งพลิกแฟ้มย้อนดูในอดีต เคยมีกระแสทำนองนี้อยู่เนือง ๆ โดยที่ “เมนูอาหารไทย” ดูจะ “เป็นเป้าใหญ่” เช่น เคยเกิดกระแสว่ามีนักธุรกิจต่างชาติ “จดสิทธิบัตรเมนูเสือร้องไห้” ก่อนจะมีการปฏิเสธตอนหลังว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด หรืออีกกรณีคือเคยมีกระแสว่ามีเชฟต่างชาติยื่น “จดสิทธิบัตรแกงเขียวหวาน” ก่อนที่จะมีการตรวจสอบ และพบว่าไม่เป็นความจริง เรื่องนี้จึงสงบลง

นี่เป็นตัวอย่างจากกระแสที่เคยเกิดขึ้น…

“ของดีของไทย” ที่ “เคยล่อแหลม??”

และพลิกแฟ้มเกี่ยวกับ “ของดีของไทย” ในส่วนที่เป็น “อาหาร” ในช่วงที่เคยมีกระแส “ห่วงว่าจะถูกเคลม-ห่วงว่าจะถูกฮุบ” ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เคยนำเสนอมุมมองของผู้สันทัดกรณีอาหารไทยรายหนึ่ง ที่ถึงวันนี้ก็ยังน่าพิจารณา ซึ่งโดยสังเขปนั้นมีว่า… เมนูอาหารไทย ขนมไทย ไม่เพียงจะตกเป็นเป้าหมายของชาวต่างชาติบางคน ในการที่จะ “ฮุบ” เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงต่าง ๆ แต่ยัง “ถูกนำไปแอบอ้าง” หรือ “บิดเบือนสูตรอาหาร” อีกด้วย ซึ่งแหล่งข่าวรายนี้ย้ำไว้ ณ ขณะนั้นว่า… กรณีแบบนี้ ถ้าไทยไม่มีมาตรการป้องกัน ของดีของไทยอาจเสื่อมเสีย หรือชื่อเสียงอาจเสียหาย…

อาจ “เกิดความเข้าใจผิดกับอาหารไทย”

จะ “ส่งผลกระทบลูกโซ่ถึงประเทศไทย”

พร้อมกันนี้ก็มีการยกตัวอย่างไว้ถึงกรณีที่ทำให้ “อาหารไทยเสียชื่อเพราะถูกต่างชาติบิดเบือนหาประโยชน์” ว่า… อย่างเช่นกรณี “เมนูต้มยำกุ้ง” ที่เมื่อปี 2563 เคยเกิด “ปมร้อน” ขึ้นมา หลังเพจสอนทำอาหารชื่อดังของสหรัฐอเมริกาได้ เผยแพร่ “คลิปสอนวิธีทำต้มยำกุ้ง” ซึ่ง “คลาดเคลื่อนจากต้นตำรับ” อีกทั้ง “ให้ข้อมูลผิด ๆ” จนคนไทยกังวลใจกันมาก

อย่างไรก็ตาม จากกรณี “ดราม่าต่างชาติจ้องฮุบจ้องเคลมอาหารไทย” กับกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ในขณะนั้นทางแหล่งข่าวผู้สันทัดกรณีเรื่องอาหารของไทยคนเดิมก็ได้สะท้อนอีกมุมมองไว้น่าสนใจ ว่า… ก็ตอกย้ำว่าอาหารไทยเป็นอาหารที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโด่งดังไปทั่วโลก อย่าง ต้มยำกุ้ง, ต้มข่าไก่, ไข่เจียวเนื้อปู, แกงเขียวหวานไก่ ฯลฯ ที่ร้านอาหารไทยทั่วโลกนั้น…

จะต้องมีเมนูขึ้นชื่อเหล่านี้ติดไว้ประจำร้าน

เพื่อใช้ประโยชน์จากชื่อเสียงของดีของไทย

และนอกจากในแง่ “ชื่อเสียงโด่งดัง” ทางแหล่งข่าวคนเดิมยังชี้ไว้ว่า… ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก “อาหารไทย” ที่เป็น “ของดีของไทย” ในฐานะเป็น “แม่เหล็กดึงดูดรายได้เข้าประเทศ” จากนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยการทำให้เกิดความสนใจจนอยากเดินทางมาเที่ยวที่เมืองไทย เพื่อจะได้ลิ้มรสอาหารไทยต้นตำรับ …ซึ่งกับเรื่องนี้ยุคนี้ก็จะคุ้นกันกับคำว่า…

“ซอฟต์ เพาเวอร์” จุดขายท่องเที่ยว…

ที่จะ “สร้างมูลค่า-สร้างรายได้ให้ไทย”

แต่… ด้วยความที่ อาหารไทยโด่งดังระดับโลก กรณีนี้จึงทำให้มีผู้ประกอบการ-ธุรกิจร้านอาหารต่างชาติส่วนหนึ่งอยากครอบครองสิทธิในอาหารไทย เพื่อหวังผลและประโยชน์ในเชิงธุรกิจ จนทำให้เกิดประเด็นต่างชาติจะงุบงิบจดสิทธิบัตรอาหารไทย เนื่องจาก มีเมนูของไทยจำนวนไม่น้อยที่ไทยยังไม่ได้จดสิทธิบัตร ในฐานะที่เป็น “มรดกภูมิปัญญาของไทย” ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะอาจจะส่งผลทำให้ “ไทยสูญเสียประโยชน์” จึงมีการเสนอแนะให้ไทย…

“เร่งคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา”…

เพื่อ “ไม่ให้ไทยเสียรู้เหมือนในอดีต”

นอกจากนั้น ผู้สันทัดกรณีคนเดิมยังเน้นย้ำไว้ด้วยว่า… ไทยต้องเร่งทำทะเบียนรายชื่ออาหารไทย ขณะเดียวกันก็ ควรคุ้มครองทางกฎหมาย รวมถึงส่งเสริมของดีอื่น ๆ ของไทยให้ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ด้วยการ “จดสิทธิบัตรของดีของไทย” อย่างเร่งด่วน และครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อ “ปกป้องของดีของไทย” ปกป้องไว้เป็นมรดกภูมิปัญญาไทยสืบไป…

เพื่อ “ป้องกันถูกต่างชาติฮุบเอาไป”

และ “ไม่ไห้ของดีของไทยถูกเคลม”

หรือ “ถูกมั่วนิ่มแอบอ้างเอาดื้อ ๆ”.