อย่างไรก็ตาม กับกรณีทุนจีนสีเทา กับคนจีนที่เข้ามาทำผิดกฎหมายในไทย ตรงไหนผิดก็ว่ากันไปตามผิดตรงไหนทำไม่ดีก็ต้องมีการจัดการเด็ดขาด แต่ถึงกระนั้นก็มิควรจะเกลียดแบบเหมารวม เพราะต้องไม่ลืมว่า…คนไทยและคนจีนมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นมาช้านาน โดยเฉพาะกับ “คนจีนโพ้นทะเล” ที่มาลงหลักปักฐานในไทย…

เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญช่วยพัฒนาไทย

เป็นอีกฟันเฟืองที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ

มุมดีมุมนี้ สังคมไทยก็ต้องให้เครดิต”

ทั้งนี้ กรณี “คนจีนโพ้นทะเลในไทย” นั้น วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลวิชาการ “กรณีศึกษาผู้อพยพคนจีนในไทย” ที่ได้มีการอพยพย้ายถิ่นมาลงหลักปักฐานในประเทศไทย ซึ่ง “มีวิวัฒนาการน่าสนใจ” นั่นคือจากเดิมที่เป็น “จีนโพ้นทะเลรุ่นเก่า” ก็พัฒนามาสู่การเป็น “จีนโพ้นทะเลรุ่นใหม่” ที่มีเป้าหมาย และโดยเฉพาะรูปแบบการอพยพย้ายถิ่นที่เปลี่ยนไป โดยเรื่องนี้ถูกสะท้อนเอาไว้ผ่านบทความวิชาการโดย หม่า เทา สาขาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและสาละวินศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมีการเผยแพร่ไว้ผ่านเว็บไซต์ของทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่ช่วยทำให้สังคมไทยได้เข้าใจ ได้เห็นภาพวิวัฒนาการของคนจีนที่ย้ายถิ่นมาอยู่ในประเทศไทย

เกี่ยวกับงานวิชาการ-งานวิจัยดังกล่าว ได้มีการระบุถึงวัตถุประสงค์ของการทำวิจัยไว้ว่า…มีเป้าหมาย เพื่อทำความเข้าใจในพลวัตของการอพยพย้ายถิ่น เพื่อศึกษาลักษณะการดำรงชีวิตของคนจีนโพ้นทะเลรุ่นใหม่ในสังคมไทย โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์คนจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในไทยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 หรือตรงกับปี พ.ศ. 2523 แบบเจาะลึก จำนวน 22 ราย ในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และเชียงราย เนื่องจาก “คนจีนโพ้นทะเล” ถือเป็นคนต่างชาติกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในสังคมไทย โดยมีประมาณการว่า…ในจำนวน คนจีนโพ้นทะเลทั่วโลกกว่า 45 ล้านคน นั้น…

จีนโพ้นทะเลในไทยมีมากถึง 7 ล้านคน

โดยที่เป็นรุ่นใหม่” มีกว่า 3-4 แสนคน

สำหรับกลุ่ม “จีนโพ้นทะเลรุ่นใหม่” ทางผู้จัดทำงานวิชาการชิ้นนี้ได้ระบุไว้ว่า…เป็นกลุ่มคนจีนที่อพยพออกจากประเทศจีนหลัง ค.ศ. 1979 หรือหลัง พ.ศ. 2522 โดยจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างคนจีนโพ้นทะเลรุ่นใหม่จำนวน 22 ราย ได้ให้ข้อมูลว่า… ภูมิลำเนาเดิมในจีน นั้น คนจีนกลุ่มนี้มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในเมืองต่าง ๆ จาก 10 มณฑล รวมถึงเมืองที่ปกครองโดยรัฐบาลส่วนกลาง ได้แก่ จี๋หลิน, ปักกิ่ง, เทียนจิน, เซี่ยงไฮ้, ซานตง, หูเป่ย, หูหนาน, กวางตุ้ง, กวางสี และยูนนาน

ขณะที่ สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ของคนจีนโพ้นทะเลรุ่นใหม่ในไทย พบข้อมูลซึ่งจำแนกออกเป็นหัวข้อต่าง ๆ ได้ดังนี้คือ… ระดับการศึกษา พบว่า…มีทั้งกลุ่มที่ไม่จบการศึกษา ม.6 จนถึงเรียนจบปริญญาตรี โดยผู้ที่จบปริญญาตรีมีมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 63.6, อาชีพในจีน พบว่า…เดิมคนจีนอพยพกลุ่มนี้มีอาชีพเดิมที่หลากหลาย แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.เคยทำงานในหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ 2.เคยเป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง หรือเป็นนักวิชาชีพ 3.เป็นคนงาน หรือเป็นนักศึกษาที่เพิ่งจบ โดยมีสถานภาพทางสังคมระดับล่าง …นี่เป็นผลสำรวจ “คนจีนโพ้นทะเลรุ่นใหม่ในไทย”

นอกจากนี้ ยังพบว่า… ฐานะทางการเงิน ของกลุ่มคนจีนโพ้นทะเลที่อพยพออกจากจีนก่อนปี ค.ศ. 2000 หรือ พ.ศ. 2543 นั้น ส่วนมากมีฐานะการเงินไม่ค่อยดีนัก ขณะที่กลุ่มที่อพยพมาหลัง ค.ศ. 2000 หรือหลัง พ.ศ. 2543 จะแตกต่างไป โดยส่วนใหญ่มักจะมีเงินทุนติดตัวมาในจำนวนที่เพียงพอต่อการลงทุนทางธุรกิจ ซึ่งจีนโพ้นทะเลกลุ่มหลังนี้ มักมีการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับช่องทางในการที่จะเข้ามาลงทุนในไทยก่อนจะออกเดินทางมา หรือไม่ก็มีการลงทุนเพื่อยกระดับการศึกษาให้กับตัวเองมาก่อน  …นี่เป็น “วิวัฒนาการคนจีนโพ้นทะเลในไทย” คนจีนที่อพยพเข้ามาในไทยทั้งก่อนและหลังปี ค.ศ. 2000

ส่วน สาเหตุที่อพยพมาไทย นั้น ผลศึกษาพบว่า… ปัจจัยที่ทำให้คนจีนโพ้นทะเลรุ่นใหม่ตัดสินใจย้ายถิ่นมาประเทศไทย สามารถสรุปเป็น 4 ประการ ดังนี้คือ…  1.มีประสบการณ์เชิงลบขณะที่อาศัยอยู่ในประเทศจีน 2.ถึงทางตันในโอกาสพัฒนาเมื่ออยู่ในจีน 3.ด้อยโอกาสในการแข่งขัน และ 4.ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับตัวเอง …นี่เป็นปัจจัยที่ทำให้คนจีนกลุ่มนี้ตัดสินใจ “มาเปลี่ยนชีวิตในประเทศไทย” ในฐานะเป็น “คนจีนโพ้นทะเลรุ่นใหม่”

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของบทความวิชาการดังกล่าวข้างต้นได้มี ข้อสังเกต 2 ประการ คือ… ประการแรก…พลวัตสำคัญที่ขับเคลื่อนทำให้เกิดการอพยพของคนจีนโพ้นทะเลรุ่นใหม่นั้น มีสาเหตุจากสถานะทางสังคมที่มีช่องว่างเหลื่อมล้ำ หรือเกิดจากการที่จีนปฏิรูปเศรษฐกิจกับมีการเปิดประเทศมากขึ้น และอีกประการ…เกิดจากลักษณะชีวิตของคนจีนโพ้นทะเลรุ่นใหม่ ที่เป็นคน มีความรู้และมีเงินทุนในระดับหนึ่ง จึงอยากออกมาแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ นอกประเทศ ซึ่งปัจจัยหลังนี่เองที่ทำให้…

“เติมภาพจำ” กลุ่มชีวิต “จีนโพ้นทะเล”

จากที่ “มาไทยแบบเสื่อผืนหมอนใบ”

รุ่นใหม่” กลายเป็น “มาพร้อมทุน”.