“ทะเลน้อย” กับระบบ “เลี้ยงควายน้ำ”

มีจุดเด่น มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ใด”

ถือเป็น “พื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร”

ทั้งนี้ การที่ “ระบบเลี้ยงควายปลักพื้นที่ทะเลน้อย” ได้รับการประกาศเป็น “พื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร” นั้น อันที่จริงพื้นที่ที่ได้รับการประกาศจากทาง FAO หรือองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หมายรวมถึง “ทะเลน้อย” หรือ “อุทยานนกน้ำทะเลน้อย” โดยที่ความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าวนี้นั้น…นอกจากจะเป็นพื้นที่-สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยแล้ว ที่นี่ก็ยังเป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญในระดับสากล”

“พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” ที่ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช นั้น…ที่นี่ได้ถูกประกาศให้เป็น เขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2518 และก่อนจะมามีข่าวดีล่าสุด ที่นี่ก็ได้รับการประกาศเป็น พื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระหว่างประเทศ หรือ “แรมซาร์ไซต์ (Ramsar site) แห่งแรกของประเทศไทย” อีกด้วย…

พื้นที่ดังกล่าวนี้ “โดดเด่นหลายด้าน”…

รวมถึงเป็นถิ่นอาศัย-เลี้ยงดู “ฝูงควายน้ำ”

ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนโฟกัสคำว่า “มรดกโลกทางการเกษตร” โดยคำ ๆ นี้หลายคนอาจจะฟังแล้วไม่ค่อยคุ้นหู…เมื่อเทียบกับ “มรดกโลกแบบอื่น ๆ” ซึ่งเกี่ยวกับคำ ๆ นี้ได้มีการอธิบายไว้ในบทความที่เรียบเรียงโดย พุทธชาด ลีปายะคุณ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักอนุรักษ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหม ว่า… ระบบมรดกทางการเกษตรของโลก (GIAHS) หรือที่หลายคนเรียกว่า… “มรดกโลกทางการเกษตร” นั้น ได้ถูกเสนอให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2545

สำหรับวัตถุประสงค์สำคัญของการจัดตั้งระบบมรดกโลกทางการเกษตรของโลกขึ้นมา ก็คือ… เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์มรดกทางการเกษตร เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงปกป้องและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทางชีวภาพให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่จะเป็นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

นี่เป็นจุดสำคัญ มรดกโลกการเกษตร”

มรดกโลกแบบนี้ “สำคัญในหลายมิติ”

ส่วน “หลักเกณฑ์” ในการพิจารณา-ในการประกาศให้พื้นที่ใดเป็น “พื้นที่ระบบมรดกทางการเกษตรของโลก” นั้น ในบทความดังกล่าวข้างต้น ก็ได้มีการอธิบายแจกแจงเอาไว้เช่นกัน ซึ่งโดยสังเขปนั้นมีว่า… การคัดเลือกพื้นที่ซึ่งจะได้รับการพิจารณาเป็น “มรดกโลกทางการเกษตร” นั้น มีหลักเกณฑ์ที่ทาง FAO จะนำมาประกอบการ พิจาณา ดังต่อไปนี้คือ…

“เป็นพื้นที่ที่มีความมั่นคงทางอาหารและชีวิตความเป็นอยู่” ต้องสนับสนุนความมั่นคงทางด้านอาหารและการหาเลี้ยงชีพของชุมชนในท้องถิ่น เพื่อสร้างระบบการหาเลี้ยงชีพและอาหารอย่างยั่งยืน, “มีความหลากหลายทางชีวภาพทางการเกษตรและระบบนิเวศ” ต้องมีทั้งความหลากหลายทางชีวภาพทางการเกษตร และทรัพยากรทางพันธุกรรมเพื่ออาหารและการเกษตร, “มีการอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่มีคุณค่าและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในท้องถิ่น” เช่น มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มีการจัดการระบบนิเวศทางการเกษตร มีการเข้าถึงทรัพยากรและการแบ่งปันผลประโยชน์

“มีระบบวัฒนธรรมทางการเกษตร” ที่เป็นค่านิยม ประเพณี ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ พิธีกรรม เทศกาล และปฏิทินทางการเกษตร รวมถึงโครงสร้างทางสังคม และอีกหลักเกณฑ์หนึ่งก็คือ “มีความโดดเด่นทางภูมิทัศน์ กับการจัดการพื้นที่ดินและแหล่งน้ำ” มีการจัดการภูมิทัศน์ มีการจัดการทางสถาปัตยกรรมให้สวยงามเหมาะสมกับระบบนิเวศ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากร หรือเพื่อสร้างพื้นที่ให้กับความหลากหลายทางชีวภาพที่มีคุณค่า

นี่คือ “หลักเกณฑ์สำคัญที่ใช้พิจารณา”

รวมถึง “ระบบเลี้ยงควายน้ำทะเลน้อย”

ทั้งนี้ เพิ่มเติมด้วยข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี เกี่ยวกับ “มรดกโลกทางการเกษตร” ที่ได้รับการรับรองจากทาง FAO มีข้อมูลระบุไว้ว่า… นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ทาง FAO มีการรับรอง-ประกาศ แหล่งมรดกโลกทางการเกษตร ไปแล้วทั้งหมด 62 ระบบ ใน 22 ประเทศ และในปัจจุบันกำลังพิจารณาอีก 15 ข้อเสนอ จาก 8 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในส่วนของไทยนั้น นอกจาก “พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย-ระบบการเลี้ยงควายในทะเลน้อย” ที่ได้รับการรับรองไปแล้ว ก็ยังมี “ระบบปลูกชาแบบดั้งเดิมในพื้นที่ป่าเมี่ยง” ที่อยู่ใน จ.น่าน ที่กำลังมีการเตรียมเสนอชื่ออีกด้วย…ซึ่งก็น่าติดตาม…

“ทะเลน้อยเลี้ยงควายน้ำ” นี่นำไปแล้ว

ก็น่าลุ้น ป่าเมี่ยงปลูกชาแบบดั้งเดิม”

“มรดกโลกทางการเกษตร” ในไทยเรา.