วันเยาวชนแห่งชาติ 20 กันยายนที่ผ่านมา มีการจัดเวทีเสวนา “วัยรุ่นกับศักดิ์ศรีและความรุนแรง…บทเรียนราคาแพง” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จัดขึ้น

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ

ได้ยกประเด็นความรุนแรงเป็นบทเรียนราคาแพงในกลุ่มวัยรุ่นขึ้นมา มีเป้าหมายเผยสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพนัน ยาเสพติด ที่นำมาสู่ความรุนแรง และการก้าวพลาดของเยาวชน หลังการศึกษาทั้งในและต่างประเทศพบว่า เยาวชนที่เริ่มดื่มตั้งแต่อายุน้อย พฤติกรรมอาจมีปัญหามากกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่ม และมีโอกาสใช้สารเสพติดชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสการก้าวพลาด” นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส.เกริ่นก่อนเวทีเสวนา

เวทีเสวนาเปิดฉากด้วยการเล่าเรื่องราวของ “เบนซ์” นศ.อาชีวะ จ.กาญจนบุรี เคยยกพวกตีกันสมัยเรียนตั้งแต่อายุ 16 เบนซ์เล่าว่าเขาเหมือนเด็กช่างทั่วไปตอนเรียนแอบดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เลิกเรียนแล้วจับกลุ่มเพื่อนไปหาเรื่องตีกันตามหน้าห้างสรรพสินค้า เรียกว่า “เมาแล้วเปรี้ยว” ในกลุ่มมีด้วยกัน 30 คน ตระเวนหาเรื่องตลอด สะสมโจทก์มาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกับ “ไวท์” สุดท้ายทั้งเบนซ์และไวท์ถูกจับเข้าไปอยู่ในสถานพินิจที่แห่งเดียวกันคือ “บ้านต้นทาง” และเมื่อมาเจอกันก็ยังหาเรื่องยกพวกตีกัน ต่อมาไวท์ถูกย้ายมาอยู่บ้านกาญจนาฯ เบนซ์ยังมีความคิดที่จะตามมาเอาคืน “ไวท์” พยายามพาตัวเองตามมาบ้านกาญจนาฯ และสำเร็จถูกย้ายมาอยู่บ้านกาญจนาฯ

“เราก็ตามมาบ้านกาญจนาฯ มาเพื่อแก้แค้น ช่วงที่มาบ้านกาญจนาฯ แต่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ทุกคนมุ่งหน้าที่จะทำตัวดีไม่มีเพื่อนแนวร่วมที่จะไปแก้แค้น จึงรู้สึกแปลกใจว่าเพราะอะไร อยู่ที่นั่น 2-3 เดือนเริ่มซึมซับวิธีการของที่นั่น สอนวิธีการคิด เขียนบันทึก มีวิเคราะห์ข่าวให้วิเคราะห์ตลอด และวันแรกที่เจอป้ามล (ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก)ไม่โอเค คิดว่าเขาเล่นละครว่ารักทุกคน รู้สึกแปลก คิดว่าเขาต้องหลอกเราแน่ อยู่ไปป้าจะเป็นคนแบบนี้ตลอดเป็นคนที่เจอหน้ากอด พูดว่าเป็นไงบ้างลูก เบนซ์ เล่าถึงบรรยากาศในบ้านกาญจนาฯเมื่อเข้าไปอยู่ในช่วงแรก

“เจอไวท์ที่บ้านกาญจนาฯ ก็รู้สึกว่าจะต้องโดนเอาคืน เราต้องเตรียมอาวุธรอในสัญชาตญาณเดิมของบ้านต้นทางเราต้องรอด คืนแล้วคืนเล่าไม่มาสักที กลายเป็นว่ามานอนคุยข้าง ๆ คิดอะไรของมัน นอนคุยแบบคนเมืองกาญจน์ พอได้คุยจริง ๆ ก็ได้รู้ว่าที่ผ่านมา 5-6 ปีไล่ตีไล่ฟันไม่รู้เรื่อง แต่การคุยครั้งเดียวทำให้เราได้ปรับความเข้าใจกันมากกว่า” เบนซ์บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ของไวท์ที่ปัจจุบันเขากลายเป็นเพื่อนกัน จากที่อดีตคือคนที่พร้อมจะหํ้าหั่นใส่กันด้วยชีวิต

ด้วยขบวนการของสถานพินิจแบบบ้านกาญจนาฯ ที่สร้างบรรยากาศให้ที่นี่ไม่ใช่สถานกักกัน แต่ให้เป็นสถานที่ที่ทำให้เยาวชนที่ก้าวพลาดลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ทิชา ณ นคร

“ขบวนการในบ้านคือดึงด้านดีของเด็กออกมา แต่ความจริงตัวเขามีกันอยู่แล้ว ทุกคนมีหมด เพียงแต่ว่าผู้ใหญ่หรือที่ใดก็แล้วแต่ได้ดึงสิ่งนั้นออกมาหรือไม่ และดึงอย่างไร บันทึกของเบนซ์ที่ป้าจำได้ว่า “พายอาร์ยกกำลังสองไม่ช่วยผมเลยพอเจอปัญหาต่าง ๆ ผมแก้ไม่ได้” แสดงว่าเขาไม่กะโหลกกะลา เวลาเขาเสนอความคิดออกมา เราเห็นว่าเด็ก ๆ ไปสู่นโยบาย ยิ่งทำให้รู้สึกว่าการค้นหามุมดีของเด็ก ๆ” ป้ามลเล่า

“รู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์” เบนซ์กล่าวเสริมขึ้นมา

ป้ามลยังบอกว่า ครอบครัวของเบนซ์มีความพร้อม แม่ทำงานเป็นหน้าห้องผวจ.นึกไม่ออกว่าขาดอะไรถึงมาติดคุก เบนซ์เขียนว่าสิ่งที่ขาดคือวิชาชีวิต คือชูชีพวิชาช่วยชีวิต แม้แต่พ่อของเบนซ์ บอกว่าจะไม่ลืมที่นี่เราไม่รู้ว่ารัฐวางเคพีไอแบบไหน แต่เสียงพ่อแม่และเสียงของเด็ก ๆ มันยิ่งกว่าเคพีไอ นอกจากระบบของบ้านกาญจนาฯ เราเชื่อว่าครอบครัวเป็นอีกปีกสำคัญที่ช่วยประคอง ให้เขากลับมาเป็นคนดี เมื่อเบนซ์ออกไปจากบ้านเบนซ์กับไวท์นั่งซ้อนจักรยานยนต์ไปไหนมาไหนด้วยกัน และเจอพวกที่เคยถล่มกันตั้งคำถาม และมองว่าทั้งสองเป็นคนป๊อด

“บางคนที่เขาไม่เข้าใจก็ออกห่างจากเราไปก็มี เขาบอกว่าป๊อด เราไม่ได้สนใจ” เบนซ์เอ่ยขึ้น

“เรากินนอนด้วยกัน คนรู้จักเบนซ์คือผมไม่ใช่เพื่อน เราข้ามคำถามนั้นไปดีกว่า” ไวท์บอกความคิดเมื่อมีเพื่อนกลุ่มเดียวมาถามว่าทำไมต้องมาสนิทกัน

“ข้อดีของเด็กบ้านกาญจนาฯเขาหนักแน่นอย่างไม่โดดเดี่ยวเขามีความคิด มีลมใต้ปีกของเขาจะช่วยได้ แต่ถ้าเราผลักให้เด็กคนหนึ่งไปรับมือกัน เองบางทีอาจไม่ง่าย” ป้ามลบอกถึงความยากของการทำงานแต่ภายใต้ความยาก มีบทพิสูจน์ว่าทำให้เยาวชนที่ก้าวพลาดไม่หลงมายาคติของเรื่องศักดิ์ศรีเหมือนที่ผ่าน ๆ มา

“ทุกการตัดสินใจมีผลต่อชีวิตเรามากกว่า ทำอะไรทุกอย่างต้องคิด บ้านกาญจนาฯ สอนให้คิดวิเคราะห์ทักษะเหล่านี้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้จริง เคยคิดว่าทำไมตอนเรียนไม่มีวิธีสอน วิธีคิด ตอนอยู่ข้างนอกคิดไม่ได้ แต่มาเจอหลักของบ้านกาญจนาฯ ว่าสิ่งดี ๆ เหล่านี้ไม่มีอยู่ในสังคมข้างนอก” ไวท์ทิ้งท้าย

อีกคู่กรณีที่ถูกหยิบยกมาถกในเวทีดังกล่าว “ใหญ่” กับ “เล็ก” ที่มีคดีระหว่างกัน เล็กเป็นคนฆ่าพ่อใหญ่ ซึ่งใหญ่มีความคิดที่จะแก้แค้นให้พ่อ หาทางที่จะฆ่าเล็กตลอดเวลา เรื่องจริงที่เหมือนพล็อตหนังเรื่องหนึ่ง

ใหญ่เล่าว่าเติบโตมาในสลัมมีทุกเรื่องทั้งยาเสพติด ความรุนแรง มีการตั้งแก๊ง 12 แก๊ง เราต้องเลือกมาว่าจะอยู่แก๊งไหน ไม่เช่นนั้นเราจะอยู่ในสังคมไม่ได้ มาโดนจับครั้งแรกอายุ 14 ปี เข้า ๆ ออก ๆ สถานพินิจ 4 รอบ มาอยู่บ้านกาญจนาฯ ด้วยรอบที่ 4 แต่ไม่มีความเข็ดกลัว แต่กลายเป็น “อีโก้” ของตัวเอง โลโก้เพื่อนในกลุ่มชุมชนไม่มีการรังเกียจ กลับเป็นเรื่องที่ยอมรับเสียด้วยซํ้า เคยอยู่ในสถานพินิจคนละบ้านกับเล็กยังส่งจดหมายหาเพื่อนที่อยู่สถานพินิจเดียวกับเล็กให้ไปกระทืบเล็กแทน นอกจากนี้ความผิดของใหญ่ซํ้าซากและเขาจึงถูกส่งตัวไปคุกผู้ใหญ่ระยะหนึ่งเรียกว่า “ช็อก” แต่ก็ไม่ทำให้ความคิดจะล้างแค้นเปลี่ยน

“เหมือนเอาผมไปไว้บนปูนไม่ได้เติบโต โดยไม่ลองมาปลูกดูว่าจะเป็นต้นอะไร” ใหญ่ย้อนถึงความคิดในตอนนั้น

ใหญ่เล่าว่าหลังจากที่รู้ว่าเล็กไปบ้านกาญจนาฯ ไปขอกับเจ้าหน้าที่แม้ไม่เข้าเกณฑ์ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าให้ทำตัวดี ๆ นิ่ง ๆ จะส่งไป จึงทำตาม และสุดท้ายมีรายชื่อได้ไปบ้านกาญจนาฯ จริง ๆ วันแรกที่เจอป้ามล เดินไปถามป้าคิดอย่างไรให้คนที่ฆ่าคนมาอยู่สบาย

“พูดกลาง ๆ เชื่อว่าทุกคนเปลี่ยนแปลงได้ ใหญ่ตอนนั้นพอยังไม่เข้าใจคนอื่น มองเห็นแต่ความทุกข์ของตัวเอง แต่เราไม่เห็นความทุกข์ของคนอื่นกระบวนการของบ้านกาญจนาฯ เราไม่พูดกับเด็กอย่างลงโทษ” ป้ามลบอกเล่าว่าตอนนั้นพยายามตอบใหญ่ไปแบบนั้น

ใหญ่บอกว่าไม่รู้ตัวแต่ความแค้นเหมือนขยะในสมองแต่เป็นขยะที่รีไซเคิลได้ และถูกระบบของบ้านกาญจนาฯ รีไซเคิล ค่อย ๆ หายไปกลายเป็นสิ่งที่มีความหมายในเชิงที่ดี การแก้แค้น เป็นเรื่องปกติ ยิ่งการฆ่าเขาเป็นเรื่องปกติในความคิดตอนนั้น

ป้ามลบอกว่า สำหรับตัวเองรู้ว่าคนดีในตัวใหญ่มีจริงแต่อ่อนแอ หน้าที่ของเราคือดึงออกมา ตอนแรกเราอยู่กันอย่างหวาดกลัว เจ้าหน้าที่ต้องประชุมจัดระยะห่างไว้อย่าให้ใหญ่กับเล็กอยู่ใกล้กัน ขณะเดียวกันก็อย่าระแวงใหญ่ เพราะถ้าทำแบบนั้นเรากำลังแสดงความรู้สึกไม่ไว้วางใจ เพราะตลอดชีวิตของใหญ่ไม่ได้รับความไว้วางใจอยู่แล้ว แล้วเราจะผลิตซํ้าไม่ได้ ด้วยสถานการณ์ที่แย่แบบนี้ทำให้เราต้องช่วงชิง วันขอโทษและให้อภัยที่เกิดขึ้นเร็วที่สุด แม้ข่าวลือในบ้านจะบอกว่าวันนี้ใหญ่จะจัดการเล็ก ด้วยสภาพแวดล้อมของบ้าน มีทั้งมีดที่ใช้ทำครัว พื้นที่ 32 ไร่ไม่มีรั้ว มีเวรยามแค่ 2 คนดูแลเด็ก 200 คน โดยรับใหญ่เข้ามาปลายเดือน ก.ค. ใช้วันที่ 16 สิงหา ซึ่งเป็นวันสันติภาพ จึงเป็นวันให้อภัย และจัดงานขึ้นไปหาข้อมูลว่าใหญ่ชอบอะไร แต่พบว่าเป็นเรื่องแย่ ๆ จนมารู้ว่าใหญ่ชอบศิลปิน “ปู”
พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ มาก จึงติดต่อให้เขามาเล่นคอนเสิร์ตที่บ้านกาญจนาฯ และเขาก็มา และยังมอบผ้าโพกหัวที่เขาเล่นคอนเสิร์ตวันนั้นให้กับใหญ่

“เขามาช่วยแก้โจทย์ยากให้กับเราใหญ่อยู่ในมุมมืดมานานพอได้รับความสนใจได้รับคุณค่าบางอย่างผ้าผืนนั้นมีความหมายสำหรับชีวิตของใหญ่” ป้ามลว่า

ป้ามลเอ่ยถึงเล็กว่า จริงแล้วตัวเล็กเมื่อเจอใหญ่ไม่ก้าวร้าว แต่ฉากหน้าของเล็กฆ่าคนมาสองคน เมื่อเล็กอยู่กับเราที่บ้านกาญจนาฯ ไม่มีคนลงมือฆ่าคนสองคนในตัวเล็ก แค่วินาทีที่ทำผิดพลาด แต่ร้อยพันหมื่นแสนวินาทีของเขายังดี เช่นเดียวกับใหญ่ ใหญ่มีเพื่อนสนิทอยู่ในบ้านกาญจนาฯ เพื่อนมาบอกว่าจริง ๆ แล้วใหญ่ไม่ต้องการฆ่าเล็กแล้วหลังจากที่อยู่ในบ้าน แต่ได้ลั่นวาจาไว้แล้ว ซึ่งเราก็มีกระบวนการที่ทำให้ใหญ่รู้สึกว่าเขาเคยอยู่บนหลังเสือแล้วลงหลังเสือ แล้วไม่เสียหน้า

ใหญ่บอกว่าตอนที่จัดงานไม่รู้เกี่ยวกับอะไร ได้เจอย่าคุยกับแกบอกว่าเจอคนที่ฆ่าพ่อแล้วจะไปจัดการเอง ย่าพยายามห้ามทำให้ย้อนคิดว่าขนาดคนที่เป็นแม่ของพ่อยังห้าม และเมื่ออยู่ในบ้านกาญจนาฯ ทำให้ผมได้รับโอกาส มีจุดยืนว่าต้องเริ่มต้นใหม่ ได้รู้จักคำว่าสันติภาพ ทำให้รู้ว่าคนเราทะเลาะกันมันเข้าข้างตัวเอง แต่สุดท้ายเราคุยกันได้ด้วยเหตุผล

“การให้อภัยยาก แล้วการให้อภัยกับมาแค้นอีกยากยิ่งกว่า” ใหญ่บอกกับตัวเอง

ความพยายามเปลี่ยนเยาวชนของชาติในแบบฉบับของบ้านกาญจนาฯ มีมุมหนึ่งทางสังคมกำลังบอกว่า สถานพินิจให้โอกาสคนผิดมีชีวิตที่ดี โดยไม่คิดคำนึงถึงเหยื่อที่ถูกกระทำ

“เหตุผลว่าการที่จะไปดูแลเด็กดีไม่คิดว่าเหยื่อจะรู้สึกอย่างไร ก็น่าคิด แต่คำถามที่ต้องตอบให้ได้เหมือนกันแล้วคุณรู้ไหมว่าบนโลกใบนี้มีการทำงานเพื่อเยียวยาเหยื่อ แต่ในโครงสร้างออกแบบให้บ้านอย่างเราดูแลผู้กระทำ ถ้ารู้สึกว่าทนไม่ได้กับความเจ็บป่วยของเหยื่อ คุณต้องไปทำงานกับเหยื่อ แต่คุณต้องไม่อยู่ในบ้านหลังนี้ เพราะบ้านหลังนี้มีพันธกิจเพื่อดูแลผู้กระทำซึ่งการเมตตาเหยื่อ เราแตะต้องเหยื่ออย่างมีคุณค่าที่สุด” ป้ามลบอกถึงวิธีคิด

ยุติความรุนแรงต้องไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง.

พรประไพ เสือเขียว