กับการ “หลอกให้รักหลอกให้หลงจนเผลอใจเผลอกาย” จนผู้ถูกหลอกต้องเผชิญสถานการณ์ชีวิต “รักซ้อน-คบซ้อน” ยุคนี้ก็มีการใช้ออนไลน์เป็นเครื่องมือ ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีการแฉพฤติกรรมชายคนหนึ่งที่ “หว่านเสน่ห์ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล” โดยมีผู้หญิงกว่า 10 คนเป็น “เหยื่อรักลวง” ของชายคนนี้

เหยื่อตก “หลุมเสน่ห์” ที่มีการวาง “กับดัก” ไว้

หลายรายติดกับดักไปจนถึงขั้นมีสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง

กว่าจะรู้ว่าไม่ได้เป็นเบอร์ 1 ก็พลาดพลั้งเสียแล้ว!!

ทั้งนี้ “ภัยรักหลอกออนไลน์” ประเภทนี้…ก็ “เข้าข่ายภัยออนไลน์” ที่อยู่ใน 17 ภัยที่มักมีการหลอกลวงเหยื่อทางออนไลน์ ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ร่วมสะท้อนเตือนอยู่เป็นระยะ ขณะที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT ก็ได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับภัยกลุ่มนี้ ที่มักพบบ่อย ๆ ในสังคมออนไลน์ปัจจุบันนี้ ซึ่งก็มีอยู่ 2 ใน 17 ที่เป็นการ “หลอกให้รัก” แล้วเพิ่มเติมด้วย “หลอกให้ลงทุน-ให้โอนเงิน” ซึ่งแม้จะมีกรณีปรากฏออกมาเป็นข่าวและมีการเตือนกันอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็ดูเหมือนว่า “ภัยรักหลอก” มิได้ลดน้อยลงแต่อย่างใด…

สะท้อนได้จากการที่มีกระแสครึกโครมไม่หยุดหย่อน

ยังคงมีเหยื่อ “หลงเสน่ห์-หลงกล” อยู่เรื่อย ๆ…

ว่าด้วย “กรณีรักลวงออนไลน์” ที่ยังคงเกิดต่อเนื่อง… โดยเฉพาะกับ “พฤติการณ์การหลอกลวงผู้หญิง” ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอเน้นย้ำไว้อีกครั้งว่า… ส่วนใหญ่นั้นก็มักจะเริ่มแบบเดิม ๆ คือ ปลอมรูปโปรไฟล์ในสื่อโซเชียล ด้วยการทำให้เป็นคนหน้าตาดี รวมถึง ปลอมโปรไฟล์สถานะ ด้วยการทำให้เป็นคนมีอาชีพมั่นคง ฐานะร่ำรวย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ “เหยื่อตายใจ” โดยมีจุดประสงค์เพื่อจะใช้เป็น “ใบเบิกทาง” ในการเข้ามาพูดคุยออนไลน์กับผู้หญิง ซึ่งวิธีนี้พบได้บ่อยกับกรณี “โรแมนซ์สแกม” ที่ถึงแม้ว่าแก๊งพวกนี้จะมีวิธีการตุ๋นทรัพย์สินเงินทองจากเหยื่อหลากหลายวิธี แต่…

หลัก ๆ ก็จะมี “คีย์เวิร์ดฮิต” เช่น… “ชอบ-รัก”

และกับการวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิด “เหยื่อโรแมนซ์สแกม” อย่างต่อเนื่องนั้น ก็เคยมีนักวิชาการกะเทาะให้เห็นถึง “แรงกระตุ้นสำคัญ” ที่ทำให้หลายคนต้องตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพประเภทนี้ กล่าวคือ… ส่วนหนึ่งอาจมาจากสภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จนทำให้ “คนไทยยุคนี้เป็นคนขี้เหงามากขึ้น” ซึ่งมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว โดยเมื่อรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว แล้วได้เพื่อนออนไลน์ที่คิดว่าหน้าตาดี มีฐานะ ก็ย่อมจะเกิดความตื่นเต้น หายเหงา และยิ่งได้รับข้อความคำพูดหวาน  ๆ บางคนก็อาจจะ “ขาดสติ” ถึงขั้น “หลง” ได้…จนง่ายที่อาจจะเดินสู่ “กับดักรักออนไลน์”

“คนที่ตกเป็นเหยื่อ มักเคยทิ้งร่องรอยดิจิทัลไว้ก่อน ทำให้อาชญากรแกะรอยได้ และเมื่อใดที่ร่อรอยนั้นตรงกับความต้องการของอาชญากร ก็อาจกลายเป็นเหยื่อได้โดยไม่รู้ตัว!!!” …เป็นการระบุถึงอีก “ปัจจัย” ที่ทำให้หลายคนต้องตกเป็น “เหยื่ออาชญากรรมไซเบอร์” ซึ่งนี่ได้ถูกอธิบายไว้ในงานวิจัย สกสว. “โครงการข้อจำกัดกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันและปราบปราม พิศวาสอาชญากรรม และแนวทางสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน” โดย ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ หัวหน้าศูนย์ศึกษากฎหมายกับเทคโนโลยี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งที่มาก็เกิดจากการที่…

สังคมไทยมีกระแสฮือฮาลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ

ทางนักวิชาการที่ได้ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้เคยระบุเอาไว้ว่า… โลกยุคปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อสนอง “ความต้องการมีตัวตน” ของผู้คนทั่วไป ด้วยการเปิดให้มีพื้นที่ให้คนสามารถเข้าไปใส่ “ข้อมูลส่วนบุคคล” ลงไปได้ โดยหวังจะให้คนอื่นมาสนใจ มาเป็นเพื่อน มาชอบ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ใส่ลงไปเหล่านี้ถือเป็น “ร่องรอยดิจิทัล (Digital footprint)” ที่ทำให้คนอื่นสามารถแกะรอยตัวตนของบุคคลนั้นได้ ซึ่งนี่ก็อาจจะ “สุ่มเสี่ยงตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว!!”

นอกจากนั้น ทางนักวิชาการท่านเดิมยังได้ระบุไว้อีกว่า… สิ่งที่น่าตกใจมากก็คือมีเหยื่อบางรายที่ “ถูกหลอกลวง” โดยที่ “ไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่าถูกหลอก!!” ซึ่งนี่ก็เป็นเพราะความ “ลึกซึ้งและซับซ้อน” ของ “นักต้มตุ๋น” อีกทั้งพบว่า…กรณีปัญหาดังกล่าวนี้ มีตัวเลขจำนวนของผู้เสียหายน้อยกว่าความเป็นจริง ซึ่งเป็นเพราะมีคนออกมาร้องทุกข์น้อย

ในส่วนขั้นตอน “รักลวงออนไลน์” นั้น ไม่ว่าจะ “หวังเงิน-หวังตัว” ผู้กระทำก็มักจะมีขั้นตอนหลัก ๆ คือ… ปลอมโปรไฟล์, เลือกใช้ช่องทางในการล่อลวงเป้าหมาย, เลือกเป้าหมาย, สร้างบทบาทเพื่อเข้าถึงเป้าหมายผ่านอาชีพที่น่าเชื่อถือ รวมถึงอาจมีการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความสงสาร …เหล่านี้เป็นวิธีที่ “นักหลอกลวงรัก” มักใช้ “วงเหยื่อเข้าสู่กับดักพิศวาส”

ทั้งนี้ แล้ว “แบบไหนที่มักตกเป็นเป้าหมาย??”… ประเด็นนี้ทาง ผศ.ดร.ทศพล ชี้ไว้ว่า… เหยื่อส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิงที่แสดงออกว่า…“โสด-เปลี่ยวเหงา-หาเพื่อน” และถ้ายิ่งเผยว่า… “กำลังหาคู่รัก”…ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยง!!

“ตุ๋นรักออนไลน์ลวงรักออนไลน์” ยังคง ระบาด”

นี่เสมือน อีกหนึ่งไวรัสร้ายที่มีพิษภัยซับซ้อน”

“ก่อนจะรัก…ตรวจพิสูจน์ความรักให้ชัวร์ ๆ”.