กรณีมีการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 340 ตอนที่ 1, ตอนที่ 2 บ้านสาลี-สุพรรณบุรี แบ่งเป็น 2 ช่วง งบประมาณ 1,380 ล้านบาท การปิดถนนเส้น 340 ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการรื้อทำใหม่ หลังจากที่สร้างมา 33 ปี ผ่านการน้ำท่วมใหญ่มาถึง 2 ครั้งในปี 2549 และปี 2554 ทำให้ถนนชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาอย่างมาก การรื้อทำใหม่ในครั้งนี้ จะทำให้ถนนเส้นนี้สามารถรองรับปริมาณรถได้เพิ่มมากขึ้น เพราะมีบางส่วนขยายจากสองช่องทางจราจรเป็น 3 ช่องทางจราจร ทั้งไปกลับ จะกลายเป็น 6 ช่องทางจราจร ประชาชนที่ทราบข่าว ต่างวิตกเรื่องการเดินทางสัญจร ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้า ที่หมวดทางหลวงบางปลาม้า ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมการตรวจติดตามการก่อสร้างปิดปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 340 สาย บ.สาลี–สุพรรณบุรี โดยมี ดร.อุดม โปร่งฟ้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางอภิญญา เอี่ยมอำภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายจักรภพ วัชรมณเฑียร ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสุพรรณบุรีที่ 1 เรืออากาศตรีอภิรักษ์ วัชรวิทูร รองผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 12
นายเสกสรร สุพรรณธนพงษ์ รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสุพรรณบุรีที่ 1 นายเอกราช จันทรวิชัย หัวหน้าหมวดทางหลวงบางปลาม้า พร้อมเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม จากนั้นได้ลงพื้นที่เพื่อดูจุดที่จะปิดถนนในการอำนวยความสะดวกการจราจรแก่ประชาชนผู้สัญจรไปมา
นายวราวุธ กล่าวว่า พี่น้องประชาชนอาจจะเข้าใจว่าถนนสาย 340 ที่จะมีการรื้อก่อสร้างใหม่นั้นปิดตลอดทั้งซ้ายและขวานั้น จริงๆ แล้วปิดทีละข้าง ข้างละประมาณปีเศษ วันนี้มาดูกันว่าต้นไม้หลายต้นที่อยู่ในแนวของถนนที่จะทำใหม่นั้น บริเวณเกาะกลางถนนที่เป็นร่องน้ำนั้นจะต้องมีการขยายเข้าไปอีกข้างละ 1 เลน จะกินพื้นที่ของเกาะกลาง จึงจะกระทบกับต้นไม้เหล่านี้ ตนมีความเป็นห่วง แต่เมื่อพิจารณาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นต้นกระถินเทพา หรือต้นนนทรีนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นไม้ที่มีอัตราการเติบโตไม่นานเท่าไหร่ และเพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องตัดต้นไม้เหล่านี้ออกไป และถนนเส้นนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าตนเป็น รมว.การพัฒนาสังคมฯ แล้วมาดูอะไรถนนของกรมทางหลวง แต่มาในฐานะคนสุพรรณบุรีคนหนึ่ง และในฐานะที่นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นผู้บุกเบิกดูแลถนนเส้นนี้มาตั้งแต่แรก วันนี้เมื่อได้รับการที่จะต้องมารื้อซ่อมและสร้างให้กับพี่น้องประชาชนที่ใช้เส้นทางนี้ จะได้มาดูกันว่าสิ่งที่นายบรรหารได้ริเริ่มเอาไว้ เราจะต้องมารื้อซ่อมทำใหม่ เพราะสภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จะทำอย่างไรให้ดีได้เหมือนเดิม ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เพราะถนนเส้นนี้ใช้มาถึง 33 ปี นี่คือสิ่งที่นายบรรหารได้ทิ้งเป็นมรดกให้กับคนไทยนับแสนนับล้านชีวิต ที่ใช้ถนนเส้นทางนี้ เพราะเป็นหนึ่งในสองเส้นทางเท่านั้น ที่จะขึ้นไปทางภาคเหนือ
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า นอกจากถนนเส้นสายเอเชีย ต้องขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพราะการทำงานบนทางหลวงใหญ่เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับฝั่งที่จะโดนปิดถนนก่อนนั้นไม่ต้องห่วง ประชาชนที่มีบ้านหรือร้านขายของ จะมีการเปิดเป็นช่วงๆ ให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าออกได้ ไม่ใช่ปิดตาย ย้ำเลยว่าถ้ามีบ้านหรือร้านค้าอยู่ในฟากที่ปิดถนน ทางกรมทางจะเปิดระยะไว้ให้ ประชาชนจะต้องได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด แต่การปิดถนนอาจต้องเดือดร้อนบ้างแต่เพื่ออนาคตที่ดีกว่า อดทนแค่ 3 ปี พันกว่าวัน จะทำให้ถนนสาย 340 เป็นถนนที่มีความสวยงาม เป็นถนนที่ปลอดภัย เหมือนอย่างที่เคยรับใช้คนไทยมาตลอดระยะเวลา 33 ปี ขอให้ทุกคนเป็นกำลังใจให้กับกรมทางหลวงด้วย เพราะหนักหนาสากรรจ์พอสมควรระยะทางไปกลับ 340 ไม่ใช่เรื่องง่าย
ด้าน ดร.อุดม โปร่งฟ้า ที่ปรึกษา รมว.การพัฒนาสังคมฯ ในฐานะคนสุพรรณบุรี กล่าวว่า ถนน 340 ทำมาแล้วกว่า 33 ปี นายบรรหาร โดนกระแหนะกระแหน ว่า ทำถนนให้ควายเดิน ปัจจุบัน ถนนเส้นนี้เป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนสุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และคนที่จะเดินทางไปภาคเหนือ ปัจจุบัน สภาพถนนชำรุดเสียหาย ถึงเวลาบำรุงรักษา ซ่อมแซม ขยายเลน เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน การสัญจรอาจไม่สะดวก แต่เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ขอให้ทนกันหน่อย
สำหรับการรื้อในครั้งนี้ จะปิดถนน จากป้อมตำรวจทางหลวงสาลี–ปั๊ม ปตท.เลี่ยงเมืองสุพรรณบุรี แบ่งการสร้างเป็น 2 ตอน รวม 17 กิโลเมตร เพื่อจะขยายผิวการจราจรจากเดิม 4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร โดยมีความจำเป็นจะต้องปิดการจราจรทีละฝั่งเป็นช่วงๆ แล้วเบี่ยงการจราจรให้ไปวิ่งสวนทางกันอีกฝั่งหนึ่ง ช่วงแรกจะปิดฝั่งขวามือ คือเส้นจากสุพรรณบุรีเข้ากรุงเทพฯ และตอนนี้ได้มีการวางแบริเออร์เพื่อเบี่ยงทิศทางการจราจร ช่วง กม.51+150-กม.56+350 โดยฝั่งขาเข้าสุพรรณบุรี ตั้งแต่ กม.51+150 จะค่อยๆ เริ่มใช้งานได้เพียงแค่ 1 ช่องจราจร ตามการวางแนวแบริเออร์