อย่างไรก็ตาม กับ “ช่วงวันหยุดยาว” ที่คนไทยที่พอจะมีกำลังทรัพย์ได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนเพื่อเติมพลังชีวิตตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมถึงหลาย ๆ คนก็เป็นโอกาสที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนานั้น ใน “การเดินทาง” ก็จำเป็นที่จะ “ต้องระวัง” ปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะ “อุบัติเหตุในการเดินทาง” ซึ่งยิ่งช่วงหยุดยาวก็มักจะยิ่งเกิดขึ้นมาก…

ต้องระวัง!! ประมาทไม่ได้ทั้งขาไป-ขากลับ”

และนอกจากนี้ ในเมืองไทยในยุคนี้ ในยุคที่มีอะไร ๆ หลาย ๆ อย่างที่บีบรัดบีบคั้น กดดันชีวิตคนไทย ในช่วงหลัง ๆ มานี้ยังมีอีกกรณีที่ก็ “ต้องระวัง” โดยหลัง ๆ พบว่ามีคนไทยมีปัญหานี้กันเพิ่มมากขึ้น “หลังจากผ่านพ้นช่วงวันหยุดยาว” ซึ่งในทาง “จิตวิทยา” นั้นได้มีการระบุถึงปัญหานี้ หรือลักษณะอาการนี้ ว่า… เป็นภาวะที่มีชื่อเรียกว่า… “ภาวะหดหู่หลังหยุดยาว”…

พบภาวะนี้มากขึ้น และ “เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย”

ที่สำคัญภาวะดังกล่าวนี้อาจ “นำสู่การเสียชีวิตได้!!”

ทั้งนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำเสนอย้ำไว้อีกครั้งว่าภาวะ “หดหู่” ในกรณีดังกล่าวนี้เป็น “ลักษณะอาการรูปแบบหนึ่ง” ที่ในไทยหลัง ๆ มักถูกนำมากล่าวถึงอยู่บ่อย ๆ ช่วง “หลังหยุดยาว” เช่น หลังช่วงเทศกาลปีใหม่ หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่องนานหลายวัน จากการที่พบมากขึ้นว่ามีคนไทย “เกิดภาวะผิดปกติทางอารมณ์ จนส่งผลกระทบกับภาวะทางกาย!!” ซึ่งในทางการแพทย์-ในทางจิตวิทยา ระบุถึงลักษณะอาการผิดปกติดังกล่าวว่า… “Post-holiday blues” …

ในภาษาไทยเรียกว่า “ภาวะหดหู่หลังวันหยุดยาว”

หรือที่บางคนก็เรียกขานภาวะนี้ว่า… “โรคขี้เกียจ!!”

“ภาวะหดหู่หลังวันหยุดยาว” ที่ว่านี้ กับคนไทยนั้น ทาง กรมสุขภาพจิต ก็ยังเคยระบุ “เตือนให้คนไทยระวังอย่าให้ตกอยู่ในภาวะนี้!!” เพราะแม้ว่าภาวะดังกล่าวนี้จะหายไปได้เองเมื่อเวลาผ่านไป แต่อย่างไรก็ตาม ก็พบว่ามีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถขจัดภาวะนี้ไปได้แม้วันหยุดยาวจะผ่านไปนานแล้ว จน เกิดผลกระทบกับการใช้ชีวิต การทำงาน และอาจนำไปสู่อาการ “ป่วยซึมเศร้า” ได้!! …ซึ่งทางหน่วยงานรัฐที่เตือนเรื่องนี้ก็ได้ให้ “คำแนะนำแนวทางป้องกัน” ภาวะนี้ไว้ด้วย…

เพราะอาจ “นำสู่การเสียชีวิตได้!!” ถ้าเกิดภาวะนี้…

การ “ป้องกันป่วยด้วยภาวะนี้” จึง “ต้องย้ำเตือน!!”     

กล่าวสำหรับ “คำแนะนำ” นั้น เริ่มจาก… สำรวจอารมณ์ตัวเอง หลังผ่านช่วงวันหยุดยาว ว่ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นหรือไม่?? คือ… นอนไม่หลับติดต่อกัน, เหนื่อยล้าหรือเบื่อหน่ายมากกว่าปกติ, รู้สึกวิตกกังวลหรือเครียดแบบไม่มีสาเหตุ ซึ่งถ้าพบว่าเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น ควรต้องเร่งฟื้นฟูจิตใจและร่างกายให้กลับมาสดชื่นให้เร็วที่สุด โดยไม่ปล่อยไว้เรื้อรัง

ในส่วนของ “แนวทางป้องกัน” หรือ “วิธีดูแลจิตใจตนเองเพื่อไม่ให้เกิดภาวะหดหู่หลังกลับมาจากช่วงหยุดยาว” มีดังต่อไปนี้คือ… วางแผนชีวิตไว้ล่วงหน้า เพื่อลดความสับสนและความกังวลใจถึงภารกิจที่ต้องทำ หลังจากผ่านวันหยุดยาว, พูดคุยเกี่ยวกับความสุขในช่วงวันหยุด กับคนรอบข้าง, ไม่เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น เพราะแต่ละคนก็จะมีกิจกรรมและความชอบที่ต่างกัน, พยายามมองหาความตื่นเต้น เพื่อช่วยให้ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายกับการที่ต้องกลับมาทำงาน หรือต้องกลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนกับชีวิตก่อนที่จะได้หยุดยาว, ทำให้ชีวิตมีเป้าหมาย เช่นโดยการบันทึกสิ่งที่อยากจะเปลี่ยนแปลง…

นี่เป็น “ทริคที่ควรใส่ใจ” หลังจากผ่านพ้นวันหยุด

โดยเฉพาะ “หลังหยุดยาว” เพื่อ “สกัดภาวะหดหู่”

ทั้งนี้ เพิ่มเติมในกรณีที่บางคนอาจมีปัญหาทางกายหรือเกิด “ภาวะอ่อนล้าอิดโรย (Fatique)” นอกเหนือจากปัญหาทางจิตใจ-ปัญหาทางอารมณ์ “หลังผ่านพ้นช่วงวันหยุดยาว” ซึ่งกรณีนี้ “ก็ต้องใส่ใจเช่นกัน” โดยถ้าเป็นอาการเหนื่อยล้าจากการที่ต้องขับรถนาน ๆ หรือต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางที่ยาวนานกว่าปกติ อาการดังกล่าวนี้โดยปกติเมื่อเวลาผ่านไปก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น หรือร่างกายค่อย ๆ ฟื้นฟูกลับมาซึ่งอาการเหนื่อยล้าจากการเดินทางนั้นถ้าพักแล้วหายเหนื่อยล้าก็ถือเป็นภาวะปกติ…

แต่กระนั้น…ก็ “ต้องระวังเท่าทันภาวะที่ไม่ปกติ!!”

ที่ “ไม่ปกติ” ก็คือ… ในกรณีที่ถ้าผ่านพ้นช่วงวันหยุดยาวมานานหลายวันแล้ว แต่อาการเหนื่อยล้าที่รู้สึกนั้นก็ยังไม่ดีขึ้น-ยังไม่รู้สึกหายเหนื่อย ถ้าแบบนี้ต้องระวัง!! เนื่องจากถ้าเกิดภาวะเหนื่อยล้าเช่นนี้เป็นระยะเวลาติดต่อกันนาน ๆ นอกจากปัญหาทางกายแล้วยังอาจส่งผลทำให้เกิด “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” จนอาจทำให้ “ไม่มีแรงกระตุ้นในชีวิต” ซึ่งก็อาจ “นำไปสู่ภาวะป่วยต่าง ๆ” ตามมาได้ ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ อาจจะ ’”เป็นปัญหาชีวิตได้” ในที่สุด…อัน “สืบเนื่องจากหยุดยาว” …

เตือนย้ำ” กันไว้…ยืนยันมิได้อิจฉาคนได้หยุดยาว…

“หยุดยาว ๆ โดยไม่ระวัง” บางที “ปัญหาเกิดได้” …

ปะเหมาะเคราะห์ร้าย…อาจ “ถึงชีวิตได้เลยนะ!!” .