แน่นอนว่าเวลามีปัญหา หรือเกิดเรื่องที่ทำให้ตกอยู่ในสภาวะถูกเอารัดเอาเปรียบ สิ่งแรกที่ทุกคนต่างต้องดิ้นรนเอามาให้ได้นั่นก็คือความยุติธรรม ที่ควรได้รับไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ทั้งการเจรจา พึ่งพาตำรวจ หาทนายความ หรือขึ้นศาลเพื่อเป็นตัวเชื่อมให้เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมีความยุติธรรมที่สุดต่อทุกฝ่าย แล้วรู้หรือไม่ว่าบนโลกที่เราอยู่มีวันยุติธรรมด้วย ซึ่งวันนี้มักมีชื่อเรียกมากมาย ทั้งวันโลกเพื่อความยุติธรรมระหว่างประเทศ,วันความยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ หรือวันความยุติธรรมสากล 

วันนี้เดลินิวส์ ออนไลน์ จะพาไปรู้จักกับวันโลกแห่งความยุติธรรมนานาชาติ ที่ตรงกับวันที่ 17 กรกฎาคม ของทุกปีเพื่อรำลึกถึงวันที่ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute) ได้รับความเห็นชอบจากรัฐต่าง ๆ ณ การประชุมทางการทูตที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นความพยายามที่จะมุ่งยอมรับระบบความยุติธรรมระหว่างประเทศ นำความยุติธรรมมาสู่เหยื่อของอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ 

ภาพโดย Edward Lich จาก Pixabay 

ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา โลกได้เห็นขอบเขตใหม่ พรมแดนใหม่ และความท้าทายใหม่ พันธมิตรถูกสร้างขึ้นและแตกสลาย เกิดสงครามขึ้น ผู้คนไม่สามารถนึกถึงภาพของความยุติธรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ผู้ชาย ผู้หญิง หรือเด็ก โลกจึงรู้สึกถึงความต้องการความยุติธรรมระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดการพิจารณาคดีใน Nuremberg ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นก้าวสำคัญในการจัดตั้งศาลระหว่างประเทศ มีการพิจารณาคดีเป็นชุด 13 ครั้งในเมือง Nuremberg ประเทศเยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อนำอาชญากรสงครามของนาซีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จำเลย รวมทั้งเจ้าหน้าที่พรรคนาซีและนายทหารระดับสูง นักอุตสาหกรรม ทนายความ และแพทย์ชาวเยอรมัน ถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมต่อสันติภาพและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ครั้งแรกที่ทุกคนถูกดำเนินคดีในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การพิจารณาคดีใน Nuremberg ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในขณะนั้น 

การพิจารณาคดีครั้งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในช่วงเวลาเดียวกันที่รู้จักในชื่อ Tokyo Trial หรือ Tokyo War Crimes Tribunal เป็นทางการในชื่อศาลทหารระหว่างประเทศสำหรับตะวันออกไกล ได้พยายามตัดสินลงโทษผู้นำของจักรวรรดิญี่ปุ่นสำหรับการสมรู้ร่วมคิด อาชญากรรมสงครามทั่วไป และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ต่อมาได้มีการเสนอสนธิสัญญาเพื่อดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมร้ายแรงในระดับสากล ก่อนการประชุมทางการทูตในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 1998 ต่อหน้าสหประชาชาติ สนธิสัญญานี้นำมาใช้เป็นธรรมนูญแห่งกรุงโรมโดย 120 รัฐ นำไปสู่การก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในปี 2002 โดย ICC เป็นศาลที่สามารถตรวจสอบและดำเนินคดีกับบุคคลที่ต้องสงสัยในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมการรุกรานในสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ระดับชาติไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะกระทำการอย่างแท้จริง

ภาพโดย succo จาก Pixabay

อย่างไรก็ตาม ICC ก็ไม่อาจแทนที่ศาลในประเทศได้ แต่ในการประชุมทบทวนธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute) ซึ่งจัดขึ้นที่Kampala (Uganda) เมื่อปี 2010 สมัชชารัฐภาคีได้ตัดสินใจที่จะเฉลิมฉลองวันที่พวกเขารับเอาสนธิสัญญา 17 มิถุนายนเป็นวันโลกเพื่อความยุติธรรมระหว่างประเทศ

การได้เฉลิมฉลองวันนี้เป็นเรื่องที่ดี หากย้อนเวลากลับไปมองดูประวัติศาสตร์ช่างโหดร้าย ผู้คนที่เป็นเหยื่อของสงครามความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเทียบไม่ได้กับความสูญเสียทั้งหมด วันนี้นอกจากจะเฉลิมฉลองความสำเร็จที่สนธิสัญญานั้นออกมาแล้ว เราควรปลูกฝังคนรุ่นหลังในการแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้กำลังหรือความรุนแรง ต้องมีวิธีจัดการที่อยู่ในรูปแบบความยุติธรรม และไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงดังเช่นอดีตที่ผ่านมา…

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Wikipedia | ICC