“ธุรกิจร้านซูชิ” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีหลายคนให้ความสนใจ แต่การจะทำให้ประสบความสำเร็จนั้น ผู้ประกอบการที่จะทำธุรกิจนี้ก็จำเป็นที่จะต้องมีความรู้และมีความความเข้าใจในธุรกิจดังกล่าว ซึ่งวันนี้คอลัมน์นี้มีข้อมูลมาให้พิจารณากัน

เริ่มจาก ณัฎฐินี ปลอดทอง ผู้บริหารของแม็คโคร โฮเรก้า อคาเดมี ฉายภาพว่า องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นมีการเปิดเผยข้อมูลว่า แม้ประเทศไทยในปี 2564 จะมีวิกฤติโควิด-19 แต่กลับมีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 6.7% โดย ร้านซูชิเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด สะท้อนว่าธุรกิจนี้ยังมีศักยภาพเติบโตได้อีก อย่างไรก็ตาม แต่การทำร้านซูชินั้น ผู้ประกอบการก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจ ตั้งแต่เรื่องระบบร้านซูชิ การเลือกใช้วัตถุดิบกับอุปกรณ์ รวมถึงการตลาด ซึ่งถ้าไม่แน่ใจว่ามีความรู้เพียงพอหรือไม่ ควรศึกษาข้อมูลจากมืออาชีพให้มากที่สุด  

ส่วน 2 กูรูด้านอาหาร อย่าง  สมศักดิ์ รารองคำ นายกสมาคมเชฟแห่งประเทศไทย และ บุญศรี สุวรรณภาพ เชฟอาหารญี่ปุ่น กล่าวแนะนำเสริมในเรื่องนี้ว่า ธุรกิจอาหารเป็นอีกธุรกิจที่เติบโตสวนทางธุรกิจอื่น ๆ ในยุคโควิด-19 เนื่องจากมีพนักงานของร้านอาหาร ภัตตาคาร และโรงแรมลาออกมาเปิดร้านอาหารของตนเองเป็นจำนวนไม่น้อย โดยร้านซูชิเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความนิยม เพราะมีจุดเด่นอยู่ที่ใช้เงินลงทุนไม่สูง กำไรดี โดยความน่าสนใจของธุรกิจร้านซูชิที่สามารถนำไปใช้เป็นตัวเลือก หรือใช้เป็นกลยุทธ์ให้กับธุรกิจร้านอาหารได้นั้น เรื่องนี้ วารี โพธิ์ปลัด เจ้าของร้าน 44 Food and Drink ที่เข้าร่วมอบรมกับทางแม็คโคร โฮเรก้า อคาเดมี ได้สะท้อนว่า เริ่มทำร้านอาหารในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีโควิดระบาดพอดี ทำให้จำนวนลูกค้าลดลง แต่ก็พยายามปรับตัว โดยก่อนหน้าเคยขายอาหารผ่านดิลิเวอรี่ แต่ต้นทุนค่าบริการสูงจึงไม่คุ้มทุน ทำให้สนใจเมนูซูชิเพราะเป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากพลิกแพลงได้หลากหลายและลงทุนไม่สูง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายนี้ย้ำว่า สิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการยุคนี้ก็คือ ต้องปรับตัว-ต้องพัฒนาเสมอ เพราะตลาดเปลี่ยนไวมาก ซึ่งถ้ามีความรู้มาก ๆ ก็จะช่วยให้มั่นใจมากยิ่งขึ้น ดังนั้นถ้าไม่มั่นใจก็ควรเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากมืออาชีพให้มากที่สุด นี่เป็นคำแนะนำที่เอสเอ็มอีอื่น ๆ นำไปปรับใช้ได้.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]